วันที่ 7 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับจดหมายของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
แจ้งต่อนางมาเรีย ลุยซา ริเบโร ไวอ็อตติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยจดหมายมีเนื้อหาชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงจุดยืนของฝ่ายไทยต่อเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหาร อธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เวลาราว 15.20 น. ทหารฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากโจมตีค่ายทหารของกองทัพไทย ตั้งอยู่ที่ภูมะเขือ
ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของไทย ด้วยอาวุธหนัก อาทิ ปืนครก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.) ปืนใหญ่พิสัยไกล รวมทั้งเครื่องยิงขีปนาวุธแบบหลายลำกล้อง (เอ็มแอลอาร์เอส) กระทั่งต่อมา เวลา 16.20 น. วันเดียวกัน ทหารฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากโจมตีจากที่มั่นบริเวณปราสาทพระวิหารมายังค่ายทหารของกองทัพไทย บริเวณผามออีแดง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของไทย นอกจากนี้ ยังมีกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงมาตกที่บ้านภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเขตชายแดนไทย-กัมพูชาราว 5 กิโลเมตร โดยการปะทะกันยุติลงเมื่อเวลาราว 18.00 น.
ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ก.พ. เวลาราว 06.15 น. ทหารฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากโจมตีด้วยอาวุธหลายชนิด อาทิ ปืนเอเค-47 หรืออาก้า ปืนครก เครื่องยิงลูกระเบิดและเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี โดยมีเป้าหมายเป็นค่ายทหารของกองทัพไทยบริเวณภูมะเขือ กระทั่งเวลาราว 07.45 น. การปะทะจึงยุติ
โดยจดหมาย ระบุว่า การโจมตีของกัมพูชานั้นกระทำอย่างปราศจากการแยกแยะ ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ทหารไทย 1 นาย
รวมทั้งมีทหารฝ่ายไทยบาดเจ็บอีก 13 นาย สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สินของพลเรือน ประชาชนกว่า 6,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนต้องถูกอพยพ การโจมตีดัวกล่าวของฝ่ายกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดกฎบัตรนานาชาติ แม้ทางการไทยจะใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติการตอบโต้ตามสิทธิในการป้องกันตนเอง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่ 51 ตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ โดยการปฏิบัติการป้องกันตนเองข้างต้นทำไปด้วยความจำเป็น มุ่งการโจมตีไปยังเป้าหมายด้านการทหารเท่านั้น กล่าวคือ ตำแหน่งที่กัมพูชาเปิดฉากโจมตีเข้ามา
เปิดจดหมายกษิตแจงยูเอ็นปะทะกัมพูชา
ด้านจุดยืนของฝ่ายไทย ในจดหมายระบุว่า ทางการไทยขอประท้วงอย่างรุนแรงที่สุดต่อการโจมตีของกัมพูชามายังฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งๆที่ปราศจากการยั่วยุใดๆ ซึ่งเข้าข่ายการรุกราน การละเมิดอธิปไตยและการละเมิดดุลยภาพของพื้นที่ในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ทางการไทยนั้นปฏิบัติตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติและกฎหมายสากลอย่างเคร่งครัดทั้งในแง่เจตนารมย์และพื้นฐานแห่งข้อบังคับ รวมทั้งยอมรับคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปี 2505 โดยทางการไทยยังคงแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชาผ่านกระบวนการสันติวิธี อันสอดคล้องกับเจตนารมย์แห่งคณะผู้นำของทั้งสองชาติ
นอกจากนี้ ในจดหมายระบุต่ออีกว่า ทางการไทยยังคงมีความตั้งใจดีและพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับกัมพูชาผ่านกระบวนการทวิภาคีต่างๆ
อาทิ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) คณะกรรมการประสานงานชายแดนระดับภูมิภาค (อาร์บีซี) และคณะกรรมาธิการร่วมความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) เพื่อบรรลุการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนไทยและกัมพูชา
โดยทั้งไทยและกัมพูชาต่างเห็นพ้องกันให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) ครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด
ซึ่งตกลงกันไว้ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 7 เมื่อ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยทางการไทยกำลังอยู่ระหว่างหารือวันเวลาที่เหมาะสมของประชุมดังกล่าวกับทางการกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ทั้งสองชาติได้เปิดช่องทางติดต่อกันระหว่างทั้งสองชาติในทุกระดับชั้น และประสานกันอย่างใกล้ชิด
นายกษิตกล่าวเรียกร้องในตอนท้ายของจดหมายว่า ต้องการให้จดหมายนี้ถูกเวียนไปถึงสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกชาติด้วย