ส่วนการตรวจสอบการทุจริตในโครงการของรัฐนั้น วันเดียวกัน เมื่อเวลา 12.00 น. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่าอนุกรรมการฯ ยังไม่สามารถสรุปเข้าสู่ที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ได้ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้เพราะกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปมีหลายแขนง โดยจะมีการสรุปเป็นรายแขนงกว่า 3-4 แขนง ส่วนการซื้อหุ้นชินคอร์ปจาก บริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนท์ ได้มีการตกลงในหลักการร่วมกัน ว่าจะมีการเก็บภาษีย้อนหลังก่อน แล้วค่อยมาดูรายละเอียดการคำนวณภาษีอีกครั้ง เพราะมีเป็นจำนวนมาก เมื่อถามว่าการดำเนินกรณีการซื้อหุ้นชินคอร์ป จะสอบสวนแนวทางเดียวกับกรณีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ หรือไม่ นายวิโรจน์ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะหากดำเนินการแบบเดียวกันมันก็ง่ายเหมือนกันหมด เพราะเขาวางแผนตัดตอนซับซ้อน เรื่องนี้มีหลายแขนง เหมือนหนวดปลาหมึก
สอบถี่ยิบ 4 ปมใหญ่ซื้อขายหุ้นชินฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสรุปผลสอบสวนคดีเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป อนุกรรมการตรวจสอบจะมีการสรุปเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. กรณีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซื้อหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จาก น.ส.ดวงตา วงษ์ภักดี คนรับใช้ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวน 738 ล้านบาท ซึ่ง คตส. ได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินคดีทางอาญากับนายบรรณพจน์กับพวกอีก 5 คนไปก่อนหน้านี้แล้ว 2. กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในปี 2543 ที่มีการทำธุรกรรมด้วยกันทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปให้นายพานทองแท้ 73,395,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 150 บาท ทำให้นายพานทองแท้ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่าง ราคาหุ้นเป็นเงิน 10,275 ล้านบาท ถ้าต้องจ่ายภาษีคิดเป็นเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท ครั้งที่ 2 คุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปให้นายบรรณพจน์ จำนวน 26,825,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาททำให้นายบรรณพจน์ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่าง ราคาหุ้นเป็นเงิน 3,755 ล้านบาท ถ้าต้องจ่ายภาษีคิดเป็นเงินประมาณ 1,389 ล้านบาท และครั้งที่ 3 คือ พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว 2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้นางยิ่งลักษณ์ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นเป็นเงิน 280 ล้านบาท 3. กรณีการซื้อหายหุ้นชินคอร์ประหว่างนายพานทองแท้ ชินวัตร กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เมื่อปี 2545 จำนวน 376 ล้าน หุ้น และ 4. กรณีนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ซื้อหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริช เมื่อต้นปี 2548 โดยเลี่ยงภาษี 15,802 ล้านบาท
นาม ท้าชนสรรพากรเจอกันที่ศาล
จากกรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ระหว่างบริษัทแอมเพิลริชกับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร จำนวน 326 ล้านหุ้น ในราคา 1 บาท โดยทางกรมสรรพากรยืนยันว่าเข้าข่ายต้องจัดเก็บภาษีตามมาตรา 40 (8) แต่ทางอนุฯตรวจสอบฯของ คตส. ที่มีนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ที่เป็นประธานฯ มีความเห็นว่าจะต้องใช้มาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จัดเก็บภาษี เนื่องจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เป็นกรรมการบริษัทแอมเพิลริชนั้น ในเรื่องนี้ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. กล่าวว่า ในหลักการ ถ้า คตส.เห็นอย่างไร แล้วเสนอให้กรมสรรพากรดำเนินการ กรมสรรพากรจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ คตส.เสนอไป ถ้าไม่ทำตาม หรือมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างในการเก็บภาษี ก็ต้องให้ศาลสั่ง โดย คตส.จะส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้องศาลเพื่อสั่งบังคับคดี โดยต้องมีการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และมีการบังคับคดี ซึ่งกระบวนการของศาลยอมรับว่าจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะศาลจะให้ทั้งโจทก์และจำเลยมาให้ปากคำ