ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศถึงสถานการณ์ในประเทศและกรณีพิพาทกับกัมพูชา โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายกฯไทยที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์นองเลือดจากการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงมาได้ยังไม่ถึง 1 ปี ได้เรียกร้องให้ผู้นำชาติต่างๆ ที่เผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศให้อดทนอดกลั้น ไม่ใช้กำลังรุนแรง และเคารพต่อความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ การให้ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในประเทศอียิปต์ ที่กลุ่มผู้ประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก มานานถึง 30 ปี
"เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงแสดงสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างสันติ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังรุนแรงใดๆ แต่น่าเสียดายที่การชุมนุมเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีที่ผ่านมา (ในไทย) มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการใช้ระเบิด การบุกรุกโรงพยาบาล เป็นต้น เราก็ต้องมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ สิ่งสำคัญสำหรับเราคือจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันเราก็ต้องอดกลั้นให้มากที่สุด และพยายามจัดการกับความเดือดร้อนของประชาชนบนท้องถนนที่มีอยู่ตามกฎหมาย ผมหวังว่าหลายประเทศจะสามารถทำเช่นเดียวกันนี้ได้" นายกฯกล่าว
เมื่อถูกถามว่าจะให้คำแนะนำกับประธานาธิบดีมูบารักอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "เขาควรเคารพหลักธรรมาภิบาล เคารพในความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองด้วย"
ขณะที่การให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น
นายกฯกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะเรียกร้อง แต่ตนจะทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ การที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคีอาเซียน การแก้ปัญหาใดๆ จะต้องเป็นไปอย่างสันติในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
"พวกเขาสามารถเรียกร้องได้ เราก็ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประเทศ เราคิดว่าแนวทางในการแก้ปัญหาเขตแดนที่ดำเนินการอยู่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เราพยายามที่จะแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใดก็ตามด้วยแนวทางสันติ" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ทั้งนี้เราต่างสงวนรักษาความสัมพันธ์อันดี ขณะเดียวกันเราต้องแน่ใจว่าเราปกป้องผลประโยชน์ของไทย ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้คืออธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าเราคิดว่านี่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด และตนเชื่อมั่นว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็สนับสนุน