เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ธันวาคม ที่ศาลภาษีอากรกลาง ถนนรัชดาภิเษก
ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพกร ที่มีคำสั่งเรียกเก็บเงินภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน จากนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเงินคนละ 5,677,136,572.88 บาท และ 5,676,860,088 บาท ตามลำดับ ในคดีที่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา มอบอำนาจให้ น.ส.กาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรมสรรพากร นายสุทธิชัย สังขมณี นายศิริศักดิ์ พันธ์พยัคฆ์ และนายณัฎฐภพ อนันตรสุชาติ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นจำเลยที่ 1-4 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ อม.1/2553
ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลเดิม) ผู้คัดค้านที่ 1 นายพานทองแท้ ผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวพินทองทา ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 กับพวกรวม 22 คน โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวว่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้นที่พิพาทในคดีดังกล่าว (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่พิพาทในคดีนี้) ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน โดยให้นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เป็นผู้ถือหุ้นแทนในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โอนหุ้น 32,900,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ จำกัด (แอมเพิลริช) ถือแทนโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงอยู่
ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยไว้ว่าหุ้นที่พิพาทยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน
จึงมีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทามิใช่บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่พิพาท เงินได้ที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท