จุฬาฯ ยื่นข้อเสนอปฏิรูปสื่อ จี้เร่งมี กสทช.สร้างความรู้เท่าทันสื่อ ตั้งองค์กรกลางรับเรื่องร้องเรียน ด้าน “มาร์ค” ยาหอมรับลูกทุกอย่าง แนะคณะกรรมการปฏิรูปทุกชุดที่ตั้ง ต้องมีผลงาน
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลงานการวิจัยเรื่อง การจัดแผนดำเนินการปฏิรูปสื่อ
โดย รศ.ดร.ยุบล กล่าวว่า จากการสำรวจในกลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้ผลิตสื่อ องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชนที่เฝ้ากำกับดูแลสื่อ นักวิชาการและผู้บริโภคสื่อ ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ อาทิ
1.ทุกกลุ่มคาดหวังเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการทำงาน แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้พ.ร.บ. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งควรจำทำให้เข้าถึงข่าวสารง่ายกว่านี้
2.ขอให้มีการเร่งรัดผ่าน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้มีการเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งการที่ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องรอคอยเหนื่อยหน่ายในการคาดหมายว่าจะเจอปัญหาต่างๆอีกในอนาคต
3.ทุกกลุ่มคาดหวังให้ภาครัฐสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญมากในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ จะต้องมีกองทุนการวิจัยการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคม เพื่อการสาธารณะ ซึ่งสามารถนำเงินตรงนี้มาใช้ได้
รศ.ดร.ยุบล กล่าวต่อว่า ประเด็นอยู่ที่ประชาชนมีความกังวลมากคือเรื่องการถูกสื่อละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งเรามองว่าควรมีหน่วยงานกลาง เป็นหน่วยงานเดียวที่รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งมาจากการร่วมมือขององค์กรวิชาชีพสื่อหลายกลุ่ม และมีองค์กรภาคอื่นเข้ามาช่วย ทั้งนักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ และนักกฎหมาย ที่สำคัญคือ ผู้ที่เป็นคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต้องปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ประสงค์ที่จะแทรกแซงเสรีภาพสื่อ และไม่มีเจตนาเพิ่มอำนาจของตนเอง เพื่อกำกับสื่อ แต่เราได้รับเสียงสะท้อนปัญหาการทำงานของสื่อมาก็ต้องเร่งแก้ไข แต่ขอย้ำว่า ให้สื่อกำกับและดูแลกันเอง ซึ่งข้อเสนอแนะหลัก ๆ ของตนคือ
1.ยืนยันว่าในเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.กสทช.นั้น ในขณะนี้จะเร่งรัดดำเนินการ เพื่อมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง 3 จี ซึ่งศาลปกครองตีความให้ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นจึงเร่งรัดให้เกิด กสทช. โดยเร็ว
2.กฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อได้ร่างเสร็จแล้ว แต่มีบางคนขอกลับไปทำประชาพิจารณ์ก่อน ดังนั้นจึงเตรียมผลักดันกฎหมายดังกล่าวนี้เข้าสู่วาระการประชุมสภาในสมัยที่จะถึงนี้
3.เรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ในฐานะที่เคยเป็นฝ่ายค้าน พบว่าการขอข้อมูลทำ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ดำเนินการได้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นอะไรที่เป็นกฎของสังคมกำหนด ไม่ควรเข้าถึงยาก และ4.ในเรื่องการกำกับดูแลกันเอง เมื่อสื่อตรวจสอบรัฐบาล เป็นไปได้หรือไม่ว่าสื่อจะตกลงว่าจะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบการควบคุมกันเอง ซึ่งไม่ใช่การแทรกแซงสื่อ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับสภาพบังคับ กรณีสื่อถูกร้องเรียนว่ากระทำผิด เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะดำเนินการตามแรงกดดันของสังคมให้แสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องถึงการใช้กฎหมายโยงมาที่รัฐ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการปฏิรูปปรองดองนั้น ตนย้ำว่าต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนก่อนสิ้นปี ซึ่งถูกสบประมาทว่าไม่ได้ตั้งใจทำจริง หรือกว่าจะถึงสิ้นปีคนก็ลืมกันไปเอง ตนยืนยันว่าดูงานปฎิรูปทุกด้าน อะไรปฏิบัติได้ทันทีก็ดำเนินการเลย อะไรยังทำไม่ได้ก็ต้องมีแผนการปฏิบัติงานว่าทำเมื่อไหร่ ซึ่งกำลังรอผลจากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น ชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน ชุดของ นพ.ประเวศ วสี ชุดของนายคณิต ณ นคร ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่สูญเปล่า.