แกะรอย ´ต้มยำกุ้ง´ พัวพันป่วนใต้

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกะรอย "ต้มยำกุ้ง"

ชมรมร้านอาหารของชาวชายแดนใต้ในมาเลเซีย เผยมีสมาชิกราว 50,000 คน ทุกคนต้องจ่าย 100 ริงกิต/เดือน แฉเบื้องหลังเกี่ยวโยงการอำนวยความสะดวกในการทำมาหากินในแดนเสือเหลือง-การเมืองที่จะเป็นฐานกำลังสำคัญในการเลือกตั้งทั้งในไทย-มาเลย์ เปิดสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ "กลุ่มวาดะห์" ขณะที่กลุ่มชาวมุสลิมใน 5 จชต.ที่ขายต้มยำกุ้งเช็คข่าววุ่น ผวาถูกขึ้นบัญชีดำ หน่วยข่าวเผยกลุ่ม BRN เตรียมป่วน 3 จชต.ห้วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค.นี้โดยรับเงินกว่า 50 ล้านบาทจากเครือข่ายในมาเลย์


หลังจากที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ามีร้านอาหารไทยชื่อ "ต้มยำกุ้ง"ในประเทศมาเลเชีย เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่เพียงทำให้กลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เปิดร้านขายอาหาร "ต้มยำกุ้ง" อยู่ในมาเลเซียต่างต้องตกใจกลัว และมีการตรวจสอบข่าวที่เกิดขึ้นมายังญาติพี่น้องรวมถึงคนที่รู้จักกันครั้งใหญ่ในฝั่งไทย เพราะกลัวว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านชิดใกล้อย่างประเทศมาเลเซียด้วย


สำหรับ "ต้มยำกุ้ง" อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยได้กลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว อย่างเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในยุคที่ฟองสบู่แตกช่วงปี 2540 อาหารไทยชนิดนี้ก็ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบที่ส่งผ่านจากไทยไปสู้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และคนไทยที่ไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศก็มักจะหยิบยกอาหารไทยชนิดนี้เป็นเมนูหลัก หรือถึงขั้นนำไปตั้งเป็นชื่อร้านอาหารเลยก็มี


ในส่วนของต้มยำกุ้งที่ พล.อ.สุรยุทธ กล่าวถึงนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า หมายถึงร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ไปเปิดให้บริการทั้งขนาดเล็กและใหญ่อยู่ในพื้นที่แถบรัฐตอนเหนือ รวมถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียด้วย




**พบต้มยำกุ้งพัวพันกลุ่มป่วนใต้

คนในชายแดนใต้ของไทยแห่ไปเปิดร้านขายอาหารในมาเลเซียมาเนิ่นนานแล้ว และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมขึ้นมา และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกต้องจ่ายเงินค่าบำรุงให้กับชมรมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยจ่ายให้กับกลุ่มคนในมาเลเซีย เช่น กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การค้าขายไม่ติดขัด รวมถึงให้สามารถทำงานเป็นลูกจ้างในมาเลเซียได้แบบไร้อุปสรรค

นอกจากนี้ คณะกรรมการในชมรมต้มยำกุ้งจะเป็นธุระในการทำให้คนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นคนสองสัญชาติได้ด้วย ซึ่งสามารถเนรมิตบัตรประชาชนของประเทศมาเลเซีย ให้มาอยู่ในมือได้อย่างไม่ยากเย็น โดยคิดค่าใช้จ่ายต่างหากที่ไม่เกี่ยวกับค่าการเป็นสมาชิก หรือค่าบำรุงชนรมที่ทุกคนต้องจ่าย 100 ริงกิต/เดือน

สิ่งเหล่านี้เองที่ได้ชักนำให้ชมรมร้านอาหารไทย หรือชมรมต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ได้ถูกชักนำให้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะขบวนการต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งเป็นขบวนการที่จะมีหรือไม่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่ก็ตาม

ในการก่อตั้งครั้งแรกผู้ที่เป็นกรรมการชมรมส่วนใหญ่อยู่ในขบวนการพูโลเก่า หรือไม่ก็พูโลใหม่ รวมถึงขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ด้วย ซึ่งเป็น ขจก.ที่ยุติการก่อการร้ายไปแล้วในเวลานี้ และได้หลบหนีไปอยู่ในมาเลเซีย เพราะมีหมายจับของไทย ซึ่งมักจะหาเลี้ยงชีพกันด้วยการทำธุรกิจร้านอาหารไทย และปรากฏการณ์นี้ก็สืบเนื่องต่อมาจากเดี๋ยวนี้


**สัมพันธ์การเมืองสองสัญชาติ

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ชมรมต้มยำกุ้งของชาวชายแดนใต้ของไทยได้รับการช่วยเหลือจากคนของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียด้วย เพราะคนเหล่านี้ถือเป็นฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคอัมโน ที่เป็นพรรครัฐบาลมาตลอด และเมื่อมีการเลือกตั้งในไทยคนเหล่านี้ก็จะกลับมาลงคะแนนให้กับพรรคความหวังใหม่ เนื่องจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนชมรมต้นยำกุ้ง

ว่ากันว่าช่วงที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้สานสัมพันธ์อันแนบแน่นกับชาวชายแดนใต้ที่ไปเปิดร้านอาหารไทยในมาเลเซียก็ช่วงที่ผันตัวเองขึ้นไปเป็นแกนนำหลักของกลุ่มเอกภาพ หรือกลุ่มวาดะห์ และสามารถก้าวขึ้นนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งที่ได้เป็นรัฐมนตรีและผู้นำในรัฐสภาในสมัยสังกัดพรรคความหวังใหม่ และต่อเนื่องมาถึงพรรคไทยรักไทย โดยหลายครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปมาเลเซียก็จะมีการนัดแกนนำชมรมต้มยำกุ้งพูดคุยด้วยเกือบจะทุกครั้ง


เกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวผู้ค่ำหวอดในแวดวงการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้เพิ่มเติมว่า แม้ภาพโดยทั่วไปคนจะเห็นสัมพันธ์ของนายวันมูหะมัดนอร์ กับชมรมต้มยำกุ้งว่าแนบแน่น แต่ความจริงเป็นสัมพันธ์เพียงช่วงไม่นานนัก โดยมีชาวชายแดนใต้กลุ่มหนึ่งเคยไปขอทุนสนับสนุนเพื่อไปตั้งร้านอาหารในมาเลเซีย จากนั้นกลุ่มนี้ก็ขยายเครือข่ายใหญ่โตขึ้น ภายหลังมีนักการเมืองในสังกัดกลุ่มวาดะห์ เข้าไปสานสัมพันธ์ต่อ และแนบแน่นต่อกันมาจนถึงเวลานี้




สำหรับประธานชมรมต้มยำกุ้งคนปัจจุบัน ได้แก่ นายสุเบ ดอฆอ เป็นชาว อ.รามัน จ.ยะลา โดยเปิดร้านต้มยำกุ้งอยู่ที่รัฐเปรัคและที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในประเทศมาเลเซีย สำหรับผู้ที่เป็นเหมือนกระเป๋าเงินของชมรมในเวลานี้ก็คือ นายสุเบง ซึ่งพื้นเพก็เป็นคนจากชายแดนใต้ของไทยเช่นกัน และมีรายงานว่าปัจจุบันชมรมต้มยำกุ้งมีสมาชิกมากถึงประมาณ 50,000 คน

**เชื่อมโยงถึงตะวันออกกลาง

ความจริงแล้วในระยะแรกของการก่อตั้งชมรมร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซียนั้น ยังมีภาพที่มองเห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงได้ถึงประทศมุสลิมในตะวันออกกลางด้วย โดยเฉพาะเมื่อจับตามองไปบนเส้นทางด้านเงินทุนสนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย แม้จะไม่ใช่เส้นสายที่สัมพันธ์กันในทางตรงก็ตาม


เนื่องเพราะในสมัยนั้นการระดมทุนให้กับกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้ผ่านมาจากทางชมรมต้มยำกุ้งแต่เพียงสายเดียว แต่มีการระดมได้จากหลายทาง ซึ่งจากประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางก็ถือเป็นแหล่งสำคัญมากแหล่งหนึ่ง โดยมีแกนหลักในการรวบรวมทุนก็คืนคนไทยที่ไปศึกษาหรืออยู่อาศัยที่นั่น ซึ่งผู้ให้ก็มิใช่จะมีแต่ผู้ศรัทธาต่อขบวนการเสมอไป บางคนให้เพราะจำใจ หรือมีเงื่อนไขบังคับ ซึ่งภาพเหล่านี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับสมาชิกชมรมต้มยำกุ้งนั่นเอง

**แฉรับ 50 ล้านเครือข่ายในมาเลย์

หน่วยข่าวความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ในห้วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีนายสะแปอิง บาซอ เป็นหัวหน้า และมีคนสนิทในแต่ละพื้นที่ ได้เตรียมที่ก่อเหตุความไม่สงบครั้งใหญ่อีกครั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเตรียมก่อเหตุครั้งนี้พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนในการปฏิบัติการร่วม 50 ล้านบาท โดยเงินสนับสนุนดังกล่าวนั้นมาจาก 1.การระดมเงินจากสมาชิกที่ได้สาบานตน (ซูเปาะ) จากพื้นที่ต่างๆ


2.การรับเงินสนับสนุนจากการประกอบธุรกิจร้านค้าในต่างประเทศคือ การเปิดร้านอาหาร และมีการตั้งชมรมต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางกิจการร้านอาหารของมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเก็บเงินค่าบำรุงจากสมาชิก โดยมีการเรียกเก็บเงินร้านละ 30-200 ริงกิต/เดือน/ร้าน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายได้และขนาดของร้านที่เปิด 3.การแสวงประโยชน์จากเงินสนับสนุนของภาครัฐ โดยส่วนใหญ่พบในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และปอเนาะบางแห่ง วิธีการ คือ นำเงินที่ได้จากการอุดหนุนจากภาครัฐบาลส่วนหนึ่ง เช่น เงินสนับสนุนนักเรียนเป็นรายหัว เงินพัฒนาโรงเรียน


และ 4.การแสวงประโยชน์จากการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายท้องถิ่นดึงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งนายก อบต.ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสามารถอนุมัติได้เองโดยไม่ต้องผ่านสภา อบต.หรือที่เรียกว่า "งบเก้าหมื่น"โดยมีวิธีการ คือ การสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่นที่ตามกฎหมาย อบต.ต้องให้เงินสนับสนุนสถาบันการศึกษาหรือกิจกรรมด้านการศึกษาร้อยละ 5 ของงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งสมาชิก อบต.ที่เป็นแนวร่วมสามารถนำเงินดังกล่าวไปให้สถานศึกษาที่มีพฤติการณ์ได้


**เปิดขุมข่ายกลุ่มโจรป่วนใต้

หน่วยข่าวความมั่นคง เปิดเผยด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนายสะแปอิง ที่ได้รับงบสนับสนุนร่วม 50 บาทในการก่อความไม่สงบครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย คือ การปักธงสถาปนารัฐอิสลามใน จ.ยะลา โดยได้ทำการแบ่งเขตให้กับเครือข่ายการปฏิบัติการก่อเหตุทุกรูปแบบ 11 คน แบ่งเป็น อ.ยะหา 4 คน อ.บันนังสตา 1 คน อ.กาบัง 4 คน อ.กรงปินัง 2 คน อ.ธารโต 4 คน และ อ.เบตง 1 คน

ส่วนในพื้นที่ อ.รามันมีการแบ่งเขตปฏิบัติการออกเป็น 2 ฝั่งคือ พื้นที่ฝั่งขวามีชุดปฏิบัติการคอมมานโด 14 คน พื้นที่ฝั่งซ้ายมีกลุ่มบือมัง และกลุ่มโบ๊ะบือโน มีสมาชิกร่วม 20 คน ซึ่งกลุ่มปฏิบัติการทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการแบ่งแยกดินแดน แต่จะแยกกันปฏิบัติการ โดยมีการปิดลับระหว่างกลุ่มในการปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวรั่ว ทั้งนี้กลุ่มที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดคือ กลุ่มบีอาร์เอ็น


ในอดีตที่ผ่านมามีการขัดแย้งระหว่างกลุ่ม จึงมีการแยกตัวออกมาทั้งหมด 4 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีแนวทางการทำงานของตนเองไม่ร่วมมือกัน และมีการแย่งชิงสมาชิกแนวร่วม แม้ว่าสมาชิกจะมีกลุ่มอยู่แล้วก็ตาม ทำให้เกิดการบาดหมางกันระหว่างอุสตาซ ในแต่ละกลุ่ม และล่าสุดหน่วยข่าวพบว่า ทั้งหมดได้มีการเจราจาและได้ผลสรุปคือ การแบ่งเขตรับผิดชอบดังกล่าว


โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นมีนายสะแปอิง บาซอ เป็นหัวหน้า และมีคนสนิทของนายสะแปอิง เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการและสมาชิกที่เหลือล้วนเป็นอุสตาซที่มีการศึกษาชั้น 5 จบ จากปากีสถานและจากวิทยาลัยมาดีนะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย


ส่วนกลุ่มบาริสซัน หรือบาเรซัน (แปลว่าแนวร่วม) สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอุสตาซเช่นกัน คนกลุ่มนี้จบการศึกษาจากประเทศปากีสถาน อียิปต์และซาอุดีอาระเบีย โดยกลุ่มนี้จะมีชาวซาอุดีอาระเบียรวมอยู่ด้วย และอุสตาซกลุ่มนี้ในอดีตเป็นครูสอนศาสนาในระดับชั้น 7-10 และมีการปลูกฝังอุดมการณ์โดยเน้นในกลุ่มเด็กโต กลุ่มนี้ถูกจัดตั้งมานานแล้ว และมีสมาชิกจำนวนมาก สมาชิกส่วนใหญ่จะสวมชุดดาวะห์ กลุ่มบารัสซันมีสาขาอยู่ตามปอเนาะใน จ.ยะลาหลายแห่ง และเหตุการณ์ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่เชื่อว่ากลุ่มบารัสซัน อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้


กลุ่มอาบาดัน หรือ อาบาแด (แปลว่าคงกะพัน) ในกลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่ออกเป็นสาย คือ สายปลุกระดม, สายชักชวน และสายปฏิบัติการ โดยมีอุสตาซโซ๊ะ หรือนายอิสมาแอ ระยะหลง เป็นหัวหน้าปฏิบัติการ โดยมีแกนนำในพื้นที่บ้านลากอ ม.4 อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นผู้ช่วย ส่วนฝ่ายปลุกระดมและฝ่ายชักชวนมีระดับอุสตาซเป็นผู้ดำเนินงาน และมีผู้ช่วยฝ่ายปลุกระดม ซึ่งจบจากประเทศอินโดนีเซีย โดยเน้นเป้าหมายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 13-15 และมีสาขาอยู่ตามปอเนาะในพื้นที่ จ.ยะลาและ จ.ปัตตานี


กลุ่มมูจาฮีดีน ซึ่งกลุ่มนี้ในอดีต มีอุสตาซมะแมเราะ เป็นหัวหน้าแต่หลังจากอุสตาซมะ เสียชีวิตหลังจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วทำให้สมาชิกภายในกลุ่มได้เป็นรวมอยู่กับกลุ่มอื่นๆ และได้ยุบรวมไปแล้ว


ส่วนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ขณะนี้พบว่านายมะแซ อุเซ็ง แกนนำระดับจังหวัดได้รวบร่วมสมาชิกแนวร่วมที่หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศมาเลเซียและแนวร่วมที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านที่ได้รับการจัดตั้งเตรียมแผนปฏิวัติขั้น 7 แล้ว


นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่า นายมะแซ อุเซ็ง มีแผนที่จะทำการยึดหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส เพื่อทำการปักธงเช่นเดียวกับในพื้นที่ จ.ยะลาอีกด้วย และหน่วยข่าวคาดว่าจะลงมีก่อเหตุพร้อมกันกับชุดปฏิบัติการใน จ.ยะลาในห้วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้ และในการปฏิบัติการครั้งนี้อาจรวมไปถึงการฉลองครบรอบที่นายสะแปอิง บาซอ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าบีอาร์เอ็นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2547 ด้วย



ที่มา: น.ส.พ.ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์