สุรยุทธ์รับ สมานฉันท์ยาก

เสวนาสร้างสมานฉันท์แห่งชาติ


วันที่ 22 พ.ย. เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดเวทีสานเสวนา เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกเรื่อง

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวบรรยายเรื่องความสมานฉันท์ของสังคมไทยตอนหนึ่งว่า ยอมรับว่า ขณะนี้กลไกในการสร้างความสมานฉันท์ของสังคมไทย ยังไม่เข้มข้นพอที่จะจัดการกับความเป็นปฏิปักษ์ความแตกแยกของสังคมไทยที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่

ขณะที่นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทกระบวนการยุติธรรมในการสร้างความสมานฉันท์ ว่า ต้องเร่งพัฒนากระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่งหมายถึงตำรวจ อัยการ ศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และทนายความ ให้ปฏิบัติแก่ทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน โดยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่เน้นวิธีรุนแรง เพิ่มการตรวจสอบของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และต้องมีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่มุ่งสร้างความสมานฉันท์ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ชงรัฐบาลเร่งปฏิรูปสื่อของรัฐ


ในช่วงบ่ายได้มีการแยกเสวนากลุ่มย่อยแยกเป็น 1. กลุ่มสร้างความสมานฉันท์ในมิติสังคม การปกครองและความยุติธรรม 2. กลุ่มสร้างเสริมความสมานฉันท์ในภาคใต้ 3. กลุ่มสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง 4. กลุ่มกลไกโครงสร้างและกระบวนการเสริมสร้างความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม โดยกลุ่มสร้างความสมานฉันท์ ทางการเมืองได้เสนอแนะให้รัฐบาลใช้โมเดลการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวตั้ง

การเมืองจะสมานฉันท์ได้ต้องทำให้นักการเมืองมีความเสมอภาคกัน และเปิดเสรีสื่อสารมวลชนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งภาคประชาชนต้องมีอำนาจที่จะตรวจสอบนักการเมืองและควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองได้ รวมทั้งต้องปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นสื่อภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะถ้าโทรทัศน์ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคม การเมือง ก็ไม่มีวันที่คนชนบทจะเข้าใจการเมืองเหมือนอย่างที่คนในเมืองรับทราบได้

สุรยุทธ์ รับการเมืองสมานฉันท์ยาก


ต่อมาในช่วงเย็น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ารับฟังข้อเสนอแนะและปิดการเสวนาดังกล่าว โดย พล.อ.สุรยุทธ์ได้กล่าวปัจฉิมกถาพิเศษเรื่องแนวทางการเสริมสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทยในตอนหนึ่งว่า จะนำข้อเสนอของที่ประชุมเสวนาทั้ง 4 หัวข้อไปปฏิบัติตามลำดับความเร่งด่วน โดยยึดกระแสพระราชดำรัส คิดดี พูดดี ทำดี เป็นหลัก ในส่วนของการสร้างสมานฉันท์ทางการเมืองนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก

ที่จะสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ โดยเฉพาะมีคนเสนอว่า การห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปไม่ได้ จะต้องให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และที่สำคัญต้องให้ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นผู้บริหารพรรคการเมือง นอกเหนือไปจากที่สมาชิกพรรคการเมืองได้คัดเลือก อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้กระบวนการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เป็นไปได้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนสุดท้าย คือการทำประชามติ และตนเห็นด้วยในข้อเสนอที่จะให้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ภาคประชาชน อย่างเอ็นเอชเค บีบีซี และซีเอ็นเอ็น เพื่อเสนอข่าวที่ชัดเจนด้วยมุมมองหลายๆ มุมแก่ประชาชน

เมินข้อท้วงติงบล็อกโหวตสมัชชา


ส่วนความคืบหน้าในการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาตินั้น นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสำนักงานคณะ กรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) เปิดเผยว่า รายชื่อล่าสุดที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆมีจำนวน 1,802 คน ยังขาดอยู่ประมาณ 200 คน ขณะนี้เริ่มตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว และจะส่งให้ที่ประชุม กดส. พิจารณาในวันที่ 25 พ.ย. ถ้ายังได้รายชื่อไม่ครบ 2,000 คนก็จะแจ้งไปยัง ครม.และ คมช.ให้ส่งรายชื่อเพิ่มเติมจนครบ ซึ่งรายชื่อทั้งหมดจะเปิดเผยได้ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กดส. นอกจากนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ ได้ลงนามในประกาศเรื่องการจัดประชุมสมัชชาแห่งชาติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยให้สมาชิก 1 คนสามารถเลือกได้ 3 คนจาก 4 กลุ่ม ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน สังคมและวิชาการ จะเลือกภายในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกข้ามกลุ่มก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปล่อยให้เลือกข้ามกลุ่มเกรงว่าจะมีการบล็อกโหวตหรือไม่ นายพิทูรตอบว่า ทุกวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่การกำหนดกระบวนการเป็นอำนาจของประธานสมัชชาแห่งชาติ เชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด

น้องมีชัย ติดโผสมัชชาแห่งชาติ


นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ แถลงว่า มีพรรคการเมืองที่ไม่ส่งตัวแทนเป็นสมัชชาแห่งชาติคือพรรคไทยรักไทยและพรรคการเมืองเล็กรวม 12 คน สำหรับกระบวนการลงมติเลือกสมัชชาแห่งชาติที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ในฐานะประธานสมัชชาแห่งชาติ ออกประกาศให้สมาชิก 1 คนลงคะแนนเลือกได้ 3 คน และสามารถเลือกข้ามกลุ่มกันได้นั้น อาจทำให้สมาชิกเกิดความสับสนได้ ส่วนตัวต้องการให้เลือกตามการจัดแบ่งกลุ่มเอาไว้ ไม่ให้เลือกข้ามกันไปมาได้ โดยจะยื่นหนังสือขอให้นายมีชัยทบทวนประกาศดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ที่จะร่วมเป็นสมัชชาแห่งชาติที่ยังขาดอยู่จำนวน 198 คนนั้น ในส่วนโควตาที่คมช.จัดส่งมาเพิ่มเติมมีบุคคลที่น่าจับตามองได้แก่ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต น้องชายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการ กกต. พล.ต.อ.มีชัย นุกูลกิจ อดีต ส.ว.นครศรีธรรมราช

วางแนวประชาชนร่วมร่าง รธน.


ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แถลงผลการประชุมเครือข่ายองค์กรวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ตามที่นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ

โดยตนเป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและข้อมูล ได้มีกำหนดแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในช่วงแรกจะดูว่าจะนำมาตราใดบ้างในรัฐธรรมนูญที่จำเป็นจะต้องไปจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำมาประมวลเป็นข้อมูลกลางเสนอต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และในระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญหากมีมาตราใดที่สำคัญควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะนำมาสอบถามความคิดเห็นด้วย เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และรู้สึกเป็นเจ้าของในมาตรานั้นๆ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์