กระทรวงหมอสาวไส้กันเอง! บิ๊กสธ.อุ้มพวกพ้นทุจริต-ใช้รถพยาบาลรัฐระวังเดี้ยง

กระทรวงหมอสาวไส้กันเอง! บิ๊กสธ.อุ้มพวกพ้นทุจริต-ใช้รถพยาบาลรัฐระวังเดี้ยง

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 18 พฤศจิกายน 2549 08:28 น.

กระทรวงหมอวุ่นหนัก หลังหมอมงคลถูกครหาวางตัวไม่เป็นกลาง เลือกหนุนแต่หมอชนบท วงในเผยพิรุธสางทุจริตคอมพ์ฉาว 900 ล้านบาท-รถพยาบาล ปกป้องพวกตัวเอง ส่วนขั้วตรงข้ามเชือดวินัยร้ายแรง หวังเขี่ยพ้นเก้าอี้สำคัญ ๆ ด้าน"สตง."เตรียมชำแหละรถพยาบาลชี้ความผิดผู้เกี่ยวข้อง เพราะไม่ได้มาตรฐาน หากคนไข้ ต้องใช้บริการมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยสูง ขณะที่ประชาคม สธ.จับตาโยกย้ายข้าราชการซี 9 กลุ่มชนบทขึ้นยกแผง นี่คือชนวนแตกหักระหว่าง 2 ขั้วอำนาจในกระทรวงสีขาว

ทันทีที่ นพ.มงคล ณ สงขลา นั่งกุมบังเหียรในตำแหน่งเจ้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้รับการจับตามองจากคนหลายฝ่าย โดยเฉพาะข้าราชการในสธ. ถึงบทบาทของตัว นพ.มงคล ซึ่งถูกวาดภาพของการเป็นตัวแทน"กลุ่มหมอชนบท" ที่จะเข้ามาจัดระเบียบและจะทำให้กลุ่มเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาเรืองอำนาจได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ น.พ.มงคล จะต้องพิสูจน์ผลงานโดยวางตัวเป็นกลางและทำการประสานรอยร้าวความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มหมอชนบท" และ "กลุ่มหมอข้าราชการ" ที่ขัดแย้งกันอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ยุติลงได้หรือไม่?

แหล่งข่าวในสธ.ระบุว่า หลังจากการเข้ามาบริหารงานได้ 2 เดือน ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่า "ความเป็นกลาง"อาจไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เด็กในสาย "หมอชนบท"เข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งปกติเป็นตำแหน่งที่วางไว้เพื่อให้ปลัดกระทรวงเป็นประธาน แต่ปลัดกระทรวงตัวจริงอย่าง นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ กลับมีตำแหน่งแค่ "กรรมการ" ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่คณะกรรมการบอร์ด อภ. ก็มีคนในสายของกลุ่มแพทย์ชนบทถึง 3 คน คือนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ,ประสาร มฤคพิทักษ์,นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ซึ่งชื่อของ น.พ.ชูชัย ก็มีอยู่ในคณะทำงานมากถึง 3 คณะ ใน 10 คณะที่นพ.มงคลตั้งขึ้นมา

พบพิรุธสางทุจริต 2 โครงการฉาว

อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ก็คือการสร้างผลงานด้านการปราบทุจริต 2 โครงการยักษ์ใหญ่ อย่างคอมพ์ฉาว 900 ล้านบาท และรถพยาบาลของ สธ.เอง แม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นการทำเพื่อล้มล้างการทุจริตที่เกิดขึ้นในระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีการปฏิบัติต่อการสางทุจริตทั้ง 2 เรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่ในสธ.กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กรณีทุจริตคอมพ์นั้น มีการกระทำที่บ่งชี้ว่าต้องการจัดการหมออีกกลุ่มที่ขณะนี้ครองตำแหน่งสำคัญ ๆ ในระดับบริหารให้หลุดจากตำแหน่งเป็นผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่การทุจริตรถพยาบาลกลับมีท่าทีในการปกป้องหมอกลุ่มหมอชนบทชัดเจน และนี่อาจเป็นการจุดชนวนระเบิดของความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก!

เชือดกลุ่มอำนาจเก่า

แหล่งข่าว กล่าวว่า กรณีโครงการคอมพิวเตอร์ฉาวนี้ เริ่มจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สธ.ดำเนินการประกวดราคาซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การคลัง และข้อมูลโรงพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมูลค่าประมาณ 911,784,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการในเดือนธันวาคม 2546 ในสมัยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา โดยให้ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ รองปลัด ขณะนั้นเป็นประธาน แต่หลังจากคณะกรรมการพิจารณาด้านเทคนิคได้สรุปผลการพิจารณาว่ามีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ 2 บริษัทได้แก่ บริษัทไพร์มลิงค์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพีสแควร์ไทยคอม เพียง 1 วัน นพ.ธวัช ก็ได้ลาออกจากการเป็นประธานดังกล่าวในวันที่ 8 เม.ย.47

จึงมีการแต่งตั้งให้นพ.ชาตรี บานชื่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ มารับหน้าที่แทนในวันที่ 9 เม.ย.47 และหลังจากพิจารณาผลการประกวดราคาครั้งแรกก็ได้ข้อสรุปว่า กิจการร่วมค้าพีสแควร์ไทยคอมมีราคาต่ำสุด แต่ปรากฏว่าภายหลัง ได้มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมโดยบริษัทคู่แข่ง คือ ไพร์มลิงค์ และหลังจากมีการประชุมพิจารณาประกวดราคาอีกหลายครั้ง จึงได้ข้อสรุปให้ ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว โดย นพ.ชาตรี บานชื่น และคณะได้มีความเห็นเสนอไปทางปลัดกระทรวงฯ เพื่อสั่งให้ยกเลิกการประกวดราคา โดยนำหลักเกณฑ์เรื่องราคาต่อหน่วยประสิทธิภาพ Price Per Performance (PPP) มาเป็นเหตุผลในการสั่งยกเลิก

"เป็นที่รู้กันดีว่าพีสแควร์ฯ มีความใกล้ชิดกับคุณหญิงอ้อ และมีกระแสข่าวว่าจริง ๆ แล้วการยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว เป็นใบสั่งจากตัวรัฐมนตรีว่าการฯ ที่ไม่ต้องการให้พีสแควร์ฯ ได้รับการประมูล จึงได้มีการหาเหตุความผิดให้พีสแควร์ฯ"

โดยเรื่องมาปรากฏชัดช่วงที่ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขถูกคำสั่งย้ายด่วนเข้ากรุทำเนียบรัฐบาลโดยคุณหญิงสุดารัตน์ จน นพ.วัลลภ ประกาศลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวง และได้วางระเบิดโดยได้ส่งหนังสือ 3 ฉบับ ถึง คณะกรรมการพัสดุแห่งชาติของกระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อสอบถามว่าการยกเลิกการประกวดราคา โดยใช้หลักเกณฑ์ราคาต่อหน่วยประสิทธิภาพดังกล่าว สามารถทำได้จริงหรือไม่

ผลปรากฏว่าทั้ง 3 หน่วยงานทำหนังสือตอบมายังกระทรวงสาธารณสุข และยืนยันว่าเหตุผลดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวได้

เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์แต่งตั้ง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี มาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และมีผลสรุปเสนอให้มีการยกเลิกด้วยเหตุผลที่ว่าคุณลักษณะทางเทคนิค ซอฟท์แวร์ ของพีสแควร์ฯ มีคุณภาพต่ำกว่าของบริษัทไพรม์ลิงค์ จำกัด เกินกว่า 20% จึงเห็นควรให้ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว

"ตอนที่ นพ.พิพัฒน์สอบสวนนั้น มีหลายประเด็นไม่ทำรายงานสรุปให้ปลัดวิชัย เทียนถาวร ปลัดวิชัยเลยดึง นพ.บุญเลิศ ลิ้มทองกุล มาเป็นคณะกรรมการสอบสวนอีกคณะหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งของฝ่ายคุณหญิงสุดารัตน์"

จึงทำให้ภาพที่ออกมามีคณะกรรมการสอบสวนถึง 2 คณะที่เสนอให้มีการยกเลิกการประกวดราคา คือคณะของ นพ.พิพัฒน์ และนพ.บุญเลิศ

"จริง ๆ แล้วนพ.บุญเลิศเขาถูกดึงมาเพื่อตรวจสอบนพ.ชาตรีด้วย และผลการตรวจสอบก็ระบุว่านพ.ชาตรีมีความผิดจริงในฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ เมื่อรวมกับข้อหารายงานเท็จต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นพ.พิพัฒน์จึงดิ้นหลุดจากข้อหาความผิดทางวินัยร้ายแรงได้ยาก"

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อ นพ.บุญเลิศ ซึ่งกลายเป็นตัวละครหนึ่งในฉากของเครือข่ายคุณหญิงสุดารัตน์ อยู่ในกลุ่มที่หากมีชื่อถูกพาดพิงจากกระบวนการสอบสวน นพ.บุญเลิศ และนพ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงในขณะนั้น จึงถูกตรวจสอบวินัยร้ายแรงด้วย

นพ.บุญเลิศเตรียมอุทธรณ์กพ.-ฟ้องศาลปกครอง

แหล่งข่าวกล่าวว่า นพ.บุญเลิศ ได้ปรารภกับคนใกล้ชิดว่าคำสั่ง สธ.ที่ 1000/2549 ลงนามโดย น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.นั้น น่าจะเป็นคำสั่งที่มิชอบตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ทั้งในเรื่องของการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง โดยที่ไม่มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏก่อน อีกทั้งถ้าจะดำเนินการสอบสวนควรกระทำทั้งคณะไม่ใช่เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการสอบกรรมการในชุดของ น.พ.ชาตรี บานชื่นนั้น มีการละเว้นไม่สอบกรรมการหนึ่งท่านคือ ฐิตศักดิ์ บุญไทย
อย่างไรก็ดีมีนักกฎหมายหลายท่าน ได้เสนอให้ น.พ.บุญเลิศ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ. ภายใน 30 วันนับจากคำสั่งมีผลบังคับ รวมไปถึง ยื่นฟ้องศาลปกครอง ในกรณีถูกเลือกปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ประเด็นผิดวินัยร้ายแรงคือประเด็นมูลเหตุจากหลักเกณฑ์ราคาต่อหน่วยประสิทธิภาพที่ไม่มีกำหนดไว้ใน TOR ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่คณะการตรวจสอบชุด น.พ.บุญเลิศ ให้เหตุผลในการยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว

แหล่งข่าว ระบุว่า จริง ๆ แล้ว นพ.บุญเลิศ เป็นหมอในกลุ่มของ "กลุ่มหมอข้าราชการ"หรือกลุ่มอำนาจเดิม การหยิบเอานพ.บุญเลิศ ขึ้นมาเชือดครั้งนี้พร้อมกับ น.พ.ชาตรี อาจเป็นเพราะต้องการสกัดเส้นทางการเติบโต หรือโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในกระทรวงสาธารณสุขของ นพ.บุญเลิศ ซึ่งเป็นข้าราชการซี 10 เพื่อให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิบดีได้ เพราะติดอยู่กับการสอบสวนวินัย ซึ่งทำให้ นพ.ฝ่ายข้าราชการมองอย่างไม่พอใจนัก

สตง.เตรียมฟันทุจริตรถพยาบาล

ส่วนกรณีสางทุจริตการการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง จำนวน 232 คัน มูลค่ากว่า 464 ล้านบาทนั้น ท่าทีของผู้บริหารกระทรวงฯ ต่อเรื่องนี้กลับไม่เหมือนกับการสางทุจริตคอมพิวเตอร์ เพราะกรณีจัดซื้อรถพยาบาลไปเกิดอยู่ในช่วงของ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ ซึ่งขณะนั้นหมอสุชัยได้บริหารกระทรวงสาธารณสุขโดยได้ให้ความไว้วางใจกลุ่มหมอชนบทมากกว่ากลุ่มหมออำนาจเก่าที่คุณหญิงสุดารัตน์เรียกใช้งาน

เมื่อการทุจริตรถพยาบาลอยู่ในช่วงนพ.สุชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการ คนที่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจสอบการทุจริตจึงมีตั้งแต่ชื่อ นพ.ปราชญ์,นพ.วิชัย โชควิวัฒน์,นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหมอในกลุ่มหมอชนบท โดยเฉพาะ นพ.วิชัย ที่เป็นเหมือน "น้องรัก"ของ นพ.มงคล ที่แม้จะมีชื่ออยู่ในกระบวนการตรวจสอบการทุจริตยังมอบตำแหน่งประธานบอร์ดอภ.ให้

โดยในการทุจริตรถพยาบาลมูลค่า 464 ล้านบาทนั้น คล้ายกับกรณีคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท โดยมีการยกเลิกการประมูลที่มีการทำมาในสมัยรัฐมนตรีสุดารัตน์ และมีการตั้งสเปกจัดซื้อใหม่ แยกอออกเป็น 3 ส่วนคือ รถพยาบาล การประกอบรถ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีการกระทำผิดสังเกต 4 ประการด้วยกัน คือ มีการแยกเครื่องมือแพทย์ 2 ตัวออกจากกัน,มีการลดสเปกจากสเปกแรกหลายจุด,ปลดเงื่อนไข ISO และมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ

ในขณะนั้นมีกระแสสื่อมวลชนท้วงว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงมีการแต่งตั้งนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ และนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ซึ่งมีผลจาการตรวจสอบในขั้นตอนนี้เหมือนกับเป็นการแก้ข้อกล่าวหาจากสื่อมวลชน โดยยืนยันว่าการจัดซื้อมีการกระทำที่ถูกต้องแล้ว และเหมือนเรื่องจะจบด้วยดี

เบื้องต้นพบ 4 อันตรายรถพยาบาล

หากไม่เกิดปัญหาหลังจากมีการส่งรถพยาบาลไปทั่วประเทศ และเกิดการร้องเรียนจากคนที่ใช้รถพยาบาลชุดดังกล่าวว่ามีความผิดปกติ ไม่ตรงตามสัญญา ไปที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. ซึ่งทำให้สตง.ต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด จึงพบว่ามีรายละเอียดของสินค้าที่ไม่ตรงตามสัญญาใหญ่ ๆ 4 ประการ ได้แก่
1.เครื่องมือแพทย์บางตัวที่สำคัญไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะถังอ๊อกซิเจนที่ปกติในการใช้ในทางการแพทย์จะต้องมีวาลว์ควบคุมความดันให้ได้ระดับไม่เกิน 50 บาร์ เพราะหากใช้เกินจะเป็นอันตรายต่อปอดของคนไข้ที่จะแตก และเครื่องมือแพทย์พัง ปรากฏว่าวาลว์ควบคุมที่เอามาใช้ไม่ได้เป็นวาลว์จำกัดความดัน มีการเอาเครื่องอ๊อกเหล็กในอุตสาหกรรมมาใช้แทน จึงไม่สามารถควบคุมความดันไว้ที่ 50 บาร์ได้ และมีการนำป้ายมาติดว่าห้ามเปิดใช้เกิน 50 บาร์แทน ซึ่งเป็นเรื่องผิดจริยธรรมแพทย์

2.เครื่องมือแพทย์บางตัว ใช้สติกเกอร์มาติดเป็นยี่ห้อผู้ผลิตตามสัญญา ซึ่ง สติ๊กเกอร์มีการติดในตำแหน่งไม่ตรงกัน แถมบางชิ้นมีเส้นผมติดอยู่ใน สติ๊กเกอร์ด้วย แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือแพทย์เหล่านั้นไม่ได้มีการผลิตโดยโรงงานที่มีมาตรฐานจากทางยุโรปตามสัญญา

3.แผ่นรองหลังผู้ป่วยในภาวะอุบัติเหตุที่ต้องมีความแข็งและยืดหยุ่นเล็กน้อย และต้องเป็นแบบโปร่งใสเมื่อทำการเอ็กซเรย์ ตามมาตรฐานการแพทย์ แต่ปรากฏว่าแผ่นรองหลังที่ได้มาเป็นแบบทึบ และไม่มีความแข็งแรง ซึ่งอาจทำให้คนป่วยอาทิกระดูกสันหลังหักอาจเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต

4.ในการประกอบรถจะต้องใช้มาตรฐาน ISO เข้ามาทำการประกอบรถ แต่ความเป็นจริงมีการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้รถพยาบาลที่มีหน้าที่หลักในการปฐมพยาบาลหรือช่วยชีวิตคนป่วยไว้เบื้องต้นก่อนถึงมือแพทย์ทำไม่ได้จริง

หมอมงคลออกโรงป้องหมอวิชัย-บรรลุ

อย่างไรก็ดี สตง.จึงได้ทำการสอบสวนตามวิธีของสตง.โดยยึดรถพยาบาลเหล่านั้นกันเป็นวัตถุพยาน เพื่อทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่า นพ.มงคลได้ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นว่า "สุดท้ายที่เรารู้ขณะนี้คือ ได้รับรถพยาบาลที่ตรงกับความต้องการแล้ว ผมค่อนข้างจะมั่นใจในสิ่งที่กรรมการชุดนี้ได้บอกว่าเรียบร้อย เพราะถ้าเราไม่เชื่อกรรมการที่ตรวจรับและยืนยันว่าเป็นไปตามสเปค แล้วเราจะไปเชื่อใครที่ไหน แต่ถ้าเผื่อว่าใครยังสงสัย เราก็ยินดีให้มีการพิสูจน์กัน แต่ต้องพิสูจน์กันอย่างเปิดเผย แล้วก็ออกมาเลยว่าสิ่งที่สงสัยนั้นผลเป็นอย่างไร ไม่ต้องห่วงว่าจะมีการหมกเม็ดนพ.มงคลกล่าวและได้นำเสนอแนวคิดในการสุ่มตรวจรถพยาบาลที่มีปัญหา แทนการสอบสวนตามวัตถุพยานตามกระบวนการสตง.

"ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่โพลล์ที่จะไปสุ่มตรวจกัน แต่สตง.เขาทำถูกแล้ว เขากันวัตถุพยานไว้แล้ว เพราะต้องตรวจสอบวัตถุพยานที่มีการร้องเรียนมา"

โดยสตง.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ นพ.มงคลดังกล่าว และเตรียมให้สถาบันทางการแพทย์ที่มีความเป็นกลางนำรถพยาบาลที่มีปัญหาดังกล่าวมาชำแหละหาข้อเท็จจริง ซึ่งเชื่อว่าจะพิสูจน์ได้ว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะนพ.วิชัย และนพ.บรรลุ จะมีการหมกเม็ดหรือไม่ ซึ่งสตง.เตรียมเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบการทุจริตนี้อย่างเต็มที่

"คำถามก็คือ การสางทุจริตทั้ง 2 เรื่อง ทำไมหากหมอที่มีชื่อไปเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มตรงข้ามผู้บริหารฯ ถึงทำท่าแบบว่าต้องจับให้มั่นคั้นให้ตาย แต่พอกรณีรถพยาบาลที่มีชื่อของนพ.วิชัย นพ.บรรลุ ซึ่งเป็นหมอแกนนำในกลุ่มหมอชนบทไปเกี่ยวข้อง กลับมีการทำเหมือนทำเรื่องหนักให้เป็นเบา"

นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีเกิดความระส่ำระสายอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า นพ.มงคล นอกจากจะไม่สามารถรักษาความเป็นกลางในการประสานรอยร้าวระหว่างหมอ 2 ขั้วในกระทรวงสาธารณสุขได้ ยังมีการทำให้รอยร้าวที่มีอยู่เดิมแตกหักขึ้นไปอีก

จับตาย้ายซี 9 -เปิดช่องหมอชนบทเข้าสู่ฐานอำนาจ

อย่างไรก็ดี ในหมู่ข้าราชการสาธารณสุขเวลานี้ ต่างเกาะติดข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพราะการโยกย้ายข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือยังขาดการโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 ว่า นพ.มงคล จะเน้นการแต่งตั้งแต่หมอในกลุ่มของหมอชนบท เหมือนกับการแต่งตั้งระดับ 10 ที่ผ่านมาหรือไม่ หากนพ.มงคล ยังเดินหน้าทำกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นกระทรวงหมอชนบท โดยไม่คำนึงถึงการประสานสามัคคีของข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขต่อไปเช่นนี้ ท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และทำให้ความขัดแย้งในใจกลุ่มหมอทั้ง 2 ขั้วยิ่งรุนแรงจน ถึงขั้นแตกหัก!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์