จารุวรรณเปิดใจครั้งแรก แจงคำวินิจฉัยไร้ผลอ้างเป็นองค์กรอิสระ



"จารุวรรณ"เปิดใจครั้งแรก แจงคำวินิจฉัยไร้ผลอ้างเป็นองค์กรอิสระ ยันถอนเรื่องจากกฤษฎีกาแล้วแต่ถูกเมิน

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์วันที่ 10 สิงหาคมผ่านรายการวิทยุ  "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ซึ่งจัดรายการโดยนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ถึงการตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าสตง. ว่า ในความรู้สึกที่เข้าใจว่าเราเกาะยึดตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ คนวิจารณ์ไม่ได้เข้าใจกฎหมายให้ถ่องแท้ ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งหลาย จุดสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และประธานตัวผู้ว่าการเหมือนตัวขับเคลื่อน แต่นโยบายและวิธีการต้องมาจากคตง. ซึ่งตนเองถูกมอบหมายจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่29 ให้อยู่ตรงนั้น


"แต่พอบอกว่าแก่แล้วให้กลับบ้านไป 65แล้ว ก็เครียด เพราะเป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่เราจะเอาให้ได้ ต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก ในเมื่อบอกว่า 65แล้วพ้นไม่พ้น ดิฉันก็สงสัยตัวเอง แต่บังเอิญมีน้องนักกฎหมายที่สตง. มาบอกว่าพี่ดูให้ดีพี่พ้นไม่พ้นนะ ตอนนั้นเก็บของเตรียมพร้อมแล้ว งานเลี้ยงต้องเปลี่ยนจากคำว่าอำลาอาลัยเป็นกตัญญูนุสรณ์ ก็บอกว่าวันนี้พี่ไม่รู้นะ พี่ต้องถามผู้รู้ให้ถ่องแท้ก่อน พี่ไม่ทำอะไรผิดๆ ก็ขอเวลาไปดู เผอิญท่านอ.อมร จันทรสมบูรณ์ (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) มาเองเลย นั่งรถมาบอกเลยว่าอย่าไปไหน ดูให้ดีก่อน ขณะนั้นกำลังเตรียมพร้อมเลี้ยงกันอยู่แล้วเลยต้องฉุกคิดขึ้นมา"


ผู้ว่า สตง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามองด้วยใจเป็นธรรม ไม่ใช่ใจอคติที่อยากให้ไป ในประกาศคปค. ฉบับที่ 12 เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2549 ที่ปฏิวัติ ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพรางก่อน แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เปลี่ยนเป็นประกาศฉบับที่ 29 เขาได้คำนึงเรื่องนี้แล้ว คือได้ศึกษาจนแน่ใจว่าเขาคำนึงถึงเรื่องนี้แล้ว เผอิญอยู่คนเดียว ถ้าเป็นหน่วยงานอื่น คนนี้ไปคนนี้อยู่ เผอิญของสตง.เนี่ย เป็นคนเดียวที่อยู่ทั้งผู้ว่าฯ ทั้งคตง.


"ที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจเยอะแยะ แต่ทำไมไม่ดูบ้างว่ากินเงินเดือนตำแหน่งเดียว แต่ทำงานให้ตั้ง 8-9 ตำแหน่ง ไม่เอาอันที่เราเหนื่อยบ้างเลย ไม่ดูว่าเลิกงานดึก ตี1 ตี2 วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องมาอยู่"


ประกาศคปค.29 บอกว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซี่งมีอยู่คนเดียว คือ ดิฉัน ให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีการสรรหาภายใน 90 วัน และวรรคสุดท้ายของประกาศนี้ ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งก็คือตัวดิฉันเอง ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ก็เป็นอันที่วินิจฉัยชี้ขาดได้ โดยเฉพาะมาตรา 5 ของ กฎหมาย สตง. ให้อำนาจผู้รักษาการกฎหมาย คือ ประธานคตง. เพราะฉะนั้นดิฉันก็ต้องว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสี่ยงผิด


พอวินิจฉัยเสร็จ พอดีกับคณะที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา ก็หยิบเรื่องนี้มาพิจารณา ก็ถามวุฒิสภา ก็ได้วินิจฉัยออกมาเป็นกระบวนการ เป็นข้อๆ ว่าอยู่ เมื่อต้องอยู่ก็อยู่ แต่เมื่อเธอต้องอยู่ แต่เธอไม่ทำงาน ก็คือเธอละเว้นการปฏิบัติ เขาต้องมาตีตายแน่เลย

มาถึงกรณีกฤษฎีกาซึ่งแปลกมากเลย ว่าเราได้ข้อยุติแล้ว ท่านไม่ต้องวินิจฉัยแล้ว แต่ทำไมท่านจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก็ไม่รู้ เขาบอกว่าจะประชุมวันนี้ แต่มีคนมาเล่าให้ฟังว่า มีผลออกมาแล้ว โดยคนในสตง.ก็เอามาดูกันเวียนกันแล้ว แต่ขอคัดค้านคณะกรรมการกฤษฏีกาของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน


"ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ดิฉันเคารพนับถือ แต่บังเอิญด้วยอะไรไม่ทราบ ท่านไม่ค่อยชอบดิฉันเหลือเกิน ไม่ทราบ อาจไม่สวย อาจไม่ค่อยอ่อนน้อม ก็บอกตรงๆ ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เราเป็นเด็กที่ไม่ค่อยรู้กฎหมาย แต่เราเก่งบัญชี เราต้องนับถือท่านไว้ ก็ได้ทำเรื่องขอถอนข้อหารือ เรียกว่าไม่ติดใจแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. แต่เข้าใจว่าคณะของอาจารย์มีชัยก็เดินหน้าต่อ"


ก็ถามว่าไปทางนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าท่านส่งเรื่องนี้ไปให้ทางกฤษฎีกาหรือไม่ เพราะโดยระเบียบการรับคำหารือของคณะกรรมการกฤษฏีกา เรื่องขององค์กรอิสระจะทำไม่ได้เลย และเขาก็เคยตอบเรามาว่า ไม่รับวินิจฉัยเลย เมื่อปี 2548 ก็มีคตง.รักษาการคนหนึ่งส่งไปให้ท่านวินิจฉัย ท่านบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะ มีผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่รับ แต่ต่อมามีกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งท่านวินิจฉัยมา ทางเราก็ยังมีความรู้สึกจะถูกหรือไม่ เพราะท่านเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล การที่ท่านจะลงมาวินิจฉัยตรงนี้จะชอบหรือไม่


ถามนายกอร์ปศักดิ์ ก็บอกว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งไป จนสุดท้ายไปเจอหนังสือฉบับหนึ่ง ลงนามโดยที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ชื่อ นายสมบัติ วัฒนพานิช แต่ถามไป 2 ประเด็น คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยรับเรื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ความเห็นหรือไม่ 2.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะหารือข้อกฎหมายดังกล่าว จากสตง.โดยตรงได้หรือไม่ ทางกอร์ปศักดิ์ก็บอกว่า ไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม พี่ขอแจ้งยกเลิกการหารือทั้งหมด เพราะเราเป็นองค์กรอิสระ เราเป็นว่าสำนักงานกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของฝ่ายบริหาร และเราไม่เอาตัวนั้นมาเป็นที่ผูกมัด 


"ถ้าวันนี้จะมีผลอย่างไร ก็จะถือว่าไม่มีผลพันกับเรา เช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายวุฒิฯ ก็ไม่ผูกพันกับเรา เพียงแต่ความเห็นทุกความเห็นเราก็ฟังไว้พิจารณา" คุณหญิงจารุวรรณว่า และกล่าวว่า ไม่ทราบว่าคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แต่ก็อยากให้ชัดเจน 


เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เพราะเหตุใด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการฯ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นเด็กสร้างของคุณหญิงจารุวรรณ ดูเหมือนจะรุกไล่คุณหญิงหนักเหลือเกิน คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า "ก็ต้องกลับไปถามพระเจ้าว่า ทำไมพระองค์ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ข้าพเจ้ายืนอยู่หน้าชะง่อนผาได้เป็นปีๆ โดยไม่รู้ตัว"

"ไม่ต้องการอะไรที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้ไป อย่างเดียวที่เทิดทูนอยู่เสมอ คือไปเอาพระบรมราชโองการมา แต่วันนี้ไม่กล้าเอ่ยถึง คือไปได้ เก็บของแล้วด้วย แต่ขอไปอย่างถูกต้อง แต่ดิฉันว่าประชาชนจะไม่เข้าใจตรงที่ว่าถ้าไม่มีคตง.อยู่ งานวันนี้หยุดหมดเลย เพราะคนที่รักษาการอยู่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตรงนี้ เพราะฉะนั้นถามว่าจะให้อยู่ทำงานให้หรือจะให้ไป" 



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์