สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานของราชการและรัฐวิสาหกิจหลายคน ที่เข้าไปนั่งเป็นฝ่ายบริหาร หรือบอร์ดในรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการชุดต่างๆ พร้อมกันมากกว่า 3 แห่ง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และมติคณะรัฐมนตรี ทำให้ สตง.โดยคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง ทำหนังสือรายงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รายงานข่าวจาก สตง.ระบุว่า หนังสือดังกล่าวของ สตง.ที่ทำถึงผู้บริหารประเทศทั้งสาม เป็นหนังสือรายงานเรื่องการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นกรรมการมากกว่า 3 แห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ สตง.ได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจในรัฐวิสาหกิจ จนถึงเดือนมีนาคม 2549
"ซึ่งน่าจะพิจารณาได้ว่า ไม่ชอบด้วย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่งมิได้ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2523"
หนังสือของ สตง.ที่ทำถึงนายกรัฐมนตรี ประธาน คมช.และรมว.การคลัง ระบุด้วยว่า สตง.ยังเห็นว่า ตามที่มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร.0202/ว.76 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2523 เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และหากพิจารณารวมถึงการเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในคณะกรรมการอื่นอีกหลายคณะแล้ว อาจจะทำให้ไม่มีเวลาในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจจะทำให้การบริหารราชการในส่วนราชการที่รับผิดชอบไม่มีประสิทธิภาพได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือของ สตง.ดังกล่าวระบุรายชื่อผู้ที่ สตง.ตรวจสอบพบว่าไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจมากกว่า 3 แห่ง รวมทั้งกรรมการชุดอื่นๆ อีกหลายชุดจำนวนมาก แต่ที่สำคัญก็คือ ในหนังสือรายงานของ สตง.ระบุชื่อของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ด้วย ซึ่ง สตง.ระบุว่า ในช่วงการตรวจสอบถึงเดือนมีนาคม 2549 นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยในหนังสือของ สตง.ระบุว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด 8 ชุด คือประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เบี้ยประชุม 2.5 หมื่นบาท ระหว่างเดือนมกราคม 2548-กุมภาพันธ์ 2549 รวมเป็นเงิน 3.5 แสนบาท, กรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ค่าเบี้ยประชุม 12,800 บาท ระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม 2548 รวมเป็นเงิน 1.15 แสนบาท, ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระหว่างเดือนตุลาคม 2547-มีนาคม 2549 รวมเป็นเงิน 6.75 แสนบาท, กรรมการสำนักงาน ก.ล.ต.ระหว่างเดือนมกราคม 2548-มีนาคม 2549 เบี้ยประชุม 2 หมื่นบาท รวมได้ 3 แสนบาท, กรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ค่าเบี้ยประชุม 3 หมื่นบาท ระหว่างเดือนมกราคม 2548-มีนาคม 2549 รวมได้ 4.5 แสนบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในหนังสือดังกล่าวของ สตง.ระบุว่า บุคคลที่นั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอัตราค่าเบี้ยประชุม พบว่า คนที่ไปนั่งเป็นบอร์ดมากที่สุด คือ นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คือ 19 ชุด ตามด้วย นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง โดยพบว่านั่งเป็นกรรมการชุดต่างๆ 18 ชุด ตามด้วย นายสามารถ ยลภัคย์ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ที่พบว่าเป็นกรรมการ 16 ชุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในหนังสือดังกล่าวของ สตง.ยังระบุชื่อผู้ที่นั่งเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 3 แห่ง อีกหลายคนเช่น นายสามารถ ยลภัคย์ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เป็นกรรมการมากถึง 16 ชุด นายอนุชิต ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นกรรมการ 7 ชุด นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวม 19 ชุด นายอดิเทพ พิศาลบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมีคอล เป็นกรรมการรวมทั้งหมด 10 ชุด ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจผลิตและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.รวม 5 ชุด
นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการทั้งหมด 10 ชุด นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.รวม 10 ชุด นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรวม 12 ชุด นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ รวม 7 ชุด