นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน
กล่าววันที่ 5 พฤษภาคม ถึงท่าทีของคนเสื้อแดง ต่อโรดแมป 5 ข้อตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเสนอเพื่อยุติวิกฤติว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เสนอมานั้นไม่ใช่โรดแมปแต่เป็นเพียง 5 ประเด็นที่จะใช้ในการหารือกัน เพราะยังไม่มีจุดใดเป็นรูปธรรม และยังต้องพูดคุยกันในรายละเอียดอีกมาก แต่หัวข้อเรื่องความปรองดองสมานฉันท์นั้นใครก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ ซึ่งการที่คนเสื้อแดงแบ่งรับแบ่งสู้นั้นเป็นเพราะไม่ต้องการผลีผลามตัดสินใจพาประชาชนไปถูกหลอกหรือปรารถนาให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอีก โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการกำหนดวันเลือกตั้งที่นายอภิสิทธิ์ เสนอมาว่าจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้นไม่มีความเป็นรูปธรรม เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งนั้นนายอภิสิทธิ์ ไม่สามารถกำหนดเองได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ว่านายกรัฐมนตรีจะต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก่อนกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจุดนี้ไม่สามารถการันตีได้ว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายนจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คนเสื้อแดง จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศวันยุบสภามาให้ชัดเจน
นายจตุพร กล่าวว่า อย่างไรก็การเห็นด้วยกับแนวทางการปรองดองก็ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงเห็นด้วยกับกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน
เพราะเงื่อนไขเรื่องระยะเวลานั้นเรายังไม่ได้พิจารณาจนกว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศวันยุบสภา ออกมาจากนั้นแกนนำคนเสื้อแดงถึงจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ หากพอที่จะยอมรับได้เราจะนำเข้าสู่กระบวนการเจรจาในรายละเอียดทั้ง 5 ข้ออีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะไม่ต้องการให้มีการบิดพริ้วเหมือนการตั้งคณะกรรมการอิสระ 2 ชุดหลังเหตุการณ์เมษายน 2552 แต่ไม่เกิดผลอะไร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล
“หากนายอภิสิทธิ์ ประกาศวันยุบสภามาแน่นอนแล้วคนเสื้อแดงยอมรับเรื่องเงื่อนเวลาได้ ก็จะไปสู่การเจรจาในรายละเอียดอีกครั้งเพื่อกำหนดให้ชัดเจนลงไปเลยว่าระหว่างทางก่อนที่จะยุบสภาตามที่ได้ตกลงกันนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นขั้นเป็นตอน ต้องทำอะไรวันไหน เมื่อไร ระหว่างทางจะต้องทำอะไรบ้างให้สำเร็จ โดยจะต้องเป็นการเจรจาแบบเปิดเผย โดยจะต้องประกาศผลการเจรจาต่อสาธารณะ เพื่อเป็นสัตยาบรรณต่อประชาชน และหากใครบิดพริ้วก็ต้องถูกประชาชนลงโทษ โดยระหว่างการเจรจานั้นเราก็ยังจะไม่ยุติการชุมนุม และการชุมนุมจะต้องมีต่อไป ไม่เช่นนั้นการเจรจาก็จะไม่เกิดขึ้น”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. กล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า โรดแมป ทั้ง 5 ข้อของนายกฯไม่ได้เป็นโรดแมปแต่เป็นเพียงข้อเสนอที่ยังไม่มีรายละเอียดเป็นรูปธรรมเพราะมีหลายเรื่องที่ต้องคุยอย่างชัดเจน ประสำคัญ คือ การกำหนดวันยุบสภาฯเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อปี2549เอาไว้ว่ารัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องร่วมมือกันในการกำหนดวันเลือกตั้ง
"นอกจากนี้ มีข้อสงสัยมากมาย เช่น ถ้ามีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ก่อนยุบสภา และถ้าสรรหานายกฯในสภาใหม่ได้นายชวน(นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จะยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีความที่อยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อยากถามว่าจะยุติธรรมหรือไม่เพราะศอฉ.มีส่วนร่วมในการวางแผนทำร้ายประชาชนในวันที่10 เม.ย.จะให้คนที่มีส่วนทำร้ายประชาชนมาเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้อย่างไร" นายจตุพร กล่าว