"วอดีน อิงแลนด์" ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงเทพฯ ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับสถานภาพของรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน
โดยอิงแลนด์เริ่มต้นรายงานด้วยการกล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคม สถานะของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังค่อนข้างมีความมั่นคง ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งจะพิพากษายึดทรัพย์สินจำนวน 2 ใน 3 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยซึ่งอยู่ข้างรัฐบาลก็ทำนายว่าสักวันหนึ่ง ความคลั่งแค้นโวยวายของชนชั้นล่างไร้การศึกษาจากต่างจังหวัดอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นจะค่อย ๆ มอดดับลง
แต่แล้วกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐบาล ก็เริ่มการประท้วงขึ้นอีกครั้งในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองทัพ รวมทั้งไม่สามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวและเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลได้
นายอภิสิทธิ์พยายามร้องขอให้เหล่าผู้นำกองทัพปฏิบัติตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลประกาศขึ้น เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เมื่อกองทัพตัดสินใจปฏิบัติการขอพื้นที่คืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง การกระทำดังกล่าวกลับกลายเป็นปฏิบัติการอันย่ำแย่ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ทั้งพลเรือนและทหาร
หลังเหตุการณ์การปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน ดูเหมือนความขัดแย้งจะยังไม่จบสิ้นลงง่าย ๆ ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามขึ้นว่ารัฐนาวาของนายอภิสิทธิ์จะมีหนทางอย่างไรต่อไปนับจากนี้?
"นายอภิสิทธิ์อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก" นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวและว่า "เขาอยู่ในสถานการณ์อันย่ำแย่มาก และยังไม่มองไม่ออกว่านายอภิสิทธิ์จะมีทางลงที่สง่างามได้อย่างไร"
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้ ยังวิเคราะห์ว่าการตัดสินใจในวันที่ 10 เมษายนของรัฐบาล ได้นำไปสู่ปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบของทหาร
"เราอนุญาตให้เกิดโอกาสการทำรัฐประหารหรือรัฐประหารเงียบขึ้นมาแล้ว" นายอมรกล่าวและว่ากองทัพไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะคอยเป็นพันธมิตรอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์