ทรราช หมายถึง ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำความเดือดร้อนทารุณให้แก่ผู้อยู่ใต้การปกครองตน เรียกลัทธิเช่นนั้นว่า ทรราชย์
ในประเทศไทยบุคคลที่ถูกขึ้นทำเนียบเป็น "ทรราช" คือ 2 ผู้มีอำนาจในประเทศไทยช่วงก่อนเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ถูกประณามว่าใช้กำลังทหารปราบประชาชน ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากจอมพลทั้งสองขึ้นครองอำนาจในการบริหารปกครองประเทศเป็นเวลาสิบปี ตั้งแต่ปี 2506-2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวกลับทางนั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน จึงเกิดการปะทะกันกลายเป็นการจลาจล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถนนราชดำเนิน พบเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินวนอยู่เหนือเหตุการณ์และมีการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นเพื่อสลายการชุมนุม
การเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ทุกฝ่ายจะอ้างว่า สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ควรเกิดซ้ำอีก เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้พิสูจน์แล้วว่า เมื่อประชาชนกับทหารยืนประะจันหน้ากันไม่มีใครรับรองได้ว่าความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นหลังเสียงปืนดังขึ้น การปะทะกันที่เริ่มจากการผลักดันจนกลายเป็นการจลาจล มีทั้ง ปืน ระเบิด แก๊สน้ำตา ท่อนไม้ ก้อนหิน ขวดน้ำ ระเบิดเพลิง หลังจากเสียงปืนสงบแสงเพลิงมอดลง
ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมตายในที่เกิดเหตุและเจ็บอีกไม่น้อย คงต้องเถียงกันไปอีกนานว่า "ใครเริ่ม ใครผิด ใครถูก"
ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้คือ การออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายและความต้องการของบางคน บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีคงหนีไม่พ้นคำประณาม ในลักษณะเดียวกันกับช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยถ้อยคำรุนแรง "ทรราชบ้าง ฆาตกรบ้าง กระหายเลือดบ้าง ฯลฯ" อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้สั่งให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยึดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์คืนตามมาตรการ "เบาไปหาหนัก" ซึ่งยากที่จะเลี่ยงเกิดเหตุการณ์คนไทยต้องฆ่ากันเอง
ปฏิบัติการที่หวังผลแค่"น้ำตาไหล"กลับกลายเป็น"เลือดไหล"