นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงต้องรู้อยู่แก่ใจว่า วันที่ตัดสินใจนั่งลงเจรจาออกอากาศสด ๆ กับแกนนำ นปช. เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น
คุณอภิสิทธิ์ย่อมรู้ดีว่าเขาไม่มีสิทธิจะยกบ้านเมืองนี้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่บังเอิญเสียงดัง หรือเพราะพวกเขาข่มขู่ที่จะกระทำการรุนแรงให้ผู้คนหวาดกลัว
หรือเพราะคนบางกลุ่ม มีคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร หนุนหลังอยู่ นายกฯ อภิสิทธิ์ จึงต้องกลัวเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่เขาคนนี้หนีคำสั่งศาลจำคุกสองปี และถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ เพราะข้อหาฉ้อฉลและผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยซ้ำ
ถ้าคนกลุ่มหนึ่งในสังคมทำอย่างนั้นแล้ว นายกฯ ต้องยอมเจรจาด้วย ก็แปลว่า เขากำลังส่งสัญญาณว่าคนกลุ่มอื่นใดที่ทำแบบเดียวกันนี้ ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิที่ผู้นำประเทศจะต้องลงมานั่งเจรจาต่อปากต่อคำได้ด้วยเช่นกัน
วันนี้คนหลายกลุ่มในสังคมกำลังเรียกร้อง "ความเท่าเทียม" และ "ความไม่มี 2 มาตรฐาน" นั้นเช่นเดียวกัน
คำวิพากษ์เรื่องความยากจนและคอร์รัปชัน และความไม่เท่าเทียมของ นปช. นั้น ก็เป็นประเด็นที่คนไทยอื่นๆ มีความคิดเห็น ที่จะเสนอนายกฯ เช่นกัน
ประเด็นเรื่อง "สงครามชนชั้น" และ "ไพร่-อำมาตย์" ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อ้างเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ต้องโค่นรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องถกแถลง และวิเคราะห์กันให้ถ้วนถี่... เพราะคนส่วนอื่นๆ ของสังคมที่ไม่เห็นด้วย และมีความเห็นแย้งก็มีมากมาย
นปช.จึงไม่มีสิทธิผูกขาดที่จะวิจารณ์ ต่อรองตั้งเงื่อนไข หรือขู่เข็ญรัฐบาลแต่เพียงกลุ่มเดียว
คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยก็มีสิทธิที่จะกระทำการเช่นนั้นได้เช่นเดียวกัน...หรือมีสิทธิที่จะบอกให้คนในสังคมอย่าได้กระทำเช่นนั้นโดยเฉพาะเมื่อกิจกรรมการชุมนุมนั้น สร้างความเดือดร้อน ระทึกขวัญ และความตึงเครียดให้กับส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย
สิทธิของคน นปช. ที่จะ "ยกระดับการต่อสู้" กับรัฐบาลนั้น ทำได้ตราบเท่าที่อยู่ในกฎเกณฑ์กฎหมาย แต่เมื่อการยื่นมือออกของคนชุมนุมมากระทบคนไทยคนอื่น สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่อาจจะล่วงล้ำเส้นแบ่งนั้นได้
เพราะคนไทยทุกคนมีทั้งเสรีภาพและความจำเป็น ต้องเคารพในเสรีภาพของคนอื่นเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิมากกว่าหรือน้อยกว่า เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าใครเป็น "ไพร่" หรือใครเป็น "อำมาตย์" ที่จะทำให้มีสิทธิที่แตกต่างกันไป