นายกฯ ต้องไม่ 2 มาตรฐาน... ต้องเจรจากับประชาสังคมออกทีวีด้วย

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงต้องรู้อยู่แก่ใจว่า วันที่ตัดสินใจนั่งลงเจรจาออกอากาศสด ๆ กับแกนนำ นปช. เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น

 คุณอภิสิทธิ์ย่อมรู้ดีว่าเขาไม่มีสิทธิจะยกบ้านเมืองนี้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่บังเอิญเสียงดัง หรือเพราะพวกเขาข่มขู่ที่จะกระทำการรุนแรงให้ผู้คนหวาดกลัว


 หรือเพราะคนบางกลุ่ม มีคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร หนุนหลังอยู่  นายกฯ อภิสิทธิ์ จึงต้องกลัวเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่เขาคนนี้หนีคำสั่งศาลจำคุกสองปี และถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ เพราะข้อหาฉ้อฉลและผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยซ้ำ


 ถ้าคนกลุ่มหนึ่งในสังคมทำอย่างนั้นแล้ว นายกฯ ต้องยอมเจรจาด้วย ก็แปลว่า เขากำลังส่งสัญญาณว่าคนกลุ่มอื่นใดที่ทำแบบเดียวกันนี้ ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิที่ผู้นำประเทศจะต้องลงมานั่งเจรจาต่อปากต่อคำได้ด้วยเช่นกัน


 วันนี้คนหลายกลุ่มในสังคมกำลังเรียกร้อง "ความเท่าเทียม" และ "ความไม่มี 2 มาตรฐาน" นั้นเช่นเดียวกัน


 คำวิพากษ์เรื่องความยากจนและคอร์รัปชัน และความไม่เท่าเทียมของ นปช. นั้น ก็เป็นประเด็นที่คนไทยอื่นๆ มีความคิดเห็น ที่จะเสนอนายกฯ เช่นกัน


 ประเด็นเรื่อง "สงครามชนชั้น" และ "ไพร่-อำมาตย์" ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อ้างเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ต้องโค่นรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องถกแถลง และวิเคราะห์กันให้ถ้วนถี่... เพราะคนส่วนอื่นๆ ของสังคมที่ไม่เห็นด้วย และมีความเห็นแย้งก็มีมากมาย


 นปช.จึงไม่มีสิทธิผูกขาดที่จะวิจารณ์ ต่อรองตั้งเงื่อนไข หรือขู่เข็ญรัฐบาลแต่เพียงกลุ่มเดียว


 คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยก็มีสิทธิที่จะกระทำการเช่นนั้นได้เช่นเดียวกัน...หรือมีสิทธิที่จะบอกให้คนในสังคมอย่าได้กระทำเช่นนั้นโดยเฉพาะเมื่อกิจกรรมการชุมนุมนั้น สร้างความเดือดร้อน ระทึกขวัญ และความตึงเครียดให้กับส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย


 สิทธิของคน นปช. ที่จะ "ยกระดับการต่อสู้" กับรัฐบาลนั้น ทำได้ตราบเท่าที่อยู่ในกฎเกณฑ์กฎหมาย แต่เมื่อการยื่นมือออกของคนชุมนุมมากระทบคนไทยคนอื่น สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่อาจจะล่วงล้ำเส้นแบ่งนั้นได้


 เพราะคนไทยทุกคนมีทั้งเสรีภาพและความจำเป็น ต้องเคารพในเสรีภาพของคนอื่นเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิมากกว่าหรือน้อยกว่า เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าใครเป็น "ไพร่" หรือใครเป็น "อำมาตย์" ที่จะทำให้มีสิทธิที่แตกต่างกันไป


 ฉะนั้นเพื่อความยุติธรรมและปราศจาก "สองมาตรฐาน" นายกฯ อภิสิทธิ์จะต้องนั่งลง "เจรจา" กับตัวแทนของ "ประชาสังคม" หรือ civil society ของสังคมไทยในประเด็น "ทางออกจากวิกฤติบ้านเมือง" เหมือนที่ทำกับตัวแทนคนเสื้อแดงเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา


 และเพื่อความเสมอภาคของคนในสังคมไทย การเจรจาระหว่างนายกฯ กับตัวแทนของประชาสังคมอื่นๆ นั้น จะต้องถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์สดตลอดการพูดคุย เหมือนกับที่ทำกับตัวแทน  นปช. ด้วยเช่นกัน


 เพราะคนส่วนอื่นๆ ของสังคม ที่ไม่ได้ร่วมประท้วง แต่ต้องการจะใช้ชีวิตปกติสุขตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีโอกาสได้แสดงความคิดความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ และรัฐบาลว่าด้วยประเด็นจะยุบหรือไม่ยุบสภา จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะแก้หรือไม่แก้ในประเด็นใด


 และหากจะให้มีความเห็นที่กว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในการกำหนดแนวทางสำหรับประเทศชาติในอนาคต ตัวแทนประชาสังคมก็ควรจะมีโอกาสได้นั่งลง "เจรจา" กับตัวแทนของ นปช. เพื่อซักถามเป้าหมาย เจตนา และแนวทางของการชุมนุมอย่างละเอียดรอบด้านเสียด้วย


 เพราะไม่มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีสิทธิที่จะผูกขาดการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะคัดค้าน เห็นพ้อง สนับสนุน หรือเห็นต่างกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้


 คุณกับผมต่างก็มี 1 เสียงและสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าฉบับ 2540 หรือ 2550 หรือฉบับไหนในอดีตหรืออนาคต


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์