"ผ่อนอัยการศึก"
หลังจากพรรคการเมืองและกลุ่มพลังมวลชนต่างๆออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อจะได้มีโอกาสทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระเหมือนก่อนนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ผ่อนคลายกฎอัยการศึกแล้วเพื่อคลายความกดดัน โดยให้แก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่สถานที่ชุมนุมต้องไม่ใช่ที่สาธารณะ
ครม.สั่งปรับปรุงร่างนโยบาย
เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 17 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม. โดยมีวาระสำคัญหลายเรื่อง ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบายรัฐบาล โดยได้เสนอให้ปรับแก้จากร่างเบื้องต้น เพราะบางกระทรวงยังไม่ได้ส่งข้อความสำคัญที่จะต้องรวมอยู่ในคำแถลงนโยบาย จึงจำเป็นต้องปรับ แล้วนำเข้าพิจารณาใน ครม.อีกครั้ง ในวันที่ 24 ต.ค. สาระสำคัญของนโยบายจะครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะทำภายใน 1 ปี โดยในส่วนของการเมืองจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลอยากรับข้อคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อสำคัญ 3 เรื่องคือ 1. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ 2. แนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม 3. แนวคิดที่จะปรับปรุงการศึกษา เพื่อนำคุณธรรมเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นให้มากที่สุด
มีมติผ่อนคลายกฎอัยการศึก
พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 เรื่องยังติดประเด็นในเรื่องของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ซึ่งมติที่ประชุม ครม.เห็นว่า การที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สถานที่ที่จะประชุม และสามารถประชุมกันเกินกว่า 5 คนได้ โดยตนจะนำเรื่องนี้ไปประชุมในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และจะขอปรับแก้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาด้วย จากนั้นจะนำเรื่องที่แก้ไขเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า คมช.เห็นด้วยในหลักการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และใช้สถานที่ชุมนุมพบปะเจรจากัน โดยไม่ได้ใช้สถานที่สาธารณะ หมายถึงว่าใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัย สถานที่ที่เป็นหอประชุม สถานที่ที่สามารถจัดการประชุมได้ หรือถ้าทำในพื้นที่ที่เป็นพรรคการเมือง ก็เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ แต่การหารือตามท้องถนนในพื้นที่ต่างๆนั้นอย่าเพิ่งไปทำ คืออยากให้ทำในลักษณะที่เป็นการดำเนินการในเชิงสร้างสรรค์ที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหาเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า บทลงโทษคืออะไรถ้าไม่ปฏิบัติตาม พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คงเป็นเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กฎอัยการศึกยังประกาศอยู่ คมช.ก็มีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้เช่นกัน
ต่อข้อถามว่า แสดงว่า ครม.และ คมช.ประเมินแล้วว่าจะไม่มีการก่อกวนหรือคลื่นใต้น้ำแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า มิได้ เราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่า คืออยากรับฟังข้อคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลักในนโยบายด้านการเมืองเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าไปพิจารณาดูแล้ว ใครมีข้อคิดเห็นอะไรที่อยากให้รัฐบาลช่วยปรับแก้ เรายินดีที่จะนำไปพิจารณา เมื่อถามว่า การผ่อนปรนประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 จะทำให้ต่างประเทศมองไทยในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ผมไม่ได้มองเรื่องต่างประเทศ แต่มองว่าพี่น้องประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกที่สุดในความคิดเห็นของผม