ผ่อนอัยการศึก ประชุมพรรคได้

"ผ่อนอัยการศึก"


หลังจากพรรคการเมืองและกลุ่มพลังมวลชนต่างๆออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อจะได้มีโอกาสทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระเหมือนก่อนนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ผ่อนคลายกฎอัยการศึกแล้วเพื่อคลายความกดดัน โดยให้แก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่สถานที่ชุมนุมต้องไม่ใช่ที่สาธารณะ

ครม.สั่งปรับปรุงร่างนโยบาย

เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 17 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม. โดยมีวาระสำคัญหลายเรื่อง ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบายรัฐบาล โดยได้เสนอให้ปรับแก้จากร่างเบื้องต้น เพราะบางกระทรวงยังไม่ได้ส่งข้อความสำคัญที่จะต้องรวมอยู่ในคำแถลงนโยบาย จึงจำเป็นต้องปรับ แล้วนำเข้าพิจารณาใน ครม.อีกครั้ง ในวันที่ 24 ต.ค. สาระสำคัญของนโยบายจะครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะทำภายใน 1 ปี โดยในส่วนของการเมืองจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลอยากรับข้อคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อสำคัญ 3 เรื่องคือ 1. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ 2. แนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม 3. แนวคิดที่จะปรับปรุงการศึกษา เพื่อนำคุณธรรมเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นให้มากที่สุด

มีมติผ่อนคลายกฎอัยการศึก

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 เรื่องยังติดประเด็นในเรื่องของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ซึ่งมติที่ประชุม ครม.เห็นว่า การที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สถานที่ที่จะประชุม และสามารถประชุมกันเกินกว่า 5 คนได้ โดยตนจะนำเรื่องนี้ไปประชุมในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และจะขอปรับแก้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาด้วย จากนั้นจะนำเรื่องที่แก้ไขเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า คมช.เห็นด้วยในหลักการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และใช้สถานที่ชุมนุมพบปะเจรจากัน โดยไม่ได้ใช้สถานที่สาธารณะ หมายถึงว่าใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัย สถานที่ที่เป็นหอประชุม สถานที่ที่สามารถจัดการประชุมได้ หรือถ้าทำในพื้นที่ที่เป็นพรรคการเมือง ก็เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ แต่การหารือตามท้องถนนในพื้นที่ต่างๆนั้นอย่าเพิ่งไปทำ คืออยากให้ทำในลักษณะที่เป็นการดำเนินการในเชิงสร้างสรรค์ที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหาเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า บทลงโทษคืออะไรถ้าไม่ปฏิบัติตาม พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คงเป็นเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กฎอัยการศึกยังประกาศอยู่ คมช.ก็มีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้เช่นกัน

ต่อข้อถามว่า แสดงว่า ครม.และ คมช.ประเมินแล้วว่าจะไม่มีการก่อกวนหรือคลื่นใต้น้ำแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า มิได้ เราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่า คืออยากรับฟังข้อคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลักในนโยบายด้านการเมืองเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าไปพิจารณาดูแล้ว ใครมีข้อคิดเห็นอะไรที่อยากให้รัฐบาลช่วยปรับแก้ เรายินดีที่จะนำไปพิจารณา เมื่อถามว่า การผ่อนปรนประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 จะทำให้ต่างประเทศมองไทยในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ผมไม่ได้มองเรื่องต่างประเทศ แต่มองว่าพี่น้องประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกที่สุดในความคิดเห็นของผม

บอกเป็นนัยยังหวั่นเชื้อปะทุ


ผู้สื่อข่าวถามว่า การหารือกับ คมช.ในการยกเลิกกฎอัยการศึกจะมีขึ้นเมื่อไหร่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่ทราบ คงจะต้องมีการหารือกันต่อไป เพราะสถานการณ์จะเป็นเครื่องกำหนดว่าควรจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อไหร่ อย่างไร เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่พูดถึงหมายความว่าอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คิดว่านักข่าวก็พอจะทราบว่ามีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง

ต่อข้อถามว่า ยังคงยืนยันหรือไม่ว่าตราบใดที่กฎอัยการศึกยังไม่ยกเลิก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เกี่ยวกับกฎอัยการศึก แต่อยู่ที่การพูดจาทำความเข้าใจกันมากกว่า

งบฯ ปี 50 คลอดต้นปีหน้า

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังได้ หารือถึงกรอบงบประมาณปี 2550 โดยได้ปรับแก้แนว ความคิดให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้ หารือในเบื้องต้นไปแล้ว เพราะในกรอบการตั้งงบประมาณเดิมนั้นเป็นกรอบที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนบ้าง โดยจะดำเนินการให้สำเร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะต้องนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2550 ตามที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงไว้

มอบ สนธิ ช่วยคุม กอ.รมน.

ภายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น พล.อ.สุรยุทธ์ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมี รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย รมว.ต่างประเทศ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม หลังการหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องการขอกลับมาประเทศ ไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่จะนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้งหลังจากที่ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ส่วนเรื่องกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะประธาน คมช. จะเป็นผู้ดูแลแทน พล.อ.สุรยุทธ์ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.

วิษณุ หนุนรอเหตุการณ์สงบ


นายวิษณุ เครืองาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีการประสานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยว่า เรื่องนี้รัฐบาลและ คมช.ดูแลอยู่แล้ว ไม่ควรพูดกันมาก แต่หากจะพูดถึงสิทธิทางรัฐธรรมนูญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ในฐานะที่เป็นคนไทย แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่เขียน แต่มาตรา 38 ที่ระบุถึงประเพณีการปกครอง คำปรารภที่พูดถึงสิทธิใดที่เคยมีอยู่และสิทธิใดที่เป็นพันธะตามสหประชาชาติ ก็แสดงว่าสิทธิยังมี แต่ความเหมาะสม ความควร ความรู้จักกาลเทศะ ความเสียสละ และความที่จะไม่เอาตัวเป็นผู้เสี่ยงภัย เพราะภัย อันตรายอาจจะเกิดมีโดยที่เราคาดไม่ถึง คิดว่าใครก็คงจะต้องคิดคล้ายๆกันว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน เวลานี้ถ้าทุกคนต่างคิดจะมากเรื่อง ผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศมีอยู่ 2 ฝ่ายคือ ครม.และ คมช.คงจะเป็นผู้คิด และใช้วิธีประสานที่นิ่มนวล แต่ที่จะลุกขึ้นบอกว่าห้ามเข้า ก็คงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากจะบอกว่าให้เข้ามาได้ ก็พูดเหมือนไม่รับผิดชอบกับความสงบหรือไม่สงบที่พึงจะเกิด เขาต้องประเมินเหตุการณ์ก่อน

แถลงนโยบายรัฐบาล 27 ต.ค.

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบหลักการร่างนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ประกอบด้วย 4 ด้าน หลักคือ นโยบายด้านการปฏิรูปการเมืองและการบริหาร นโยบายด้านเศรษฐกิจ นโยบายสร้างสังคมสมานฉันท์ และนโยบายรักษาความมั่นคงของรัฐ แต่ได้ให้รัฐมนตรีที่ต้องการ นำเสนอนโยบายที่ตัวเองรับผิดชอบเสนอเพิ่มเติมมาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่าง นโยบายรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากได้ข้อสรุปแล้วไม่ต้องเสนอ กลับเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีก แต่จะนำเสนอให้นายกฯลงนาม ให้ความเห็นชอบเพื่อส่งต่อไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ได้กำหนดไว้แล้วว่านายกฯจะแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 27 ต.ค.นี้

เผยไต๋ขออยู่ยาว 1 ปี 5 เดือน

นายธีรภัทร์กล่าวด้วยว่า ถ้าสื่อมวลชนไปไล่เรียงดูในรัฐธรรมนูญชั่วคราวถึงการดำเนินงานองค์กรต่างๆเช่น การจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติจนเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมาตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และต้องนำไปทำประชาพิจารณ์และจัดทำเป็นตัวร่างขึ้นมา ก่อนนำไปลงประชามติ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องมาจัดทำร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญและเท่าที่จำเป็น จนมาเป็น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รวมไปถึงการจัดเตรียมการเลือกตั้ง ของ กกต. รัฐบาลชุดนี้ก็คงจะมีอายุ 1 ปี 5 เดือน ไม่ใช่ 1 ปี แต่ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินภารกิจของตัวเองได้เร็ว ก็คงจะจัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น

เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้จะไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯเคยรับปากกับทูตนานาประเทศว่าจะเร่งจัดการเลือกตั้งให้ได้เร็วกว่า 1 ปีหรือ นายธีรภัทร์กล่าวว่า ไม่ทราบ ว่านายกฯพูดอย่างไร เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะมาสงสัยกันว่าทำไมครบ 1 ปีแล้ว รัฐบาลจึงยังไม่หมดวาระลง

เปิดร่างนโยบาย ครม.สุรยุทธ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ ครม.เห็นชอบในหลักการแล้วนั้น เป็นร่างนโยบายที่สั้น กระชับ มีเพียง 9 หน้า โดย บทแรกเป็นการชี้แจงเหตุผลของการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และนโยบายด้านสำคัญ อาทิ นโยบายการปฏิรูปการเมือง การบริหาร ประกอบด้วย การสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อการปฏิรูปการเมือง เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เสริมสร้างมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งภาคการเมืองและภาคราชการ ส่งเสริมองค์กรอิสระ และ ประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชัน รวมทั้งป้องกัน การกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน จัดทำแผนแม่บท พัฒนาการเมืองที่เสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทาง การเมือง โดยจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองให้เป็นองค์กรหลัก ในการจัดทำและดำเนินการให้แผนแม่บทพัฒนาการเมือง ประสบความสำเร็จ

ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นโยบายเศรษฐกิจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากแก้ว เศรษฐกิจระบบ ตลาด และเศรษฐกิจส่วนรวม โดยใช้หลักคุณธรรมและการสร้างความเป็นธรรมในภาคเศรษฐกิจ ขจัดการดำเนินการ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและการแสวงหาผลประโยชน์ โดย จะมีรายละเอียดการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายใน 3 เดือน จะจัดทำแผนแม่บท โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาขึ้นให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ผนึกกำลังรักษาความมั่นคง

นโยบายสร้างสังคมสมานฉันท์ ส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ ให้เกิดความร่วมมือกันในการกอบกู้และฟื้นฟูประเทศชาติในทุกด้าน โดยสรุปบทเรียนจากปัญหาความแตกแยกร้าวฉานและความล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอดีต พร้อมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ตัวอย่างของความร่วมมือที่ดีและมีความสุขของทุกชุมชนอย่างต่อเนื่อง สืบสานวัฒนธรรมจารีตประเพณีที่ดีงาม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันเครือญาติ เพื่อสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์

นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐ จะส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาควิชาการ เพื่อการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติ และนำไปสู่การระดมสรรพกำลัง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกองทัพให้เพียงพอและทันเวลาในเวลาไม่ปกติ ทั้งนี้ ในยามปกติรัฐบาลจะเสริมสร้างและใช้ศักยภาพของกองทัพสนับสนุนการพัฒนาพลังอำนาจของชาติทุกด้าน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงและมั่งคั่งภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายต่างประเทศจะเน้นเชิงรุกในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการปรองดองและความมั่นคงในชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขสถานการณ์ในภาคใต้

วปอ.48 เสนอยุทธศาสตร์ชาติ


พล.ท.ภาณุมาศ สีวะรา ผู้บัญชาการสถาบันทหารบกชั้นสูง (ผบ.สบส.) ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายวิชาการ นศ.วปอ. รุ่น 48 กล่าวว่า นักศึกษา วปอ. รุ่น 48 ได้เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภา วปอ. ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ซึ่งต้องทำเป็นแผนระยะยาว 10 ปี เพราะประเทศไทยถึงวิกฤติของความสมานฉันท์ อันเป็นผลจากการเมือง ที่ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายและการแข่งขันทางการเมืองกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในแผนได้เสนอให้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแบบแผนและต่อเนื่องในหลายด้าน เช่น ตั้งแต่วัยเด็กที่มีการส่งเสริมการรักชาติ ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ การสมานฉันท์ ความสามัคคี การศึกษาพุทธศาสนาแบบวิถีพุทธ การสอนคุณธรรมและจริยธรรม การสร้างค่านิยมไทย การอดออม ในส่วนของการเมืองภายในประเทศ ได้มีข้อเสนอให้นักการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าพรรคและพวกพ้อง อย่าเล่นการเมืองกันแบบ เอาเป็นเอาตาย แบ่งพรรคแบ่งพวก โดยเริ่มตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่น

หม่อมอุ๋ย รักษาการนายกฯลำดับ 1

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 190/2549 เรื่องมอบหมายให้รองนายกฯรักษาราชการแทนนายกฯ และมอบหมายให้รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนกัน โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า กรณีที่นายกฯไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกฯเป็นผู้รักษาราชการแทนดังนี้ ลำดับที่ 1 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ลำดับที่ 2 นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แต่ระหว่างรักษาราชการแทน หากจะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติ งบประมาณต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯก่อน

ออกคำสั่งแบ่งงานรองนายกฯ

ร.อ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 191/2549 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯปฏิบัติราชการแทนนายกฯ โดยมอบให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกำกับการบริหารราชการของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกำกับสำนักงบประมาณ นายโฆสิตกำกับการบริหารราชการของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คุณหญิงทิพาวดีกำกับการบริหารของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ นายธีรภัทร์กำกับการบริหารของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ทรท.ดี๊ด๊าเตรียมตีปี๊บผลงานเก่า


ด้านความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองหลังทราบมติ ครม.ผ่อนปรนกฎอัยการศึกนั้น บ่ายวันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรค และทีมงานโฆษกพรรค ได้ร่วมหารือกำหนดทิศทางการทำงาน โดยนายภิมุข สิมะโรจน์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทย เปิดเผยหลังประชุมว่า พรรคมีกรอบภารกิจเร่งด่วน 2 เรื่องคือ 1. ประคับประคองความเป็นสถาบันการเมืองให้ได้ 2. ต้องเดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในส่วนที่พรรคพอทำได้ในช่วงนี้ ทั้ง 2 เรื่องถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค ทีมงานโฆษกจึงต้องทำหน้าที่ในจุดนี้ให้ดี โดยนายจาตุรนต์เน้นให้พูดเรื่องหลักการให้มาก รวมทั้งจุดยืนและแนวคิดพรรค เพราะที่ผ่านมาสมาชิกพรรครวมทั้งประชาชนยังพอจำแนวคิดและอุดมการณ์ตอนตั้งพรรคได้ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างพรรคไทยรักไทยกับพรรคอื่นในแง่การนำเสนอนโยบาย แต่ช่วงหลังเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่ประเด็นความขัดแย้ง ทำให้การสื่อสารในเรื่องนั้นหายไป วันนี้หากเราควรกลับมาพูดเรื่องจุดยืนและนโยบายของพรรคอีกครั้ง เชื่อมั่นว่าสมาชิกและประชาชนน่าจะพร้อมให้โอกาสพรรคในการทำงานต่อไปในอนาคต

ขอโอกาสให้ ทักษิณ กลับไทย

นายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ ครม. และ คมช.ยังไม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกว่า อยากเรียกร้องให้ ครม. และ คมช. ทบทวนเรื่องนี้ เพราะถึงเวลาแล้วที่ควรจะยกเลิก เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ วันนี้ทุกพรรคการเมืองก็ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง ไม่คิดก่อความไม่สงบหรือซ่องสุมกำลังเป็นคลื่นใต้น้ำ ยืนยันว่าพรรคไทยรักไทยไม่มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว และประชาชนก็เข้าใจว่าเกิดเงื่อนไขใหม่แล้วต้องปฏิบัติ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รู้สึกไม่พอใจที่ถูกควบคุมจนเกือบจะเลยความพอดี ส่วนกรณีที่ คมช.ยังไม่อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงนี้ เพราะเกรงจะเกิดความวุ่นวายนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไทยคนหนึ่ง และไม่ได้เป็นอาชญากร จึงมีสิทธิกลับประเทศไทย ไม่ต้องกลัวว่าจะมีแนวร่วม ออกมาเคลื่อนไหวอะไรอีก ในทางตรงข้ามกลับจะเป็นผลดี เพราะประชาชน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทยจะได้มีโอกาสฟังคำชี้แจงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณคงจะปรามไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ถ้ายังห้ามกลับประเทศอาจจะยิ่งเป็นการเพิ่มคลื่นใต้น้ำ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์