"ไม่มีความเห็น ให้ที่ประชุมตัดสิน"
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการสำนักงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เปิดรับการรายงานตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นวันที่สาม โดยตลอดในช่วงเช้าได้มีสมาชิกเดินทางเข้ารายงานตัวอย่างคึกคัก ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญและคนดังเข้ารายงานตัว อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายโคทม อารียา นายพชร ยุติธรรมดำรง พล.อ.ปานเทพ ภูวนาถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นายรังสรรค์ แสงสุข ฯลฯ
น.ต.ประสงค์กล่าวถึงกรณีที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯว่า ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ การเลือกประธานเป็นสิทธิของสมาชิกทุกคนที่จะตัดสินใจโดยอิสระ เราต้องเคารพความคิดเห็นของสมาชิก ทุกอย่างไปชี้นำ ปล่อยให้ที่ประชุมตัดสินใจเอง เมื่อถามว่าหากได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่จะมีความพร้อมหรือไม่ น.ต.ประสงค์กล่าวสั้นๆว่า เอาไว้ให้ถึงตอนนั้นแล้วค่อยพูด ตอนนี้พูดไม่ได้
โคทม ชี้ประธานฯต้องแม่นข้อบังคับ
นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ กล่าวถึงแนวทางในการทำงานว่า จะปรึกษาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯทั้ง 99 คน เพื่อให้เสนอความคิดเห็น เนื่องจากแต่ละคนเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคสังคม ภาคฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็น โดยสะท้อนปัญหาจากภาคส่วนต่างๆเสนอต่อสภานิติบัญญัติ สำหรับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือว่าเป็นผู้มีอาวุโส มีความรู้และประสบการณ์ กว้างขวางมาก แต่ขอสงวนความเห็นไว้ก่อน โดยจะขอดูบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อทั้งหมดก่อน ส่วนที่มีกระแสต่อต้านนายมีชัย ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า เป็นธรรมดาเนื่องจากนายมีชัยมีประวัติการทำงานมายาวนาน มีคนชอบไม่ชอบเป็นธรรมดา ผู้ สื่อข่าวถามต่อว่าเป็นเพราะคนมองว่านายมีชัยเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ซึ่งเชื่อมโยงกับ คมช.ด้วยหรือไม่ นายโคทม กล่าวตอบสั้นๆว่า ไม่คิดเช่นนั้น
พชร ยังไม่ขอแสดงความเห็นอะไร
นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด กล่าวว่า คิดว่าเวลา 1 ปีเพียงพอสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ออกมาบังคับใช้ได้ ส่วนกฎหมายที่นักการเมืองเสนอให้มีการแก้ไขนั้น นายพชรตอบว่า หากจะแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ โดยควรนำเอารัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 เป็นหลักในการพิจารณาโดยพิจารณาประกอบ รวมถึงพิจารณาร่วมกับกฎหมายแม่ที่มีอยู่ก็สามารถทำได้ ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพชรตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครอยู่ในใจ ส่วนที่มีการเสนอชื่อ น.ต.ประสงค์และนายมีชัยยังรู้สึกเฉยๆ อย่างไรก็ดีการเลือกประธานขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่ขอแสดงความเห็นอะไรในขณะนี้
รังสรรค์ ไม่สนเสียงค้านข้างถนน
นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้อ้างเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย มายื่นหนังสือคัดค้านการดำรงตำแหน่งว่า เมื่อดูจากชื่อผู้ที่มาคัดค้านไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไปแล้ว ไม่อยากพูดถึงสาเหตุการเลิกจ้าง ความจริงข้าราชการและบุคลากรของมหาวิทยาลัย รู้สึกภูมิใจที่อธิการบดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คงไม่ต้องชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาอะไร ความจริงหากมีปัญหาอะไรควรมาทักท้วง ไม่ใช่ออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ อย่างไรก็ดี เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่อาจมีคนผิดหวังหรือไม่พอใจ และเจ็บปวดจึงออกมาเคลื่อน ไหวเช่นนี้
มีชัย บ่นน้อยใจที่ถูกรุมต่อต้าน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีคนต่อต้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติฯ รวมทั้งข้อสงสัยเคยรับเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ และเคยช่วยให้อดีตนายกฯให้พ้นผิดว่า ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีที่กล่าวหาว่าไปรับจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ทำกฎหมายเศรษฐกิจนั้น ไม่จริง เคยทำงานวิจัยให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ให้เป็นเขตเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์รับจ้างรัฐบาล ทำกฎหมายเมืองสุวรรณภูมิ ต่างกันตรงที่อาจารย์รับจ้างรัฐบาลโดยตรง ส่วนตนรับจ้างนิคมอุตสาหกรรมฯ จำนวนเงินก็เหมือนกัน ใหม่ๆก็ว่า 10 ล้านบาท ต่อมาก็เพิ่มเป็น 15 ล้านบาท มาถึงปัจจุบัน กลายเป็น 20 ล้านบาท ยังไม่รู้ว่า กว่าจะจบเรื่องจะกลายเป็นกี่ล้านบาท ยอมรับว่าเคยเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย สมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯสมัยแรก ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 525 บาท แต่การเป็นประธานได้ระยะเดียว พ.ต.ท.ทักษิณก็ยกเลิก ตั้งใหม่โดยมีตัวเขาเองเป็นประธาน ความผูกพันก็มีอยู่เท่านั้น แต่มาบัดนี้ทำไมกลายเป็นว่าเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณไปได้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ฟังเขาต่อต้านแล้วก็อนาถใจไม่น้อย