คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติให้นำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์กว่า 46,000 ล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาเพราะมีคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนไว้หลายคดี
ในจำนวนคดีเหล่านี้ มีคดีที่กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 1 สมัย และ ส.ส. 2 สมัย รวม 13 ครั้ง สามารถเอาผิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทุกครั้งและมีประเด็นปัญหาเรื่องอายุความหรือไม่
เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อ จงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือเมื่อครบกำหนดต้องยื่นแสดงแต่ไม่ยื่น และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
ดังนั้น การจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จในช่วงปี 2544-2549 จึงมีอายุความ 5 ปี โอกาสที่จะเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องนี้จึงน่าทำได้เฉพาะการยื่นพ้นจากตำแหน่งนายกฯเมื่อกันยายนปี 2549 และกันยายน 2550 เพียง 2 ครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นว่า ศาลฎีกาฯใช้เหตุผลอะไรในการวินิจฉัยด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นหรือ"ซุกหุ้น"บริษัทชินคอร์ปจำนวน 1,419 ล้านหุ้น " จึงขอนำคำพิพากษาดังกล่าวมาวิเคราะห์เห็นประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
ประเด็นแรก การโอนหุ้นระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานไปยังบุตรและเครือญาติซึ่งรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ตามแบบ 246-2 ไม่ใช่หลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้น
การพิจารณาว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีพฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน กับนายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ 1.มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป 2. การโอนหุ้นระหว่างกัน และ3.การถือครองหุ้นตั้งแต่มีการโอนจนขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็ก เป็นสำคัญ
ประเด็นที่สอง การซื้อหุ้นเพิ่มทุน การโอนหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานให้แก่ บุตรและเครือญาติ ใช้เงินของคุณหญิงพจมานซื้อ และไม่มีการจ่ายเงินกันจริง แต่ผู้รับโอนหุ้นออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นประกันหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวและอ้างว่า ทยอยชำระหนี้จากเงินปันผลหุ้นซึ่งบริษัทเริ่มจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ปี 2546(งดจ่ายมาตั้งแต่ปี 2540) ซึ่งแต่ละกรณีพิรุธที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1.กรณีนายบรรณพจน์ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ป เมื่อปี 2542 จำนวน 6.8 ล้านหุ้นเศษ ราคาหุ้นละ 15 บาท เป็นเงิน 102 ล้านบาทเศษ โดยอ้างว่า ยืมเงินเงินจากคุณหญิงพจมาน ทั้งๆที่นายบรรณพจน์มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายบรณณพจน์ออกให้ระบุว่า "ไม่มีดอกเบี้ยกลับทำให้เห็นเป็นพิรุธ"
นอกจากนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 ก่อนที่นางพจมานจะได้"คุณหญิง" เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2542 แต่กลับใช้คำว่าสั่งจ่าย"คุณหญิงพจนมาน"
ข้ออ้างที่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินหายฉบับเดิมหาย จึงออกฉบับใหม่เมื่อปลายปี 2543 นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะ ตั๋วสัญญาใช้เงินมีหลายฉบับ แต่กลับหายไปเกิดข้อพิรุธฉบับเดียว
คุณหญิงพจมานโอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 26.8 ล้านหุ้นให้อีกเมื่อวันที่ 1 กันายน 2543 มูลค่า 268 ล้านบาทเศษ ขณะที่นายบรณรพจน์ มีทรัพย์สินอาจจะถึง 1,000 ล้านบาท กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 268.2 ล้านบาท ให้โดยไม่มีดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่า ชำระหนี้เงินยืมไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน
2.กรณีนายพานทองแท้ รับโอนหุ้นชินคอร์ป ในราคาพาร์ 10 บาทจากพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน30,900,000 หุ้น และ 42,475,000 หุ้น รวม 73,395,000 หุ้น โดยนายพานทองแท้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ๆว้เป็นประกัน ซึ่งจำนวนหุ้นที่รับโอนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24.99 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
เห็นได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จะโอนหุ้นให้มากกว่านี้ จะทำให้นายพานทองแท้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 ขึ้นไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 247 บัญญัติ ให้ถือว่า เป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะกำหนดให้จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ออฟเฟอร์)ก็ได้