ลูกป๋า-พันธมิตรฯตบเท้า "เติ้ง"ชม-ทรท.จวกโบนัส มีชัย-ชัยอนันต์เต็งนั่งปธ.
โปรดเกล้าฯแล้ว 242 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยยังตั้งไม่ครบจำนวนที่รธน.ชั่วคราวกำหนดไว้ไม่เกิน 250 คน ลูกป๋า-เครือข่ายพันธมิตรฯ-ทหารมากันพรึบ ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองได้แค่พรรคละคน ดารารุ่นเก๋า"สมบัติ เมทะนี"มีชื่อด้วย เผยตัวเก็งประธานสภา "มีชัย ฤชุพันธุ์-ชัยอนันต์ สมุทวณิช" สุรพล นิติไกรพจน์ ปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งประธาน "บิ๊กสงค์"มีชื่อโผล่ชิงด้วย เลขาธิการครม.ทูลเกล้าฯแล้วพ.ร.ฎ.เปิดสภา คาดวันที่ 18-20 ต.ค.นี้ ด้าน"สุรยุทธ์"เปิดทำเนียบชี้แจงทูตนานาประเทศสาเหตุปฏิวัติ ยืนยันจะบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส สานต่อนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลเก่าทำไว้ สหรัฐ-อียูยังจี้ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เตรียมลงพื้นที่ 2 จังหวัดอีสานวันนี้ ประเดิม"สกลนคร-บุรีรัมย์" พบปะผู้นำชุมชน
โปรดเกล้าฯตั้งสภานิติบัญญัติ
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จำนวน 242 คน จากจำนวน 250 คน โดยมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมด้วย แยกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ตัวแทนจากภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนระดับ 11 จำนวน 17 คน ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ จำนวน 12 คน ข้าราชการทหาร 35 คน ข้าราชการตำรวจ 7 คน ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 8 คน
2.ตัวแทนจากภาคเอกชน ประกอบด้วยภาคธุรกิจ ธนาคาร และสถาบันการเงิน 6 คน ภาคธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม บริการ ขนส่ง ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ 19 คน ภาคธุรกิจทั่วไป 11 คน ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ 7 คน 3.ตัวแทนจากภาคสังคม ประกอบด้วยพรรคการเมือง 4 คน นักวิชาการด้านปรัชญา ภาษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 11 คน สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน 20 คน ข้าราชการบำนาญผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ 43 คน การพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมคุณธรรม องค์กรแรงงาน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ 13 คน 4.ตัวแทนจากภาควิชาการ ประกอบด้วยอธิการบดี อาจารย์ นักการศึกษา นักวิจัย นักวิชาการด้านต่าง ๆ และจากภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 29 คน
ตัวแทนภาคราชการแน่นเอี้ยด
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ที่มีจำนวนไม่ครบ 250 คน ทางพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้เหตุผลในบันทึกรายละเอียดแนบท้ายการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เนื่องจากในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี โดยสภานิติบัญญัติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา นอกจากนี้ทางประธานคมช.ยังให้เหตุผลในข้อ 3 ของบันทึกรายละเอียดด้วยว่าสำหรับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ไม่ได้รับการสรรหาในคราวนี้จะได้พิจารณาเสนอรายชื่อเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่อไป
สำหรับตัวแทนข้าราชการพลเรือนระดับ 11 หรือเทียบเท่า อาทิ นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นายการุณ กิตติสถาพร นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล เป็นต้น
ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ และข้าราชการอัยการ อาทิ นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ข้าราชการทหาร อาทิ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ พล.อ.องค์กร ทองประสม เป็นต้น
ข้าราชการตำรวจ อาทิ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นต้น
ตัวแทนพรรคการเมืองแค่ 4 คน
ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาทิ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายภราเดช พยัฆวิเชียร
ส่วนตัวแทนภาคเอกชน ในส่วนที่มาจากธุรกิจธนาคาร และสถาบันการเงิน อาทิ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม นายชาติศิริ โสภณพนิช ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม บริการ ขนส่ง ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ อาทิ นายวีรพงษ์ รามางกูร นายวัชระ พรรณเชษฐ์ นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ธุรกิจทั่วไป อาทิ นายชัชวาล อภิบาลศรี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี
ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายประพันธ์ คูณมี นายไพศาล พืชมงคล
ตัวแทนภาคสังคม ในส่วนพรรคการเมือง ประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองใหญ่ ประกอบด้วย นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา พรรคชาติไทย นายพินิจ จารุสมบัติ พรรคไทยรักไทย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ พรรคประชาธิปัตย์ และนายอรรคพล สรสุชาติ พรรคมหาชน
นักวิชาการด้านปรัชญา ศาสนา ภาษา และศิลปวัฒนธรรม อาทิ นายอิสมาแอล ลุทฟี จะปะกียา นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก นายวินัย สะมิอุน นายแว ดือ ราแม มะมิงจิ