ให้ศาลปค.รับฟ้อง ถอนสัมปทานชิน

"ขอให้ยกเลิกสัปทาน"


ตามที่นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ทั้งฉบับ ให้กระทรวงคมนาคมยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งฉบับ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทั้งฉบับ โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่านายศาสตราไม่ใช่คู่สัญญาสัมปทาน จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี ต่อมานายศาสตรา ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า หน่วยงานราชการทั้ง 3 แห่งละเลยต่อ หน้าที่ ไม่ดำเนินการยกเลิกสัมปทานกับบริษัทดังกล่าวนั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 สำนักงานศาลปกครอง ถนนสาทร นายสมภพ ผ่องสว่าง ตุลาการศาลปกครอง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หมายเลขคดีดำที่ 465/2549 หมายเลขคดีแดงที่ 348/2549 ของศาลปกครองกลาง คดีที่นายศาสตรายื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า นายศาสตรา ในฐานะประชาชนผู้มีสัญชาติไทย ใช้บริการโทรศัพท์ มือถือของบริษัทเอไอเอส และเป็นผู้บริโภคข่าวสารผ่านดาวเทียมของบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)

"ละเลยการปฏิบัติหน้าที่"


จึงทำให้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ ทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้น ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัททั้ง 3 แห่ง ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการสัมปทานจากรัฐ และเป็นสัญญาทางปกครองในรูปแบบของสัญญาสัมปทานตามมาตรา 3 พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง การทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ และแม้ว่าหุ้นจะถืออยู่โดยบุคคลที่มีสัญชาติไทย คือบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ตาม

แต่กรณีนี้ผู้ถือหุ้นจริงส่วนใหญ่กลับเป็นนิติบุคคลสัญชาติสิงคโปร์ ส่งผลให้เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งกรรมการในบริษัท จำกัด (มหาชน) ทำให้กลุ่มทุนเทมาเส็กสามารถกำหนดทิศทางการบริหารบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกิจการคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ได้ ดังนั้น การทำสัญญาโอนหุ้น จึงมีผลกระทบต่อสัญญาต่างๆที่ทั้ง 3 บริษัทได้รับจากรัฐ โดยให้อำนาจทุนต่างชาติเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารคลื่นความถี่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่กำหนดให้เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อสาธารณะ นอกจากนี้ บริษัท ไอทีวียังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอีกด้วย

"ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์"


การโอนหุ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทรวงเทคโนโลยีฯ กระทรวงคมนาคม และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบและยกเลิกสัญญาสัมปทาน ตามมาตรา 40 กฎหมายรัฐธรรมนูญ และในกรณีของบริษัทไอทีวี ที่มีการละเลยตามมาตรา 39 วรรค 5 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งการใช้อำนาจในการยกเลิกสัญญาสัมปทานถือเป็นอำนาจมหาชน หรือเอกสิทธิ์ที่หน่วยงานของรัฐมีอยู่เหนือเอกชน แต่หน่วยงานทั้ง 3 ของรัฐ หาได้ใช้เอกสิทธิ์หรืออำนาจมหาชน กลับปล่อยให้นิติบุคคลเอกชนดำเนินการต่างๆบนพื้นฐานผลประโยชน์ของมหาชน เป็นการขัดกับกฎหมายยมหาชนอย่างร้ายแรง

ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายศาสตราผู้ฟ้องคดี เป็นส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้บริการจากการดำเนินการของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว แม้จะไม่ปรากฏว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายในขณะหรือก่อนฟ้องคดีนี้ แต่สัมปทานที่ทั้ง 3 บริษัทรับไปเพื่อดำเนินการสื่อสารนั้นมีโอกาสล่วงรู้ความลับเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารของผู้ใช้บริการ หากกิจการดังกล่าวตกไปอยู่ในอำนาจบริหารของบุคคลต่างด้าว

"ศาลรับฟ้องแล้ว"


อาจก่อให้ เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหาย และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ นายศาสตรา ผู้ฟ้องคดี จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานราชการทั้ง 3 ดังกล่าว จึงเป็นคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจรับไว้พิจารณาหรือมีคำสั่งตามมาตรา 9 วรรค 1 (2) พ.ร.บ.ศาลปกครอง จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการตามรูปคดี

ภายหลังรับฟังคำสั่งศาลปกครองเสร็จสิ้น นายศาสตรา เปิดเผยว่า ศาลรับฟ้องในฐานะที่หน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นฯ ให้กับคนต่างด้าว เป็นการทำสัญญาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยการทำธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ดังนั้น การโอนให้กับต่างชาติไปก็ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติอย่างแน่นอน อย่างไร ก็ตาม ศาลได้เตือนไว้ว่า เวลาให้สัมภาษณ์จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้ละเมิดอำนาจศาล ในการฟ้องครั้งนี้ยื่นฟ้องเฉพาะ ประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น และจะฟ้องเพิ่มเติมในรายละเอียดข้อกฎหมายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

"ยังไม่ทราบรายละเอียดการฟ้อง"


สำหรับปฏิกิริยาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อคำสั่งฟ้องของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดกรณีถูกฟ้อง ดังนั้นคงต้องรอดูรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนสำนักงานอวกาศที่ดูแลสัญญาสัมปทานดาวเทียม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือและเตรียมข้อมูลเอกสารทุกด้านอีกครั้ง เพื่อเตรียมข้อมูลให้กับศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม คงต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของศาลปกครองว่าจะพิจารณาอย่างไร

พล.อ.ท.สมชาย เธียรอนันต์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบประเด็นที่ชัดเจนกรณีถูกฟ้อง คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทีโอทีตรวจสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือระหว่างทีโอทีกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เรียบร้อยแล้ว ไม่พบว่าผิดสัญญาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องสถานะการถือหุ้นนั้น คงต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงพาณิชย์ว่าจะชี้ชัดอย่างไร หากชี้ชัดมาว่าผิด ทางทีโอทีก็พร้อมปฏิบัติตามทันที สำหรับผู้รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือภายใต้ทีโอที คือ เอไอเอส ส่วนสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)

"ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์"


ถึงแม้จะมีการยึดคืนสัมปทาน หรือให้ยกเลิกสัมปทาน ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อทีโอที เพราะปัจจุบันทีโอทีเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบและเสียหายต่อภาพพจน์ของทีโอที อย่างไรก็ตาม คงต้องตรวจสอบข้อมูลการฟ้องให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งทีโอทีพร้อมตอบคำถามทุกประเด็น พล.อ.ท.สมชายกล่าว

ด้านนายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ทราบรายละเอียดของการถูกฟ้อง อย่างไรก็ตาม จะระดมนักกฎหมายของ กสท มาตรวจสอบสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือของทุกรายอย่างละเอียดอีกครั้ง สำหรับสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่อยู่ภายใต้สัมปทานของ กสท ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) หรือจีเอสเอ็มระบบ 1800 ในเครือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด

ส่วนนายวิเชียร เฆมตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการถูกฟ้องเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น ซึ่งในฐานะเอไอเอสเป็นผู้ปฏิบัติงาน และที่ผ่านมาเอไอเอสไม่ได้ทำผิดสัญญาอะไร ดังนั้นคงต้องทำงานต่อไป ส่วนการพิจารณาคดีก็คงเป็นเรื่องของศาลปกครอง คงไม่สามารถ แสดงความคิดเห็นได้

"ตลาดหลักทรัพย์"


ด้านตลาดหลักทรัพย์ นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ตลาดหลักทรัพย์คงจะไม่ทำอะไรในขณะนี้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล แต่ต้องติดตามดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อในกระบวนการของศาลว่าจะมีการพิจารณาข้อมูลในทุกๆด้านอย่างครบถ้วนและรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มชินคอร์ปที่รับสัมปทานปรากฏว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงทันที โดยราคาหุ้นชินคอร์ปลงมาต่ำสุดที่ 28.75 บาท แอดวานซ์ลงมาที่ 87 บาท ลดลง 1.50 บาท ไอทีวี ปรับตัวลงมาที่ 2.82 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง และหุ้นชินแซทเทลไลท์ปรับลงมาที่ 6.70 บาท ลดลง 0.45 บาท แต่อย่างไรก็ตาม มีแรงซื้อกลับเข้ามาช่วยดันราคาหุ้นให้ขยับขึ้นมาปิดในแดนบวกได้ทั้งหมด ยกเว้นหุ้นแอดวานซ์ที่ปรับตัวลง 1 บาท มาปิดที่ 87.50 บาท

ทั้งนี้ นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาหุ้นชินแซทเทลไลท์และไอทีวีปรับขึ้นมาได้ เพราะปัจจุบันราคาหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ ถูกกดราคาลงมาต่ำมาก โดยเฉพาะไอทีวีได้รับข่าวร้ายเรื่องการถูกค่าปรับจากการปรับผังรายการ ซึ่งเป็นข่าวร้ายที่ร้ายแรงมากเกินไปแล้ว ขณะที่ชินแซทเทลไลท์ราคาถูกลงมาก ขณะที่ผลประกอบการยังดีอยู่ ส่วนหุ้นแอดวานซ์ ที่ปรับตัวลงเพราะมีผลกระทบจากจำนวนผู้ใช้บริการใหม่ที่ลดลง และยังต้องเผชิญกับสงครามราคาที่รุนแรงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ นครหลวงไทยแนะให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องนี้ตัวบริษัทไม่ได้ผิดและไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาอยู่ที่ผู้ถือหุ้น จึงประเมินระยะยาวอาจจะมีทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าการยึดสัมปทาน โดยอาจมีการให้แก้โครงสร้างการถือหุ้นให้ถูกต้อง เพราะหากยึดสัมปทาน มีผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบในวงกว้างจำนวนมาก เช่น แอดวานซ์ฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังฐานลูกค้าในเครือข่าย 17 ล้านเลขหมาย นายสุกิจกล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์