คมชัดลึก :ป.ป.ช.เตรียมถกมติก.ตร.เลิกโทษ 3 บิ๊กตร. 19 ม.ค.นี้ ชี้รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินดีที่สุด เบรก “สุชาติ-เพิ่มศักดิ์” กลับทำงาน เผยเหตุกฎหมายเขียนให้มติชี้มูลวินัยเป็นที่ยุติ กันซ้ำรอยป.ป.ป.เป็นแค่ “เสือกระดาษ”
(18ม.ค.) น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กลับมติป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.ในคดีสลายม็อบพันธมิตร และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ในคดีผู้ชุมนุมสองกลุ่มปะทะกันที่ จ.อุดรธานี โดย ให้ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์กลับเข้ารับราชการ ว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นสถาบันที่ขัดแย้งกัน น่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยดีที่สุด ในส่วนของป.ป.ช.คงจะต้องมีการคุยกันในการประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่วันที่ 19 ม.ค.นี้ ทราบว่าขณะนี้สำนักงานป.ป.ช.ได้ทำหนังสือ ขอมติก.ตร.ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ทุกอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เป็นการสั่งให้รัฐบาลทำงานตามมติของป.ป.ช.อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเข้าใจ เพียงแต่เราไม่อยากทำงานจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมาย ป.ป.ช.เขียนไว้ว่ามติ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิดทางวินัยเป็นข้อยุติ เหตุใดจึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในมาตรา 92 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดและประพฤติ มิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ที่หลังจากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาหลายหน่วยงานสามารถกลับมติป.ป.ป.ได้ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็น เสือกระดาษ เมื่อป.ป.ป.พัฒนามาเป็นป.ป.ช.จึงมีการบัญญัติมาตราดังกล่าวขึ้นมา เมื่อให้การทำหน้าที่ของป.ป.ช.ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น
เมื่อถามว่าแต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่มีช่องทางอุทธรณ์มติป.ป.ช.ได้เลย
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ผู้ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสามารถอุทธรณ์ได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เช่นเดียวกับกรณีนี้หาก ก.ตร.เห็นว่าควรอุทธรณ์มติป.ป.ช. ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะยื่นคำร้องไปยังศาลปกครอง หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ก.ตร.กลับเปลี่ยนมติป.ป.ช.เสียเองก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะในมาตรา 92 ได้กำหนดข้อยกเว้นให้หน่วยงานที่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอุทธรณ์ มติป.ป.ช.ได้ มีเพียงศาลกับอัยการเท่านั้น ข้าราชการพลเรือนอื่นไม่มีสิทธิกลับมติป.ป.ช.
ส่วนกรณีที่ ก.ตร.มีมติให้ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการทันทีนั้น น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า น่าจะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะงงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากป.ป.ช.เห็นอย่างหนึ่ง ก.ตร.กลับเห็นอีกอย่างหนึ่ง หากนายตำรวจทั้ง 2 คนกลับเข้ารับราชการตาม ก.ตร. แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา จะทำอย่างไร
ป.ป.ช.ถกมติก.ตร.ช่วย3บิ๊กตร.พรุ่งนี้
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!