เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญพิสูจน์มติ ก.ตร.ดันทุรังอุ้ม3นายพลหรือ อภิสิทธิ์ ดื้อตาใส

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญพิสูจน์มติ ก.ตร.ดันทุรังอุ้ม3นายพลหรือ "อภิสิทธิ์" ดื้อตาใส

แม้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 จะยืนยันตามมติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552  ให้ยกเลิกโทษให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดอุดรธานี กรณีที่บุคคลทั้งสามซึ่งถูกลงโทษปลดจากราชการเนื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดอาญาและวินัยร้ายแรง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551(กรณี พล.ต.อ.พัชรวาทและ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว)  และเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. (กรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์)


โดยให้ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าคณะรัฐมนตรีส่งศาลให้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214  เนื่องจากมีติ ก.ตร.(ต้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับ ก.ตร.)และเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญขัดแย้งกับมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ จึงเข้าข่ายความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป


แต่ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันความเห็นเดิมเช่นกันว่า ก.ตร.ไม่สามารถมีมติให้นายตำรวจทั้งสามนายกลับเข้ารับราชการได้เพราะขัดแย้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า  ก.พ.ไม่สามารถมีมติให้อดีตอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กลับเข้ารับราชการได้เพราะขัดแย้งกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ระบุว่า ผิดวินัยร้ายแรงต้องไล่ออกหรือปลดออกเท่านั้น


ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดทางวินัยแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาพิจาณณาลงโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก  และให้ถือรายงานเอกสารและความและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆแล้วแต่กรณี


นอกจากผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้ว การอุทธรณ์การลงโทษดังกล่าว  มาตรา 96 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันยังระบุว่า  อุทธรณ์ได้แค่"ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ"ของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น  กล่าวคือ สามารถอุทธรณ์ให้ลดระดับการลงโทษได้ เช่น จากไล่ออกเป็นปลดออกในกรณีมีความผิดทางวินัยร้ายแรง ไม่สามารถอุทธรณ์ฐานความผิดได้


ดังนั้น ถ้านายอภิสิทธิ์ไม่นำมติ ก.ตร.ที่ขัดแย้งกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี  ก.ตร.ก็ไม่สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ได้


จากกรณีดังกล่าวมาพลิกดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิสูจน์ว่า ก.ตร.ดันทุรังมีมติอุ้ม 3 นายพลสีกากีหรือนายอภิสิทธิ์ดื้อตาใส

คำวินิจฉัยที่ 2/2546  วันที่ 6  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ


๑. ข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบคำร้อง สรุปได้ว่า

๑๑ ณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ ที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ (๓) ว่า นายชูศักดิ์ รองสวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ กรณีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาเช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ และนายวีรพล ดวงสูงเนิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ ปฏิบัติ ราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนของศูนย์สารสนเทศการประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกัน แก้ไขเพิ่มเติมข้อความในบันทึกของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ตามบันทึก ศูนย์สารสนเทศการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผ่านการตรวจรับรองจากหัวหน้าฝ่ายพัสดุ และผู้อำนวยการกองคลังแล้วโดยเปลี่ยนแปลงข้อความในหน้า ๒ และ ๓ จากเดิมที่เสนอให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ยกเลิกการประกวดราคา เป็นขออนุมัติให้เช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบจากบริษัท กรุงเทพ โอ.เอ.คอมส์ จำกัด และใช้ลายมือชื่อของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาในหน้า ๔ มาประกอบในบันทึก ที่แก้ไขดังกล่าว


โดยกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาบางรายซึ่งรวมถึงหัวหน้าฝ่ายพัสดุ ไม่ยินยอม อันเป็นการช่วยเหลือบริษัทกรุงเทพ โอ.เอ.คอมส์ จำกัด ที่เสนอราคาผิดเงื่อนไข การประกวดราคาตามข้อกำหนดของกรมประชาสัมพันธ์ โดยมิได้ส่งเรื่องให้หัวหน้าฝ่ายพัสดุตรวจพิจารณาอีก เป็นเหตุให้นายวิจิตร วุฒิอำพล อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและผ่านการตรวจรับรองจากหัวหน้า ฝ่ายพัสดุ และผู้อำนวยการกองคลังแล้ว จึงได้อนุมัติให้เช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบจากบริษัทกรุงเทพ โอ.เอ.คอมส์ จำกัด


นายชูศักดิ์ รองสวัสดิ์ และนายวีรพล ดวงสูงเนิน จึงมีความ ผิดวินัย ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๒ วรรคสาม และมาตรา ๙๘วรรคสอง และมีความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดย ทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น


คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงส่งรายงานการไต่สวนไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ และส่งเอกสารและความเห็นในส่วนคดีอาญาไปยังอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙๒ และ มาตรา ๙๗


๑.๒ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ โดยมีคำสั่งลงโทษไล่ นายวีรพล ดวงสูงเนิน ออกจากราชการ อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๓


ต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๓ ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทั้งนี้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๖ และในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษ ก.พ. ได้แก้ฐานความผิดจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ (๓) ว่า นายวีรพล ดวงสูงเนินมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ มาตรา ๘๒ วรรคสาม และมาตรา ๙๘ วรรคสอง เป็นฐานความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ มาตรา ๘๔วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘๕ วรรคหนึ่ง จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ นายวีรพล ดวงสูงเนิน กลับเข้ารับราชการ ตามมติ ก.พ.


๑.๓ ในการพิจารณาอุทธรณ์แทนที่ ก.พ. จะพิจารณาเพียงดุลพินิจในการสั่ง ลงโทษของผู้บังคับบัญชา คือ แทนที่จะพิจารณาว่า สมควรจะยกอุทธรณ์โดยยืนคำสั่งลงโทษไล่ออก หรือเห็นว่า อุทธรณ์ฟังขึ้นในระดับโทษให้เปลี่ยนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออก เพราะ ก.พ. จะต้องคงฐานความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติไว้ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๒


แต่ ก.พ. กลับไปพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริง มิได้พิจารณาในเรื่องการใช้ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ขัดแย้งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๖ ซึ่งให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษของ ผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

มิใช่ ก.พ. จะมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์โดยใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง ทุกกรณีตามที่ ก.พ. อ้าง เพราะอำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์โดยใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง ต้องเป็นการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามปกติที่อาศัยอำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ มิใช่การสั่งลงโทษตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

การใช้อำนาจของ ก.พ. ในการพิจารณาอุทธรณ์กรณีนี้เป็นอำนาจที่มาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๖ จึงจะต้องพิจารณาอยู่ในกรอบของบทบัญญัติและเจตนารมณ์ ของ พ.ร.ฐ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๙๖ เท่านั้น

การพิจารณานอกกรอบ มาตรา ๙๖ จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งหรือโต้แย้งอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพราะไม่ถือปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ดังกล่าว


ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า

การอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ และการอุทธรณ์ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ใช้คำว่า "อุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ" ขณะที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ ใช้คำว่า "อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ"


การใช้สิทธิอุทธรณ์ของ ผู้ถูกกล่าวหา อันเนื่องมาจากการลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติ มิใช่ฐานความผิดจากการสอบสวนวินัยโดยผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาเอง และมิใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกสั่งลงโทษตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ


การอุทธรณ์ จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ บัญญัติไว้ โดยมีสิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจ ในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น กล่าวคือ อุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษตามฐานความผิด ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ


องค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา (ก.พ.) และองค์กร ที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามขั้นตอนต่อจากกระบวนการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีอำนาจพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับ บัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามฐานความผิดเดิมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเท่านั้น


การที่องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่า  เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการเฉพาะ โดยการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ แล้วเปลี่ยนฐานความผิดเพื่อกำหนดโทษใหม่ จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒


ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน ๘ คน คือ นายจิระ บุญพจนสุนทร พลโท จุล อติเรก นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอนันต์เกตุวงศ์ นายอมร รักษาสัตย์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า อำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยแล้วเป็นอันยุติ ดังนั้น องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงพิจารณา เปลี่ยนแปลงฐานผิดทางวินัย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วไม่ได้


ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน ๕ คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาตินายจุมพล ณ สงขลา นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายผัน จันทรปาน และนายศักดิ์ เตชาชาญ วินิจฉัยให้ยกคำร้องเนื่องจาก กรณีตามคำร้องไม่ใช่กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ บัญญัติ ประกอบกับประเด็น ตามคำร้องที่ขอให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นอันยุติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจ "วินิจฉัยชี้ขาด" กรณีตามคำร้อง จึงทำให้อำนาจดังกล่าวไม่เด็ดขาด ดังนั้น ผู้ถูกลงโทษจึงมีสิทธิอุทธรณ์และองค์กร ที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยได้ตามอำนาจหน้าที่ตามที่ กฎหมายบัญญัติไว้


อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่จึงเป็นอันยุติ


ดังนั้น องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลง ฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยยุติแล้ว ให้เป็นประการอื่นได้อีก


คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวชัดเจนชนิดไม่ต้องตีความอีก แต่น่าสงสัยว่า ทำไม ก.ตร.จึงยังดันทุงรัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้าบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ(รวมทั้ง ก.ตร.ด้วย)


แม้จะมีการอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในเรื่องนี้มิได้มีการเปลี่ยนแปลง มิหนำซ้ำกลับยกสถานะของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้มีลำดับศักดิ์เหนือกว่า พ.ร.บ.ทั่วไปซึ่งรวมถึง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 อีกด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์