"กองทุนหมู่บ้าน"ได้อีก1.1หมื่นล้านอุดงบขาด ใต้ครองแชมป์เบี้ยว โจรใต้ขู่ใครกู้เจอดีแน่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้าน รวม 11,000 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 60 ของทั้งหมด เม็ดเงินรวมกว่า 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแรก 8,700 ล้านบาท และช่วงต่อไป 2,797 ล้านบาท สำหรับกองทุนที่ยังมีปัญหา ขณะนี้ทางการกำลังช่วยดูแลทั้งในส่วนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนว่าทำอย่างไรให้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อจะได้ไปจดทะเบียนได้ ส่วนกองทุนที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดูให้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ยังติดเงื่อนไขอื่นๆ ก็จะช่วยติดตามแก้ไข
"มาร์ค"ไฟเขียวทุ่มเงินกองทุนหมู่บ้านกว่า11,000ล้านบาท สั่งคุมขั้นตอนให้โปร่งใสขู่ฟันคนยักยอก ภาคใต้ครองแชมป์ค้างชำระ เหตุคนปชป.เคยสั่งคนในพื้นที่ต้านแต่พลิกมารับผิดชอบโครงการ โจรใต้ขู่ห้ามกู้
"กรณีหลายพื้นที่ประธานกองทุนยักยอกเงินก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ติดตามการบริหารจัดการกองทุนที่มีปัญหา และติดตามในส่วนที่ส่งเงินเพิ่มทุนไปแล้ว เพื่อให้การจัดการมีคุณภาพ ซึ่งเม็ดเงินเพิ่มทุนที่อนุมัติ จะทำทุกเดือน ดังนั้นที่เหลืออีกร้อยละ 40 ก็จะทยอยเข้ามา เราจะพิจารณาประมาณสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองในระดับอนุกรรมการ แล้วจะประชุมคณะกรรมการประมาณกลางเดือน ก่อนที่จะโอนเงินลงไป เงินที่ลงไปนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากที่ได้ยืดอายุการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินสำหรับกองทุนที่เราจะให้กู้สำหรับรายใหม่ หรือจะเพิ่มให้รายเก่าหากไม่มีรายใหม่เข้ามามาก จะสามารถทำให้กองทุนตอบสนองความต้องการประชาชนได้" นายกฯกล่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กทบ. ที่มีนายอภิสิทธิ์ เป็นประธาน มีการอนุมัติเงินทุนเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ครั้งที่ 2 อีกจำนวน 11,968 แห่ง วงเงิน 2,797 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไปแล้ว 35,881 แห่ง วงเงิน 8,695 ล้านบาท ทำให้ยอดเงินที่มีการโอนไปแล้ว 58.76% หรือเป็นวงเงิน 11,492 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลทั้งหมด 19,559.2 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มทุนให้กับกองทุน ทั้งประเทศ 79,255 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับอนุมัติเงินไปแล้วแห่งละ 1 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในลำดับขั้นบันได 2 แสนบาท 4 แสนบาท และ 6 แสนบาท ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชุม กทบ. มีมติเห็นชอบการเพิ่มเงิน ครั้งที่ 2 ดังกล่าว แล้ว นายอภิสิทธิ์ ได้แจ้งให้ที่ประชุมว่า ขอให้มีการประเมินผลและติดตามการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ได้รับการเพิ่มทุนไปแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่วนกองทุนหมู่บ้าน อีก 3,000 กว่าแห่ง ที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระ และเงินขาดบัญชีเกิน 20% ก็ขอให้ สทบ. เข้าไปติดตามช่วยเหลือ เพื่อที่จะได้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มทุนด้วย
"นายกฯย้ำว่า การดำเนินงานในโครงการฯนี้ ต้องมีการวางมาตรการเข้าไปสุ่มตรวจกระบวนการทำงานตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอและจังหวัด เพื่อควบคุมการทำงานให้เกิดความโปร่งใสทุกขั้นตอนด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการ สทบ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านฯที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีกลุ่มคนที่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระกับกองทุนฯ กว่า 5,000 ราย วงเงินกว่า 280 ล้านบาท มีกองทุนฯที่ส่อว่าจะมีปัญหาในการดำเนินงาน 7,000-8,000 แห่ง แบ่งเป็นกองทุนฯที่ยังผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่กว่า 3,000 แห่ง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีปัญหาเรื่องมีหนี้ค้างชำระและเงินขาดบัญชีเกิน 20% หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4,000-5,000 แห่ง เป็นกองทุนที่จดทะเบียนมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2547-2549 แต่พบว่าในปี 2553 มีหนี้ค้างชำระในระดับที่สูง แผนการดำเนินงานไม่ชัดเจน ซึ่งทาง สทบ. จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดต่อไป
นายนทีกล่าวว่า สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติเพิ่มทุนอีก 31,406 แห่ง วงเงิน 10,585 ล้านบาท ที่ประชุม กทบ. จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นประจำทุกเดือนจนครบให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2553 แต่ยอมรับการจัดสรรเงินเพิ่มทุนได้แค่เพียง 80% ของจำนวนกองทุนหมู่บ้านฯทั้งหมด ทำให้อาจมีกองทุนฯที่ไม่ได้รับอนุมัติเงินกว่า 1.5 หมื่นกองทุน ส่วนการยกระดับกองทุนฯ ให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนในปี 2553 นี้ สทบ. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มให้ได้อีก 1,000 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1,200 แห่ง และส่งเสริมให้มีกองทุนฯที่มีความเข้มแข็ง หรือที่เรียกว่ากองทุนฯสำเร็จรูป จำนวน 100 แห่ง กระจายอยู่จังหวัดละ 1 แห่ง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับกองทุนฯแห่งอื่นด้วย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กองทุนฯมีปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระ และเงินขาดบัญชี จนไม่สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้ เป็นเพราะเกิดการเบี้ยวหนี้ของลูกหนี้เป็นจำนวนมาก มีทั้งเจตนา และไม่เจตนา โดยในส่วนที่ไม่เจตนาเนื่องจากนำเงินไปใช้ทำโครงการและประสบความล้มเหลว แต่ส่วนที่เจตนา มาจากคนบางกลุ่ม ที่อาศัยอำนาจบารมีของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ รวมถึงนักการเมืองไปขอกู้เงินมาใช้ และไม่ยอมคืน แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปทวงคืน เพราะมีหลายคนที่เป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง มีอิทธิพลในพื้นที่มาก
"ปัญหาการอ้างบารมีของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นปัญหาหนักอกของผู้บริหารระดับสูงจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่รับผิดชอบโครงการนี้อย่างมาก มีการมองว่า เรื่องนี้เป็นผลพวงมาจากแผนปฏิบัติการต่อต้านโครงการนี้ ในอดีตของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายคนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ก็เลยไปบอกกับคนของตัวเองในพื้นที่ ไม่ให้สนับสนุนโครงการนี้ เลยทำให้การดำเนินงานกองทุนฯบางพื้นที่มีปัญหา ทั้งการเข้าไปป่วนการดำเนินงานกองทุนฯ และบางกองทุนฯก็ไม่มีการใช้จ่ายเงินที่ได้รับไปเลย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับนักการเมืองที่เคยมีแนวคิดต่อต้านโครงการนี้ในอดีต และต้องเข้ามารับผิดชอบโครงการในขณะนี้ มีหลายคน ทั้งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็นประธาน กทบ. ในช่วงที่เป็นรองนายกฯ นางอัญชลี วาณิชเทพบุตร รวมถึงนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ว่าที่รองนายกฯ ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนท่าทีกับโครงการนี้หรือยัง และจะหาทางแก้ไขปัญหาที่ตัวเองผูกเอาไว้ได้อย่างไร
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระและเงินขาดบัญชี เบื้องต้น สทบ. จะให้เป็นหน้าที่ไปติดตามเงินคืนจากผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน เพราะถือเป็นเงินหลวง หากไม่ยอมใช้หนี้ก็คงจะให้คณะกรรมการกองทุนฯใช้วิธีการบังคับคดีทางศาลต่อไป สำหรับกองทุนฯที่มีปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระกว่า 3,000 แห่ง แยกเป็น ภาคใต้ 1,392 แห่ง ภาคเหนือ 219 แห่ง ภาคอีสาน 124 แห่ง ภาคตะวันออก 275 แห่ง ภาคตะวันตก 231 แห่ง ภาคกลาง 241 แห่ง กทม. 279 แห่ง และชุมชนในเขตทหาร 99 แห่ง
แหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินงานโครงการกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากปัญหาการเข้าไปชี้นำของนักการเมืองแล้ว ในส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังประสบปัญหาเรื่องความไม่สงบด้วย เพราะไม่สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการได้ เนื่องจากมีผู้ก่อการร้ายขู่ว่าหากมีการประชุม ผู้ที่เป็นแกนนำจะถูกทำร้าย และมีตัวอย่างใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ที่แกนนำกองทุนหมู่บ้านคนหนึ่งเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนแต่ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้มีคำขู่ถึงแกนนำรายนี้ว่าไม่ให้จัดประชุม นอกจากนี้ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ปล่อยข่าวว่าหากใครไปกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านฯจะถูกทำร้าย ทำให้กองทุนหมู่บ้านบางแห่งในพื้นที่ไม่มีใครกล้ามาขอกู้เงินเลย
"สทบ.ได้รายงานข้อมูลเรื่องนี้ให้นายกฯรับทราบแล้ว และนายกฯสั่งการให้ สทบ.จัดทำข้อเสนอหรือมาตรการพิเศษเข้าไปดูแล เพื่อให้การเพิ่มทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งอาจจะจัดประชุมคณะกรรมการในพื้นที่ใดที่หนึ่ง ที่มีความปลอดภัย พร้อมกันทุกหมู่บ้าน และทำอย่างไรให้คนในพื้นที่กล้ากู้เงิน คาดว่าต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร เพราะปัญหานี้เกี่ยวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่" แหล่งข่าวระบุ
กองทุนหมู่บ้านได้อีก1.1หมื่นล้านอุดงบขาด ใต้ครองแชมป์เบี้ยว โจรใต้ขู่ใครกู้เจอดีแน่
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง กองทุนหมู่บ้านได้อีก1.1หมื่นล้านอุดงบขาด ใต้ครองแชมป์เบี้ยว โจรใต้ขู่ใครกู้เจอดีแน่