“สุรเกียรติ์” กระตุกรัฐบาล
ยกเลิกเอ็มโอยู = โยนทิ้ง 4 ประโยชน์ทางทะเล
November 12, 2009
หมายเหตุ : นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ ในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ให้ยุติเอ็มโอยูดังกล่าวลงชั่วคราว แล้วเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้บังคับตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญต่อไป
ผมไม่ได้ขัดข้องอะไรหากรัฐบาลจะยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว แต่มีข้อสังเกตคือถ้าเราจะยกเลิก สังคมไทยต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่เราจะยกเลิกคืออะไร เวลานี้เราพูดกันเหมือนกับว่าเอ็มโอยูอันนี้เป็นบันทึกช่วยจำว่าด้วยการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล ตกลงกันแล้วว่าไทย-กัมพูชาจะแบ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างไร และเอ็มโอยูนี้แบ่งไปในลักษณะที่ไทยเสียเปรียบ หากยกเลิกเสีย เราจะได้ทรัพย์สินกลับมา ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเอ็มโอยูนี้เป็นอะกรีเมนต์ ทู ทอล์ก เป็นความตกลงว่าเราจะเริ่มเจรจากัน
ความจริงความคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ซึ่งสมัยนั้นไทยได้ไปลงนามตกลงกับประเทศมาเลเซีย พล.อ.ชาติชายเลยมีความเห็นว่าทำไมไม่ทำแบบเดียวกันนี้กับประเทศเวียดนามและกัมพูชาบ้าง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่านได้คุยกับท่านสุรินทร์ (พิศสุวรรณ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น) ว่าให้ลองขอคุยกับกัมพูชาว่าคิดอ่านอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเริ่มเจรจา รัฐมนตรีสุรินทร์ก็บอกว่าท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พล.อ.มงคล (อัมพรพิสิฏฐ์) ก็เจรจาไปแล้วกัน ผมรับทราบ แต่ถือว่าผมไม่รับรู้ จะได้ยังไม่เป็นทางการ จากนั้น ผบ.สส.ก็มาคุยกับผมซึ่งขณะนั้นเป็นประธาน ปตท.สผ. ก็มีการคุยกันนอกรอบ เชิญเขามาเล่นกอล์ฟที่นี่บ้าง เชิญมาทานข้าวบ้าง ก็เริ่มรู้สึกว่าเขาเริ่มเห็นด้วยว่าควรร่วมมือกัน แต่ก็ยังไม่มีอะไร ระหว่างนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็ทำงานมาตลอดว่ามีอะไรควรระวังบ้าง
กระทั่งผมเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ในปี 2544 ทางกัมพูชาก็บอกว่าเราเคยคุยกันมา ถ้าอย่างนั้นจะเริ่มเจรจากันไหม ทางกระทรวงการต่างประเทศเลยบอกว่าถ้าเช่นนั้นเรามาทำความตกลงกันหน่อย ถ้าจะเจรจาจะใช้หลักอะไร ก็นำมาสู่เอ็มโอยูอันนี้ มีการลงนามว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา 2 ชุดคือ คณะกรรมการชุดหนึ่งว่าด้วยเรื่องการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล มีคุณกฤษณ์ กาญจนกุญชร อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (ในขณะนั้น) เป็นประธาน อีกชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยการพัฒนาร่วมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ในเอ็มโอยูดังกล่าวมีข้อดีที่ไทยได้มา 4 ประการคือ
1.เราบอกไว้ว่าต้องมีการเจรจาเรื่องการกำหนดเขตแดนทางทะเลพร้อมๆ
กับการเจรจาการพัฒนาร่วม ต้องไปด้วยกัน โดยใช้คำว่า “อินดิวิซิเบิล แพคเกจ” ซึ่งแปลว่าแบ่งแยกไม่ได้ อันนี้คือสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเรารู้ว่ากัมพูชาอยากได้เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เรื่องการพัฒนาร่วม แต่เราอยากได้เรื่องเขตแดนแล้วมาผูกเอาไว้ เราก็สามารถเอาสิ่งที่เขาอยากได้มาดันเรื่องเขตแดนที่เราต้องการได้ ขณะนั้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้นำเรื่องเขตแดนและการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตเข้ารัฐสภาเท่านั้น ส่วนเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ลึกๆ ในใจก็กลัวว่าถ้าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล เกิดอยากตกลงเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แล้วก็เซ็นกันไปได้เลย เราอาจเสียประโยชน์เรื่องเส้นเขตแดนได้ เพราะไม่เหลืออะไรให้ไปต่อรอง จึงมาเขียนตรงนี้มัดไว้ให้ทั้ง 2 ส่วนต้องไปที่รัฐสภา นี่คือข้อดีที่เราเก็บใส่กระเป๋าเอาไว้ แล้วเราก็ดีใจที่กัมพูชาเขายอมทั้งที่เป็นเพียงอะกรีเมนต์ ทู ทอล์ก
2.การกำหนดเขตทางทะเลให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
3.การเจรจาทั้งหมดที่จะทำในอนาคตจะไม่กระทบต่อข้อเรียกร้องทางทะเล
ซึ่งเท่ากับเป็นการให้กัมพูชายอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไทยมีข้อเรียกร้องเรื่องเขตแดนทางทะเล
4.แผนผังที่อยู่ด้านหลังเอ็มโอยูนี้ได้ในสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย
ต้องการ
ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าหากจะยกเลิกเอ็มโอยูอันนี้ ถามว่ามันมีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่อยากเจรจา เราก็ไม่ต้องเรียกประชุม เราก็ประกาศสิว่าตอนนี้เราประท้วง เราหยุดการเจรจา ก็แสดงเจตนารมณ์ไป ไม่ต้องยกเลิกเอ็มโอยู ซึ่งความจริงมันไม่มีการเจรจามา 2 ปีแล้วเพราะไม่ถูกกัน และ 8 ปีที่ผ่านมาก็ยังตกลงกันไม่ได้เลย ยกเว้นเรื่องสำคัญซึ่งผมไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน เพราะฝ่ายกัมพูชาขอเอาไว้
(หยิบอุปกรณ์มาประกอบการอธิบาย) สมมติตรงนี้เป็นเกาะกรูด เดิมเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาแคลมมันวิ่งผ่าเกาะกรูดมา ผมก็ล้อเขาว่าเออ… แปลกดีนะ คนไทยขึ้นเกาะกรูดมา พอจะลงไปเล่นน้ำอีกทางต้องถือพาสปอร์ต ซึ่งมันตลกมาก หลังจากเจรจากันไปมา ท่านฮุน เซน บอกผมว่าตกลงเรื่องอธิปไตยเกาะกรูดยอมรับว่าเป็นของไทย ยอมปลดข้อเรียกร้อง จากนั้นก็ส่งแผนที่มาลากเส้นใหม่ นั่นคือสิ่งที่เราได้เก็บใส่กระเป๋ามาแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศเพราะเขาบอกว่าเดี๋ยวผู้ใหญ่ฝ่ายเขาจะไม่พอใจ เอาให้การเจรจาจบก่อนค่อยประกาศ
ดังนั้น การยกเลิกเอ็มโอยู มันทำให้ของดีของเรา 3-4 ข้อมันหายไปด้วย ซึ่งกว่าจะได้มาก็แทบแย่ ถามว่าเราดูกันรอบคอบแล้วหรือ จู่ๆ จะเอาประโยชน์ของเราทิ้งน้ำไปทำไม เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับเป็นการปลดล็อคกัมพูชา เขาก็แฮปปี้ ผมจึงอยากตั้งคำถามว่าได้พิจารณากันดีหรือยัง เป็นการตอบโต้กัมพูชาในสิ่งที่ทำให้เราเสียประโยชน์เองหรือเปล่า ส่วนกัมพูชาไม่ได้เดือดร้อนอะไรด้วย มันมีเรื่องที่จะตอบโต้ได้อีกตั้งเยอะ
ส่วนที่รัฐบาลให้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณเคยเป็นอดีตหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ล่วงรู้ความลับต่างๆ หมดแล้ว หากย้ายไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา จะทำให้ไทยเสียเปรียบนั้น ความจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่หัวหน้าคณะเจรจา คนที่เจรจาทั้ง 2 เรื่องคือเจ้าหน้าที่ เรื่องเขตแดนเนี่ย นายกฯ หรือ รมว.ต่างประเทศจะไปสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ เพราะมันมีแผนที่ มีกฎหมายระหว่างประเทศชัดเจน และผมเชื่อในความเป็นมืออาชีพของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และเอ็มโอยูนี้ก็บอกชัดเจนว่าให้เดินอย่างไร
ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon