"มาร์ค"ชี้มหาอำนาจห่วงผลประโยชน์ตัว ถกแก้โลกร้อนล่ม เอ็นจีโอโวยผู้นำไร้ความกล้าหาญ ทำคนทั่วโลกทรมาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ผ่านระบบเทเลพรีเซ็นต์ มายังบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชั้น 28 อาคารดิออฟฟิตเคส แอท เซ็นทรัลเวิร์ล ย่านราชประสงค์ ถึงผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการแปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 และพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์กว่า การประชุมครั้งนี้ค่อนข้างพิเศษ เพราะปกติระดับหัวหน้ารัฐบาลมักไม่เข้าร่วมมาประชุมด้วยตัวเอง แต่เมื่อทุกคนห่วงใยเรื่องสภาพภูมิอากาศทำให้มีผู้นำเข้ามาร่วมประชุมร้อยกว่าประเทศ แต่มีปัญหาสันสนบ้าง เพราะการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เพื่อยกร่างมติขึ้นมาปรากฎว่ามีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันเยอะมากจนระดับผู้นำคิดว่าเป็นไปได้ยากหากจะมาไล่หาข้อสรุปและยุติทีละประเด็น "กระบวนการประชุมอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และพวกเรารู้ดีว่าลำพังความคืบหน้าที่เกิดขึ้นยังไม่เพียงพอ แต่เราก็เดินมาไกลไม่น้อยและยังต้องเดินต่อไปอีกไกลมาก" ผู้นำสหรัฐกล่าว ในขณะที่นาย เซี่ย เจิ้นหัว หัวหน้าคณะผู้แทนจีนในการประชุมครั้งนี้ยืนยันว่าผลการประชุมออกมาเป็นบวก ซึ่งทุกคนควรจะเป็นสุขที่เป็นเช่นนั้น
"มาร์ค"ชี้ชาติมหาอำนาจห่วงผลประโยชน์ ทำประชุมแก้"โลกร้อน"ล่ม ที่ประชุมประกาศ "ความตกลงโคเปนเฮเกน" ยึดความตกลง 5 ชาติที่"โอบามา"ผลักดัน หลายปท.ตั้งค้าน เอ็นจีโอโวยผู้นำไร้ความกล้าหาญ ทำคนทั่วโลกทุกข์ทรมาน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าข้อตกลงที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายนั้นเกิดขึ้นไม่ได้จนทำให้คิดว่าเก่งที่สุดก็อาจจะต้องเลื่อนไปอีก 3-6 เดือนและมีแนวโน้มว่าอาจต้องเลื่อนไป 1 ปี ซึ่งเป็นการประชุมที่เมกซิโกปี 2553 แม้จะมีความพยายามทำข้อตกลงทางการเมืองเพื่อแสดงเจตนารมณ์ แต่สุดท้ายยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบรรดาประเทศที่มีผลประโยชน์ไม่สามารถหารือกันจนได้ข้อยุติ และเมื่อเปิดประชุมจริงๆ ก็เหลือผู้นำเฉพาะตัวประธานคือนายกฯ เดนมาร์ก
"โดยสรุปขณะนี้ที่ชัดเจนคือข้อตกลงที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายคงจะเกิดขึ้นปีหน้า ส่วนข้อตกลงทางการเมืองที่มีข่าวว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกา คุยกับจีนและบราซิลนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม จนการประชุมต้องหยุดชั่วคราว เพราะความตกลงนี้ได้รับการทักท้วงจากบางประเทศอยู่ ข้อตกลงขณะนี้ที่มีผลผูกพันอยู่ก็มีพิธีสารเกียวโต ซึ่งสหรัฐฯไม่ร่วมในพิธีสาร ส่วนจีน ก็ไม่ผูกมัดว่าจะต้องประกาศเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ จึงเป็นปมขัดแย้งตลอดเวลา เพราะสหรัฐฯและยุโรปเห็นว่าจีนเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต้องผูกมัดเรื่องนี้ แต่จีนกลับเห็นว่าประเทศพัฒนา ก็ควรเข้ามาผูกมัด เมื่อประเทศต่างๆ กำลังจะผูกมัด จีนก็ผูกมัดประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เข้าไปด้วย และถูกย้อนกลับไปว่าทำไมสหรัฐฯไม่ยอมเข้ามาในพิธีสารเกียวโตเช่นกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ทำความเข้าใจได้ยากมาก หากปล่อยให้เป็นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่นั้น มันเป็นไปไม่ได้ แต่ความสูญเสียโอกาสคือการเอาหัวหน้ารัฐบาลมา แต่ไม่มีกระบวนการจะหารือกัน แม้จะมีความพยายมดึงคนนั้นคนนี้เข้าไปคุย แต่ในที่สุดวงมันก็เล็กเกินไปที่จะทำให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง ผู้นำหลายประเทศเริ่มเดินทางกลับกันแล้ว ใครหรือนักอุนรักษ์ที่คาดหวังกับที่ประชุมครั้งนี้ ต้องผิดหวังแน่นอน
เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้มีอะไรเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แสงสว่างคือผู้นำร้อยกว่าประเทศให้ความสนใจและมาร่วมประชุม ทุกประเทศรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังขาดเวทีสำหรับการหารือ ที่จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในบางด้านปีหน้าอาจกลับไปสู่สถานการณ์แบบนี้อีก ส่วนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมนั้น เป็นการยืนยันว่าเราพร้อมสนับสนุน เพื่อให้มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะประธานอาเซียนได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของอาเซียนด้วย เราตรงไปตรงมาที่จะบอกว่า การประกาศเป้าหมายแบบประเทศที่พัฒนาแล้วทำนั้น ระบบของเรายังมีข้อมูลการตรวจสอบที่ไม่สมบูรณ์ เราพยายามมองดูว่า เขาจะมีวิธีการดึงประเทศกำลังพัฒนาเข้ามา โดยไม่กระทบกับการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนและมีระบบการตรวจสอบที่เป็นธรรมอย่างไร อย่างน้อยที่สุด กลไกเกี่ยวกับการเงินที่จะเข้ามาช่วยประเทศกำลังพัฒนานั้น ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นเสนอตัวชัดเจน เมื่อมีกลไกตัวนี้ จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและไทย มีโอกาสเข้าถึงเงินและเทคโนโลนีในการแก้ปัญหานี้มากขึ้น รัฐบาลตั้งใจว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะบรรจุเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งแผนการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ไปจนถึงการอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย
ขณะที่สำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์ รายงานความคืบหน้าของการประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือ โคเปนเฮเกน ซัมมิท ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดขึ้น ในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นการประชุมเต็มคณะของสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศและอีก 1 สหภาพ แบบมาราธอนต่อเนื่องมาจากค่ำวันที่ 18 ธันวาคมจนกระทั่งถึงเช้ามืดวันที่ 19 ธันวาคม ในที่สุดหลังจากนาย ลาร์ส รามุสเซ่น นายกฯ เดนมาร์ก ประธานในที่ประชุมสั่งพักการประชุมชั่วคราว ได้อาศัยอำนาจของประธานการประชุมประกาศว่า ส่วนใหญ่ของที่ประชุมสามารถบรรลุถึงข้อตกลงที่เรียกว่า "โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" และมีมติให้บันทึกการเห็นพ้องและคัดค้านความตกลงดังกล่าวไว้ต่อไป
เอพีรายงาน โดยอ้างความเห็นของนายจอห์น เฮย์ โฆษกสำนักงานสหประชาชาติเพื่อปัญหาการเปลี่ยนภูมิอากาศว่า การมีมติดังกล่าว ไม่ได้ถือว่าเป็นการให้ความเห็นชอบต่อ "โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" อย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเลี่ยงเพื่อให้ความตกลงดังกล่าว สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับฉันทามติเห็นพ้องต้องกันจากภาคีสมาชิกทั้งหมด โดยนายเฮย์ระบุว่า พันธะของมติในรูปแบบดังกล่าวนี้แข็งแกร่งพอที่จะทำให้ความตกลงนี้กลายเป็นพื้นฐานของการดำเนินกระบวนการต่อไปในอนาคต
มติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่การประชุมล่วงเลยเวลาที่กำหนดเอาไว้แล้วยาวนาน แต่ยังไม่มีวี่แววว่า ตัวแทนของสมาชิกยูเอ็นทั้งหมดจะบรรลุฉันทามติใดๆ ที่จะนำไปสู่การลงมติให้เป็นสนธิสัญญานานาชาติ เพื่อการแก้ปัญหาโลกร้อนในอนาคต ความตกลงเดียวที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมครั้งนี้ เป็นความตกลงที่เรียกว่า "โคเปเฮเกน แอคคอร์ด" ของสมาชิก 5 ชาติ ซึ่งเป็นผลจากความพยายามเพื่อสร้างผลลัพธ์ใดๆ ให้เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ของประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้นำของจีน อินเดีย บราซิลและแอฟริกาใต้ แต่กลับถูกประนามและต่อต้านอย่างหนักในการประชุมเต็มคณะของสมาชิกยูเอ็นในเวลาต่อมา จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ อาทิ โบลิเวีย คิวบา เวเนซุเอลา ซูดานและตูวาลู ที่ไม่ยอมรับความตกลงดังกล่าวว่าเป็นผลการประชุมร่วมครั้งนี้
รายงานข่าวระบุว่า ข้อตกลงความยามราว 3 หน้ากระดาษดังกล่าว ประธานาธิบดีโอบามาแถลงเมื่อคืนวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะเดินทางกลับประเทศ ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย แม้ว่าผู้นำเกือบทั้งหมด รวมทั้งผู้นำสหรัฐอเมริกาเองยอมรับว่า สารัตถะของความตกลงนี้ยังไม่ดีพอที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ และยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่หลายต่อหลายคนคาดหวัง แต่ผุ้นำสหรัฐระบุว่า ความตกลงครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ในการประชุมเรื่องโลกร้อน เพราะเป็นการตกลงกันได้ครั้งแรก ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่รวมกันแล้วมีสัดส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกราว 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาต่อเนื่องในปี 2553 ที่จะถึง
"โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" เป็นผลลัพธ์จากความพยายามส่วนตัวของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งเดิมตั้งใจจะใช้เวลาอยู่กับการประชุมเพียง 9 ชั่วโมง แต่ได้ขยายเวลาเพื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยอีกหลายครั้งรวม 6 ชั่วโมง รวมทั้งการหารือแบบทวิภาคีกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน กระทั่งเมื่อเห็นว่า การประชุมหนนี้ส่อเค้าจะล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง ผู้นำสหรัฐ ตัดสินใจเดินเข้าไปในที่ประชุมของผู้นำ จีน, อินเดีย, บราซิล และแอฟริกาใต้ โดยไม่ได้รับเชิญพร้อมกับนางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการพบหน้าผู้นำทั้ง 4 พร้อมกันในคราวเดียว เอพีระบุว่า หลังจากนั้นผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกาก็ถกกันในประเด็นที่เห็นแตกต่างกันหลายประเด็นโดยมีตัวแทนของบราซิลเป็นตัวกลางพยายามไกล่เกลี่ยและรอมชอมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความตกลงประนีประนอม 5 ชาติในที่สุด
นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งสนับสนุนความตกลงครั้งนี้ยกย่องประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างสูง และเปิดเผยว่ามีอยู่อย่างน้อย 7 ครั้งด้วยกันที่การประชุมครั้งนี้จวนเจียนจะล่มลงโดยไม่มีอะไรคืบหน้าเกิดขึ้น แต่แล้วนายโอบามาก็เดินเข้ามา พับแขนเสื้อแล้วก็พูดขึ้นว่า "เอาละเราจำเป็นต้องคืบหน้าให้ได้ในเรื่องนี้" แล้วก็เกิดผลจริงๆเหมือนกับมีมนต์
ด้านรอยตอร์ระบุว่า ใน "โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" กำหนดเป้าหมายเอาไว้กว้างๆ ว่าจะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเชียส แต่ไม่ได้ระบุระดับความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของที่ประชุมเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ ที่ทำให้หลายประเทศคัดค้านความตกลงดังกล่าวนี้ ในขณะที่ไม่ได้กำหนดถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ครึ่งหนึ่งเมื่อถึงกึ่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญคือความตกลงดังกล่าวไม่มีข้อกำหนด เป็นพันธะทางกฎหมายให้ภาคีสมาชิกปฏิบัติตาม รวมทั้งไม่มีบทลงโทษใดๆ
ผู้นำหลายประเทศยอมรับว่า ไม่พอใจกับความคืบหน้าที่ปรากฎในโคเปนเฮเกนแอคคอร์ด แต่ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ดีกว่าไม่มีความตกลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เพราะจะทำให้การเจรจาเรื่องนี้ยืดเยื้อไปอีกหลายปีโดยไม่มีกรอบกำหนด นายนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุว่า ข้อความในความตกลง 5 ชาติไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย จะไม่อยู่ภายใต้พันธะสัญญาใดในอีกไม่ช้าไม่นาน ซึ่งทำให้การยอมรับข้อตกลงนี้เป็นความจำเป็นถึงที่สุด
ขณะที่นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน กล่าวว่า ความตกลงดังกล่าวมีทั้งจุดสว่างและจุดมืด แต่ทางเลือกอีกอย่างนอกเหนือจากความตกลงนี้ก็คือ ไม่มีอะไรเลย ก็จำเป็นต้องเลือกความตกลงนี้อยู่ดี
รอยเตอร์ระบุต่อว่า ระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นระดับที่คณะนักวิทยาศาสตร์ของยูเอ็นถือเป็นระดับต่ำสุด ก่อนที่ภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หลายประเทศ รวมทั้งตูวาลู ซึ่งประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อาจจมหายไปในทะเลจากภาวะโลกร้อน ต้องการให้กำหนดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาลเซลเซียส ในขณะที่ซูดานเห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าวและเปรียบเทียบการกำหนดที่ 2 องศาไว้ว่าเปรียบเสมือนการส่งผู้คนเข้าสู่เตารมแก้สในยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ซึ่งทำให้มีผู้ประท้วงและโจมตีจนวุ่นวายตามมา
เอพีระบุว่า องค์กรพัฒนาเอกชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ "โคเปนเฮเกน แอคคอร์ด" โดยถือว่าเป็นความล้มเหลวและไร้ความกล้าหาญจนน่าละอายของผู้นำระดับโลก นายทิม โจนส์ ผู้นำขบวนการพัฒนาโลก ระบุว่าความตกลงดังกล่าวเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่อย่างน่าเสียดายของผู้นำโลกที่เหมือนกับคำพิพากษาส่งผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกให้เผชิญกับทุกข์ทรมาน
มาร์คชี้มหาอำนาจห่วงผลประโยชน์ตัว ถกแก้โลกร้อนล่ม เอ็นจีโอโวยผู้นำไร้ความกล้าหาญ ทำคนทั่วโลกทรมาน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง มาร์คชี้มหาอำนาจห่วงผลประโยชน์ตัว ถกแก้โลกร้อนล่ม เอ็นจีโอโวยผู้นำไร้ความกล้าหาญ ทำคนทั่วโลกทรมาน