เมื่อระบอบทักษิณพังครืนด้วยปฏิบัติการเหล็กคณะปฏิรูปฯ วิกฤตที่สุดในโลกก็ตกอยู่บนบ่าพล.อ.สนธิ-กองทัพ

"ยืนอยู่ตรงข้ามกัน"


แล้วที่สุด "ระบอบทักษิณ" ก็พังครืนลงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เวลา 23.50 น.

เมื่อ คณะปฏิวัติ ในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้ทำการยึดอำนาจ

เป็นการยึดอำนาจภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก

โดยมี พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้าคณะ

พล.อ.เรืองโรจน์ มหาสรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานที่ปรึกษาฯ

และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขาธิการ

ซึ่งจากรายชื่อ ก็ชัดเจนว่า "ผู้นำฝ่ายคุมกำลังหลัก" ยืนอยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น

เป็นการยืนตรงข้าม ด้วยเหตุผล


1) ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

2) ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

3) หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ

4) มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐ จะพยายาม "ขัดขืน" ด้วยการออกอากาศสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ และมีคำสั่งย้าย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตาม

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีเวลาเพียงไม่กี่นาที แทบไม่ทันอ่านแถลงการณ์จบ ก็ถูกทหารตัดสัญญาณทางโทรทัศน์ทันที

และนั่นดูเหมือน "บัลลังก์อำนาจ" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพังลงอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่บัดนั้น

"ปชช.คาดหวังคณะปฏิรูปฯ"


หลังจากนี้ ความคาดหวังของประชาชนคงไปตกอยู่บนบ่าของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ว่าจะนำพาประเทศให้ก้าวพ้น "ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ประการ" ที่ประกาศหรือไม่

ทั้งนี้ คณะปฏิรูปฯ ก็ดูจะระมัดระวังในการเคลื่อนไหวยึดอำนาจของตนเองอยู่พอสมควร

เพราะแม้แต่ชื่อ ก็ยังอิงกับคำว่า "การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

และได้ยืนยันในคำแถลงการณ์ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ว่า

"ไม่มีเจตนาจะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง และจะคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด"

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการเข้ามาเพื่อแก้ไขวิกฤต ไม่ใช่เพื่อแสวงหาอำนาจ

และได้มีการประชาสัมพันธ์ในช่วงกลางดึก ของวันปฏิบัติการ ว่า เมื่อเวลา 24.00 น. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการหล่าทัพ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานสถานการณ์บ้านเมือง และการเข้ามาปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย

"ประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง ที่ต้องยุบเลิกไปเพราะทำให้เกิดปัญหา"


ในประเด็นการยึดอำนาจ เพื่อแก้ไขวิกฤตนั้น คณะปฏิรูปฯ ได้พยายามแสดงจุดยืนในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ด้วยการให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อยุติวิกฤตจากรัฐธรรมนูญลง

ขณะเดียวกัน ได้ให้องค์กรทางการเมือง และองค์กรอิสระ ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอปัญหา และเป็นบ่อเกิดแห่งวิกฤต ถูกยกเลิกไป คือ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งในประเด็นศาลรัฐธรรมนูญนี้น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกต ด้วยคณะปฏิรูปฯ ระบุให้ "ศาลทั้งหลาย" นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและตามประกาศคณะปฏิรูปฯ

แสดงให้เห็น การขับเน้น ความ "ไม่ไว้วางใจ" ในศาลรัฐธรรมนูญ อย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้ก็คงเชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหา ความไม่เป็นกลาง การถูกแทรกแซง ขององค์กรอิสระแห่งนี้ โดยที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก ก็คงเป็นกรณีที่วินิจฉัยเกี่ยวเนื่องไปถึงตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่การซุกหุ้น ไปจนถึงปมประเด็นที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมา

การที่คณะปฏิรูปฯ ขับเน้นประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาแน่นอน ย่อมอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังว่า จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางนั่นเอง

ไม่เพียงแค่นั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ยังให้คำมั่นกับข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ปลัดกระทรวง ไปจนถึงอธิการบดี สถาบันการศึกษาต่างๆ ว่า การที่ประเทศชาติและสังคมมีความแตกแยกแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้ทุกคนในชาติรู้สึกไม่สบายใจ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ ที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งมีการแทรกแซงการทำงานในหน่วยงานราชการ รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้บ้านเมืองนั้นเสียระบบ และประชาชนเองก็ออกมาเรียกร้องให้กองทัพออกมากอบกู้สถานการณ์หลายต่อหลายครั้ง ทำให้กองทัพต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้ประเทศชาติกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ซึ่งกองทัพพร้อมจะทำอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกันเรื่องปัญหาภาคใต้ก็รับปากว่าจะทำให้สถานการณ์ภาคใต้คลี่คลายไปในทางที่ดีได้เช่นกัน

ซึ่งฟังแล้ว "ดูดีแน่" แต่ประเด็นก็คือ จะทำให้บรรลุผลได้จริงตามที่รับปากได้หรือไม่

"เหมือนประกาศชัดว่าไม่ต้องการอำนาจบริหาร"


ที่น่าพิจารณาและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ คำชี้แจงของคณะปฏิรูปฯ ต่อเอกอัครราชทูต อัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต 71 คน จากประมาณ 43 ประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายการบริหารประเทศ คือ

1) จะรีบดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ภายใน 2 สัปดาห์

2) จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพลเรือนโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าต้นเดือนตุลาคมจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

3) จะจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 1 ปี คาดว่าจะเป็นเดือนตุลาคม ปี 2550

4) ประเด็นการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้ว่ายังไม่มีแนวคิดจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ว่าจะต้องตรวจสอบ

5) จำเป็นจะต้องปลดองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ซึ่งหมายรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ด้วย

ในประเด็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ระยะเวลา 1 ปี อาจจะมองว่าไม่นาน แต่ต้องไม่ลืม คนไทยมีอารมณ์ตกค้างกับการเลือกตั้งมาเกือบ 1 ปี เมื่อบวกกับอีก 1 ปีข้างหน้า หลายคนอาจรู้สึกว่า ใช้เวลามากเกินไป

ขณะเดียวกัน ก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า เมื่อคณะปฏิรูปฯ ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการแสวงหาอำนาจในเชิงการบริหาร จะดีหรือไม่ ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยมีการควบคุมการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป

ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ผ่อนคลายบรรยากาศ "การรัฐประหาร" ลงไปได้มาก เพราะอย่าลืมว่า ในแง่การยอมรับของนานาประเทศนั้น การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มาจัดการเรื่องรัฐธรรมนูญ ย่อมดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปฯ

"จับตาดู นายกฯคนใหม่ว่าจะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองอีกหรือไม่"


แม้ว่าคณะปฏิรูปฯ จะผ่อนคลายความรู้สึกตรงนี้ ด้วยการเลือกพลเรือนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่ก็ยังต้องพิจารณาต่อไปว่า นายกฯ ใหม่นั้นเป็นใคร จะมีอิสระและมีความเป็นตัวของตัวเองเพียงใด

หากนายกฯ เป็นที่ยอมรับ ก็คงทำให้เรื่องนี้ผ่อนคลายลง แต่หากไม่ นี่ก็อาจเป็นปัญหาที่ไม่คาดฝันได้

เช่นเดียวกับ "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" คงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีโครงสร้างอย่างไร หากดำเนินไปอย่างรวบรัดและส่อความเป็นพวกพ้อง ไม่อิสระเพียงพอ หรือไม่

ถ้าใช่ ข้อกล่าวหาเดิมๆ เช่น "สภาร่างทรง" ก็จะกลับมาหลอกหลอนและพลอยทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับ

อย่าลืมว่า "รัฐธรรมนูญใหม่" ได้รับการคาดหวังสูงมาก ว่าจะเป็น "การปฏิรูปการเมือง" อย่างแท้จริง

หากไม่เป็นไปตามคาดหวัง "วิกฤตการเมือง" ก็อาจจะกลับมาอีก

ในส่วนเรื่องการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ดูตามแนวโน้มแล้ว คงยากที่จะไปทัดทานกระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ คำถามก็คือ จะตรวจสอบอย่างไร จึงจะมีเหตุมีผลในการนำไปสู่การยึดทรัพย์

อย่าลืมเป็นอันขาด ครั้งหนึ่ง ประเด็นการยึดทรัพย์ของคณะปฏิวัติในนามสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นั้น ได้กลายเป็นตัวบ่อนทำลายความศรัทธาคณะปฏิวัติอย่างสำคัญ เมื่อมีปฏิบัติการลูบหน้าปะจมูก จนไม่อาจเอาผิดใดๆ กับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าน่าจะทุจริตคอร์รัปชั่นสมัยนั้นได้

บทเรียนในอดีต ไม่ควรจะหวนกลับมาอีก

"เหนื่อยสุดๆ กับภาระ วิกฤตที่สุดของโลก"


ในวันนี้ ระบอบทักษิณถูกโค่นลงโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว

แต่การ "โค่นล้ม" นี้ มีต้นทุนในเชิงยอมรับตามระบอบประชาธิปไตยไม่มาก เพราะเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร

นี่จึงอาจทำให้คณะผู้ก่อการเหน็ดเหนื่อย

และจะยิ่งเหน็ดเหนื่อยมากขึ้น เมื่อต้องมาแบกภาระแก้ปัญหาที่เป็น "วิกฤตที่สุดของโลก" แทน พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกโค่นล้มไป

ด้วยภาวะที่ต้องเหน็ดเหนื่อยนี้เอง ทำให้คณะปฏิรูปฯ คงต้องทุ่มเท เสียสละอย่างมาก

เป็นการถูกต้องแล้ว ที่มีเจตนาแน่วแน่ที่ "จะไม่เข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง" รวมถึงให้คำมั่นจะให้มีการเลือกตั้ง ภายใน 1 ปี

ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำต่อไป

และหวังว่า ภาวะที่ รสช. เคยเผชิญนั่นคือ ดอกไม้ให้กำลังใจเบ่งบานในวันก่อการสำเร็จ แต่ก็กลับกลายเป็นก้อนอิฐในวันสุดท้ายที่เป็นความเจ็บปวดร่วมกันของสังคมไทยคือพฤษภาทมิฬ จะไม่เกิดขึ้นอีก

"คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คงจะไม่ติดหล่มแห่งอำนาจ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ "วิกฤตที่สุดในโลก" ของคนไทยให้ลุล่วงไปให้ได้


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์