คมชัดลึก :นายกฯ"อภิสิทธิ์" ใช้โอกาสระหว่างประชุมเอเปก พบนักธุรกิจสหรัฐ เผยพอใจแนวทางรัฐบาลโดยเฉพาะการแก้ปัญหา “มาบตาพุด” ขณะที่ที่ประชุม APEC CEO Summit 2009 ต้องการให้อาเซียนมีบทบาทนำในการรวมกลุ่มด้านต่างๆ
(14พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมจากไทย ซึ่งรวมถึงนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเอเปค ซีอีโอ ฟอรัม ที่สิงคโปร์ โดยนายกฯ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รูปแบบการรวมตัวระดับภูมิภาคในปัจจุบันอย่างเอเปคหรืออาเซียน เพียงพอหรือไม่”
นายกฯ กล่าวว่า เมื่อดูการรวมกลุ่มหรือแนวคิดจัดตั้งกลุ่มที่ฝ่ายต่างๆ ในโลกเสนอขึ้นมา บางคนอาจมองว่าการรวมตัวหรือรวมกลุ่มเหล่านี้ พัวพันกันยุ่งเหยิง แต่จริงๆ แล้วประเด็นที่น่าจะมองคือโครงสร้าง หรือสถาปัตยกรรมของการรวมกลุ่มในภูมิภาค ตอบรับหรือสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาค มีความสอดรับกัน และการรวมกลุ่มนั้นวิวัฒน์ไปพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคแห่งเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แม้โครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมการรวมกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบันจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็นับได้ว่าสนองความต้องการของประชาชนได้ดีพอสมควร เห็นได้จากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งประเทศต่างๆ กลุ่มจี 20 ก็มีบทบาทอย่างมากในการหารือ และร่วมมือกันดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสอดประสาน เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว
ในทำนองเดียวกัน อาเซียนนั้น เมื่อก่อตั้งขึ้นเมื่อ 42 ปีที่แล้ว ภูมิภาคนี้ยังเหมือนอยู่ในสภาพสงคราม แต่วันนี้อาเซียนสามารถรวมตัวกันได้ และเป็นอีกหนึ่งเวทีหารือของผู้นำของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย นอกจากนั้น อาเซียนยังพิสูจน์ให้เห็นว่าพร้อมรับมือกับการท้าทายต่างๆ อย่างเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก อาเซียนก็นำแนวคิดริเริ่มเชียงใหม่มาใช้และขยายวงเงินในแนวคิดนี้
นอกจากนั้น งานของอาเซียนยังสอดรับหรือเสริมสร้างงานของกลุ่มอื่นในภูมิภาค อย่างกรณีที่อาเซียนเป็นแกนในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือการประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาค (เออาร์เอฟ)
นายอภิสิทธิ์ ยังชี้ว่า แรงขับให้ประเทศต่างๆ รวมตัวกัน เปรียบเสมือนกระแสในระดับภูมิภาคและเป็นแนวโน้มระดับโลก ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็มีหน้าที่ในการดูแลให้การรวมตัวหรือรวมกลุ่มกัน ดำเนินไปอย่างยุติธรรม สำหรับการเสนอแนวคิดตั้งกลุ่มความร่วมมือใหม่ๆ ของประเทศต่างๆ อย่างกรณีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เสนอแนวคิดประชาคมเอเชียตะวันออก และนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ที่เสนอแนวคิดประชาคมเอเชียแปซิฟิกนั้น ก็ไม่ควรถูกมองว่าแนวคิดเหล่านี้หรือแนวคิดต่างๆ ขัดกัน แต่ควรมองว่าเป็นการวิวัฒน์
หลังการกล่าวสุนทรพจน์ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ถามคำถาม ซึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคนหนึ่งของออสเตรเลียได้ถามว่า ผู้นำของไทย ออสเตรเลีย และเม็กซิโกอ่านหนังสืออะไรที่ช่วยเกี่ยวกับแนวคิดในการวางแผนสำหรับอนาคต นายกฯ อภิสิทธิ์ ตอบว่า อ่านงานของพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ของออสเตรเลีย ตอบว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 12 เดือนที่ผ่านมา ได้อาศัยไบเบิลเป็นที่พึ่งทางใจ นอกจากนั้นก็อ่านบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์
อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าวันนี้ (14 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีได้พบปะกับคณะนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์การประชุม Suntec โดยมีการพูดคุยถึงความคืบหน้าประเด็นต่าง ๆ ต่อเนื่องจากการหารือที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รวมทั้งกรุงเทพมหานครในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าประเด็นส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าและเป็นไปด้วยดี รวมถึงอุตสาหกรรมยา และแนวทางที่รัฐบาลจะมีเวทีให้ภาคธุรกิจ ได้มีส่วนร่วมในการบอกถึงปัญหาอุปสรรคและข้อห่วงใยที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เช่น ในเรื่องของสิทธิบัตร เป็นต้น
ขณะที่คณะนักธุรกิจสหรัฐ ก็มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตอบสนองต่อภาคธุรกิจเอกชน มีการอธิบายให้ภาคธุรกิจเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการแก้ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมาดูแล ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แสดงความขอบคุณต่อความตั้งใจของรัฐบาลที่ทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้นักธุรกิจของสหรัฐสนใจที่จะขยายการลงทุนในไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทางนักธุรกิจสหรัฐ มีการสอบถามนอกรอบ และมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาโดยเชิญทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการประชุม APEC CEO Summit 2009 ที่ศูนย์การประชุม Suntec ในช่วงเช้าวันนี้ว่า ได้อภิปรายร่วมกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และประธานาธิบดีเม็กซิโก ซึ่งเห็นตรงกันว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการของคนได้ แต่ยังต้องการเห็นวิวัฒนาการของการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยหยิบยกมาพูดคุยกันมาก ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเมื่ออภิปรายเสร็จมีการลงคะแนนกัน ปรากฎว่ากว่าร้อยละ 70 เห็นว่าอาเซียน ควรจะมีบทบาทสำคัญ หรือเป็นแกนกลางในการเป็นผู้จัดประชุมหรือเป็นเจ้าภาพในด้านต่าง ๆ เหมือนอย่างที่ทำกับอาเซียนบวก 3 หรืออาเซียนบวก 6 หรือการจัดประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาสำคัญๆ
“การรวมตัวของอาเซียน ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่ามีความจำเป็น มีการพัฒนาเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และมองว่าอาเซียนยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการรวมตัวทางเศรษฐกิจได้เสนอข้อคิดเห็นอย่างไรบ้างนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ย้ำต่อที่ประชุมว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และนับวันเรื่องเขตการค้าเสรีจะเข้ามาครอบคลุมมากขึ้น เพียงแต่ข้อเสนอของผู้นำหลายประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเสนออย่างหนึ่ง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเสนออย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกัน อยู่ที่การเลือกจังหวะเวลา ขั้นตอนที่จะเดินไปข้างหน้ามากกว่า
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการประชุม Leaders ‘ Retreat Session 1 และการประชุมระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกกับสภาที่ปรึกษาเอเปดว่า จะพูดถึงการเชื่อมโยงเป็นหลัก และจะพูดในหัวข้อที่มีการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา โดยจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนในภูมิภาคเป็นหลัก รวมทั้งตั้งเป้าเกี่ยวกับการลดภาษีในประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปีหน้า และประเทศที่กำลังพัฒนาในอีก 10-11 ปีข้างหน้า
และต่อมาเวลา 19.20 น.นายกรัฐมนตรีและภริยาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส (Singapore Evening) ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และภริยาเป็นเจ้าภาพ ณ Esplanade
ส่วนการประชุมผู้นำอาเซียน -สหรัฐในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.) จะเสนอแนวทางเรื่องใดเป็นพิเศษบ้างนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในมุมของอาเซียนและสหรัฐ ถือเป็นการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมถึงนโยบายของสหรัฐ ที่จะเข้ามามีความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาเซียนใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งประเด็นหารือจะครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง