นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.
กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ส.ว. 1 ใน 3 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เกี่ยวปัญหาพิพาทไทย-กัมพูชา ว่า ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ คงไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะอนุมัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 127 บัญญัติ
อย่างไรก็ดี หากอยากจะหารือปัญหาดังกล่าว สามารถพูดถึงได้ในโอกาการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 4 วัน ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีวาระการพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ กลุ่ม 40 ส.ว. มองว่า ที่รัฐบาลดำเนินการทางการทูตในขณะนี้ ถือว่า เหมาะสมแล้ว และสมาชิกรัฐสภาควรผนึกกำลังเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ ตอนนี้ไม่ใช่เวลามาเล่นเกมการเมือง ควรให้รัฐบาลมีสมาธิในการไปดำเนินการทางการทูตตามที่แถลง
นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดยกเลิกเอ็มโอยูในหลายกรณีกับกัมพูชาว่า
เรื่องดังกล่าวทำให้ฝ่ายกัมพูชามีปฏิกริยา โดยเฉพาะเอ็มโอยูทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้สมเด็จฮุน เซน ออกอาการบาดเจ็บ เพราะเอ็มโอยูฉบับนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เอื้อประโยชน์ให้สมเด็จฮุนเซนและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มากที่สุด ซึ่งยังมีข้อครหาว่า ทั้งสองคนมีแผนร่วมกันได้ผลประโยชน์มหาศาลในการตั้งบริษัทนอมินีรับสัมปทานก๊าซธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลไทยจะยกเลิก ก็เหมือนกับไปทุบหม้อข้าวของทั้งสองคน สมเด็จฮุนเซนคงคิดไม่ถึงว่า นายกฯไทยจะดำเนินการเช่นนี้ ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มที่ และเชื่อว่า มาตรการต่อๆไปของรัฐบาลไทย จะทำให้ฐานะทางการเมืองของสมเด็จฮุนเซนในกัมพูชา มีปัญหา ส่วนเรื่องการค้าไทยกัมพูชา ที่อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์ 4 หมื่นล้าน ตนเห็นว่า ไทยน่าจะได้จากการนำแหล่งก๊าซธรรมชาติกลับมาถึงล้านล้านบาทมากกว่า และการที่กัมพูชาต้องซื้อสินค้าจำเป็นจากฝ่ายไทย เมื่อผู้นำกัมพูชาสร้างปัญหา ทำให้ไทยต้องดำเนินมาตรการทางการทูต เมื่อประชาชนกัมพูชาซื้อหาของไม่ได้ ก็ต้องไม่พอใจผู้นำของตนเองที่ไปสร้างเรื่องทำลายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้สมเด็จฮุนเซนลำบากขึ้นในประเทศกัมพูชา