ปมแก้รธน.ส่อทำปชป.วุ่นหนัก ส.ส.นครนายก ขู่ปลด"เทพเทือก"พ้นเลขาฯพรรค โทษฐานมีพฤติกรรมเอาใจพรรคร่วม "เจ๊หน่อย" ชูคว่ำประชามติแก้ 6 ประเด็น แนะควรเลือกรธน.40หรือ50 กกต.ชี้ถ้าทำประชามติแล้วขัดแย้งก็ไร้ประโยชน์ "เทพไท"ยันพรรคไม่แตกแก้รธน.เคารพการตัดสินใจของหัวหน้า "สดศรี"ชี้ถ้าทำประชามติแล้วขัดแย้งก็ไร้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จุดมุ่งหมายของการทำประชามติคือการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น หรือการทำให้ประชาชนมีส่วนรวมในการเมือง ซึ่งถ้ามีการทำประชามติแล้วยังมีการขัดแย้งกันอยู่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการทำประชามติ ส่วนจะทำประชามติขั้นตอนไหน ตนคิดว่าควรจะทำหลังจากแก้ไขใน 6 ประเด็นแล้วโดยควรจะผ่านการพิจารณาของสภาก่อนแล้วค่อยทำประชามติจะดีกว่า แต่หากทำประชามติก่อนจะแก้ไขหรือทำหลังผ่านสภาวาระแรกหากสภาไม่เห็นด้วยภายหลังประชามติที่ทำอาจมีปัญหาได้ ซึ่งควรทำประชามติเหมือนเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี2550 ทั้งนี้กฎหมายประชามติระบุว่าถ้าเห็นว่าการทำประชามติไม่ถูกต้องก็สามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้ "เจ๊หน่อย" ชูคว่ำประชามติแก้ 6 ประเด็น แนะควรเลือกรธน.40หรือ50 "ถาวร"ปัดปชป.ตี2หน้าแก้ รธน.ชี้ขัดแย้งภายในพรรคแสดงถึงความสง่างาม เมื่อถามว่า วิปฝ่ายค้านจะร่วมประชุมกับวิปอีก 2 ฝ่าย ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ด้วยหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ต้องถามว่าวิปรัฐบาลมีประเด็นเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าไม่มี หรือตราบใดที่ยังยืนยันว่าจะทำประชามติ 6 ประเด็นก็ไม่ต้องเชิญพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว เพราะถือว่าความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการทำประชามติ ที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่ต้องเสียเงินถึง 2,000 ล้านบาท พรรคมาตุภูมิ 3 คน
ปมแก้รธน.ปชป.เดือดส.ส.นครนายกฯขู่ปลดสุเทพพ้นเลขาฯ
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าววันที่ 16 ตุลาคมว่า จะขอใช้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ร่วมลงแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองแต่กลับจะโยนภาระให้กับประชาชน ซึ่งหากมีการดำเนินการเสนอญัตติแก้ไข ตนพร้อมพรรคพวก ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ และนอกพรรคมากกว่า 30 คน พร้อมที่จะไม่ยกมือหนุนกฎหมายสำคัญๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจุดนั้นจะทำให้รัฐบาลล้มไปในที่สุด
แต่หากมีการทำประชามติแล้วประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วยพวกก็พร้อมยอมรับ นอกจากนี้จะมีการพิจารณาถึงพฤติกรรมตัวบุคคลที่เอาใจพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไปด้วย โดยหากพบว่าทำให้ประเทศเสียหาย ก็สามารถเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เป็นการเร่งด่วน หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย ก็สามารถปลดออกจากเลขาธิการพรรคได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาอุ้มชูเอาใจพรรคร่วมมากเกินไปถึงขนาดนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหากเสนอแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็เตรียมนับถอยหลังได้เลย นายชาญชัยกล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็นับถอยหลังกันอยู่แล้ว เพราะแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ แล้วยังจะมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่มีข่าวว่า มี ส.ส.จำนวนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ในพรรคยังไม่มีขบวนการตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด สมาชิกพรรคทุกคนยอมรับและเคารพการตัดสินใจของหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ถ้าจะมีสมาชิกบางคนออกมาแสดงความเห็น ก็ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งต้องยอมรับในเอกสิทธิ์และความเห็นของบุคคลเหล่านั้น แต่ทั้งหมด พรรคได้เปิดเวทีให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความเห็นในที่ประชุม ส.ส.แล้ว ดังนั้น หากสมาชิกจะแสดงความเห็นใดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพรรคก็อยากเรียกร้องให้มาพูดในที่ประชุมส.ส. ซึ่งพรรคจะเปิดเวทีให้ในการประชุมส.ส.วันอังคารที่ 20 ต.ค.นี้อีกครั้ง
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ส่วนตัวเห็นว่าหากต้องแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วเสียเงิน 2,000 ล้านบาท ในยามที่ต้องกู้เงินมาใช้ทำประชามติ ตนไม่เห็นด้วยและคิดว่าอย่าทำดีกว่า เนื่องจากใน 6 ประเด็นนั้นเป็นการแก้ปัญหาของนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช้แก้ปัญหาให้ประเทศชาติและจะสร้างความสมานฉันท์ หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ควรพิจารณาโดยภาพรวมทั้งหมดแล้วเลือกว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือ 2550 เป็นตัวตั้ง แล้วมองปัญหาของประเทศซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องยอมรับว่า 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในจ.ระยอง ที่ศาลปกครองสั่งระงับไปนั้นก็เกิดจากกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติไว้
"หากแก้เพียง 6 ประเด็นเหมือนกับการทานยาแก้ปวดที่ระงับอาการปวดได้เพียงชั่วคราว ต้องคำนึงถึงสาเหตุของโรค" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่า เพื่อไทยออกมาค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้เพราะมีใบสั่งมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นางสุดารัตน์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 16 ตุลาคม นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีส.ส.ในกลุ่มนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นว่า ความคิดที่หลากหลายเป็นเรื่องความสง่างามของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองแตกต่างกันจากการใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีเอกภาพอยู่ การมีความเห็นที่หลากหลายแสดงว่า มีความเป็นประชาธิปไตยสูง พรรคเปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อถามว่า การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มนายบัญญัติ ซึ่งสวนทางกับความเห็นของนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าเป็นการตีสองหน้า นายถาวรกล่าวว่า ไม่ใช่การตีสองหน้า แต่เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีอิสระในพรรคที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อหาข้อสรุป และเป็นมติพรรคออกมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครมามาสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ ถือเป็นความสง่างามที่อยู่มาได้ 60 กว่าปีของพรรคประชาธิปัตย์
"มาร์ค"ปัดเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล
ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา ปชป. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขและจะไม่ลงชื่อ ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.มีความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญต่างกัน แค่เรื่องเลือกตั้งเขตเล็กเขตใหญ่ก็ความเห็นก็ไม่เหมือนกัน แต่ภาพใหญ่ที่เป็นจุดยืนของพรรคคือ พรรคจะพยายามสนับสนุนกระบวนการ ที่เป็นความสมานฉันท์ และเคารพการตัดสินใจของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะคุ้มหรือไม่ที่นายกฯจะเอาจุดยืนของตัวเองกับจุดยืนของ ปชป.ไปแลกกับการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีการแลกอะไรเลย เพราะเป็นเรื่องของประชาชนเป็นคนตัดสิน ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลต้องการอย่างหนึ่ง แต่ประชาชนไม่เอาด้วยก็ไม่ทำอยู่แล้ว ดังนั้น คนชี้ขาดคือ ประชาชน
เมื่อถามว่า แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาขณะนี้คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขณะที่การแก้ 6 ประเด็นก็ทำเพื่อพรรคร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ ถ้าเป็นเฉพาะของพรรคร่วมคงไม่ทำ แต่เป็นเรื่องที่ไปผ่านกระบวนการของคณะกรรมการของรัฐสภา ที่มี ส.ว.และเดิมมีฝ่ายค้านอยู่ด้วย ที่สุดหลักเรื่องประชามติจะได้มีข้อยุติ จะได้รู้เสียทีว่าประชาชนต้องจะแก้จริงหรือไม่ ถ้าไม่อยากแก้เรื่องจะได้จบ ไม่เช่นนั้นจะค้างคาเถียงกันไปตลอด
มั่นใจประชามติ 6ปมเสียงแตก
เมื่อถามว่า วันนี้เสียงคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญแรงขึ้น จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งแทนที่จะสร้างความสมานฉันท์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเสียงคัดค้านเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศก็จบลงด้วยการประชามติ ที่บอกกับนักการเมืองเองว่าไม่ต้องแก้ จะได้ไม่มีคนมาอ้างอีกว่าต้องแก้ ไม่เช่นนั้นสมานฉันท์ไม่ได้
เมื่อถามว่า จะเป็นการดึงดันเกินไปที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่มีการดึงดันเลย ไม่มีใครตอบผมได้เลยว่า ลงประชามติใน 6 เด็นแล้วประชาชนจะลงมติอย่างไร และผมยังเชื่อด้วยว่าถ้ามีการลงประชามติ 6 ประเด็น เสียงมันจะแตกต่างกันแน่"
เมื่อถามว่า แต่ พท.จะต้องเดินหน้าไปชี้นำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยเพื่อคว่ำประชามติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "เขาไปคว่ำประชามติไม่ได้หรอก ประชามติเป็นรัฐบาลว่าจะดำเนินการหรือไม่ ถ้าเขาไปคว่ำไม่ให้แก้ ก็ดี แสดงว่าประชาชนไม่ต้องการให้แก้ ก็จบ ก็ไม่ต้องพูดกันอีกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ"
"สุเทพ"เชื่อสมาชิกพรรคเข้าใจ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ ปชป. กล่าวถึงกรณีนายบัญญัติจะไม่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเพียงรายงานข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อ เท่าที่คุยกันในพรรค ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรี แถลงเอาไว้ และสิ่งที่คุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมยังคงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันใน ปชป. ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ เมื่อตกลงกันแล้วว่าจะเอา 6 ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ ก็ต้องรอผล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะสมาชิก ปชป.ไม่พอใจที่รองนายกฯ เอาใจพรรคร่วมรัฐบาลเกินไปหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า "ผมคิดว่าคนในพรรคส่วนใหญ่เข้าใจผมดี เพราะการที่ผมไปประสานงาน เรื่องตั้งรัฐบาล ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมพรรคทราบทุกขั้นตอน ไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ ดังนั้น เรื่องที่กลัวว่า จะมีคนไม่พอใจผมนั้น คงไม่เป็นความจริง"
"วัชระ"ประกาศต้านเป็นคนแรก
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม.ปชป. กล่าวว่า ขอประกาศเป็นคนแรกว่าไม่เห็นด้วย และจะไม่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเพียงการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น เว้นแต่มีการทำประชามติและประชาชนเห็นว่าควรแก้ไข แนวทางนี้เป็นไปตามความเห็นของนายบัญญัติ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคมีมติให้ ส.ส.ทุกคนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร นายวัชระกล่าวว่า ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคยังยืนยันว่าไม่เคยทำข้อตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติว่าพรรคจะให้ ส.ส.ฟรีโหวตหรือไม่
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป.แถลงว่า ขอยืนยันว่า ปชป.ยังมีความเป็นเอกภาพและจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามข้อตกลงที่คณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่ายที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงเห็นควรที่จะใช้กระบวนการที่ให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมโดยตรง
ปธ.วิปรบ.คาดฝ่ายค้านร่วมวง
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายบัญญัติ ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้พูดว่าจะไม่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โดยอาจจะเกิดจากการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาว่าหากต้องทำประชามติหลังยกร่าง นายบัญญัติก็คงไม่เห็นด้วย ซึ่งเชื่อว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจทำให้สมาชิกพรรคบางคนฟังแล้วเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าภายใน ปชป.ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะถือเป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายสมาชิกทุกคนจะเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของ ปชป.อยู่แล้ว
"เชื่อว่าการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ตุลาคม ฝ่ายค้านที่มีท่าทีจะถอนตัว จะเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะขณะนี้เริ่มมีสัญญาณไปในทางที่ดีว่าฝ่ายค้านอาจจะเข้าร่วมการหารือด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายค้านข้าร่วมการประชุมจะต้องตอบคำตอบใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.เรื่องโครงร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯหรือไม่ 2.เรื่องการทำประชามติ และ 3.ต้องได้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายชินวรณ์กล่าว
ส.ส.เห็นต่างแก้เขตเลือกตั้ง
แหล่งข่าวจาก ปชป.แจ้งว่า ขณะนี้ ส.ส.ปชป.ยังมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ ให้กลับมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว โดยมี ส.ส.สมัยแรกจำนวนมาก และเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเลือกตั้งระบบเขตใหญ่ไม่เห็นด้วย ส่วน ส.ส.ที่เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2544 เห็นด้วยที่จะให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะเคยชินกับการเลือกตั้งแบบนั้น
"ขณะนี้ มี ส.ส.บางส่วนแสดงท่าทีว่า อาจไม่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกระทำของ นายสุเทพ เป็นการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า การกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว อาจทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคลดลง โดยเฉพาะในเขต กทม." แหล่งข่าวกล่าว
"เสธ.หนั่น"ฟันธงรื้อไม่สำเร็จ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือหาก ส.ว.ไม่เล่นด้วยก็คงแก้ไม่ได้ แต่ว่าควรจะค่อยๆ คุยกันไป ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ความเห็นที่ต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา หาก ส.ว.ไม่เอาด้วยจริงๆ พรรคร่วมรัฐบาลคงจะต้องมานั่งปรึกษาหารือกัน เมื่อถามว่า ประเมินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ พล.ต.สนั่นกล่าวว่า "ไม่สำเร็จหรอก"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า พท.น่าจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญกับคณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่ายไปก่อน แล้วสุดท้ายเมื่อรัฐบาลไม่จริงใจ ประชาชนจะเห็นปัญหาเอง หากต้องทำประชามติ ควรถามประชาชนว่าจะแก้ทั้งฉบับโดยเอาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลักหรือไม่
ปธ.วิปค้านเมินร่วมถก3ฝ่าย
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พท. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พท.ไม่ได้เป็นตัวถ่วงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนพอ โดย ปชป.มี ส.ส. 175 คน ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง รวมกับ ส.ว. หากนับเพียงครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด หรือ 75 คน สมาชิกรัฐสภาที่จะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญมีจำนวนมากกว่า 300 คนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมี ส.ส.ทั้งสิ้น 474 คน แบ่งเป็น
ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 278 คน ประกอบด้วย
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 173 คน
พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) 32 คน
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 31 คน
พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 25 คน
พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) 9 คน
พรรคกิจสังคม (กส.) 5 คน
ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านมี 196 คน
ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 189 คน (ยังไม่ได้หักนายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร และร.ต.ปรพล อดิเรกสาร ส.ส.สระบุรี กลุ่มเพื่อนเนวิน ภท.) และ ส.ส.พรรคประชาราช 7 คน
ขณะที่ ส.ว.มี 149 คน
"ชัย"ยันเสียงเกินพอหนุนแก้
ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มั่นใจว่ารัฐบาลมีเสียงพอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า "ส.ว. 150 คน อาจมี 50 คนที่ไม่ร่วมลงชื่อ แต่อีก 100 คนก็ลงชื่อ ถ้ามารวมกับฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียง 275 เสียงก็ถือว่าล้นเหลือแล้ว ซึ่งผมไม่ได้มั่นใจอะไร แต่เป็นการคำนวณตัวเลขคร่าวๆ ถ้ามีเสียงลงมติเกิน 311 เสียงก็ใช้ได้แล้ว"
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หากวิปฝ่ายค้านขอถอนตัว เหลือแค่วิป 2 ฝ่าย ทางวุฒิสภาคงไม่ทำอะไรอยู่แล้ว เพราะยังต้องรอร่างแก้ไขจากฝ่ายกฎหมายก่อน และต้องฟังเสียงประชาชนจะตอบรับอย่างไร
ปมแก้รธน.ทำปชป.เดือดส.ส.นครนายกขู่ปลดสุเทพพ้นเลขาฯ เจ๊หน่อยโผล่ชูคว่ำประชามติแก้6ประเด็น
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ปมแก้รธน.ทำปชป.เดือดส.ส.นครนายกขู่ปลดสุเทพพ้นเลขาฯ เจ๊หน่อยโผล่ชูคว่ำประชามติแก้6ประเด็น