จากการที่ "หน่วยงานด้านการข่าว" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อาจมี "กลุ่มคนไม่หวังดี" ต่อบ้านเมืองเตรียมการก่อความวุ่นวายขึ้นใน "เมืองหลวง" ของไทย
เพื่อให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลในการจัดประชุม "ผู้นำอาเซียน" ซึ่งถือเป็นครั้งแก้ตัวในการเป็น "เจ้าภาพ" อีกครั้ง
กอ.รมน. จึงต้องจัดแผนรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวดรัดกุมทั้งพื้นที่ประชุมอาเซียน และพื้นที่ กทม. ที่ถือเป็น "จุดเสี่ยง" ไม่แพ้กัน
ที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. เป็นประธานรับทราบ "แผนอารักขา" เมืองหลวง ตามประกาศพื้นที่ความมั่นคง "เขตดุสิต-เขตพระนคร" ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15-25 ตุลาคมนี้
กอ.รมน.จัดทำ "แผนคำสั่งปฏิบัติการที่ 1" โดยสนธิกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือน จำนวน 31 กองร้อย
แบ่งเป็น กำลังทหาร จำนวน 25 กองร้อยรักษาความสงบ โดยเป็นกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1 อาทิ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ร.2 รอ.) กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) กองร้อยควบคุมฝูงชน กำลังตำรวจ 6 กองร้อย และฝ่ายพลเรือนของ กอ.รมน. อีก 350 นาย
ภายใต้การบังคับบัญชาของศูนย์อำนวยการติดตามความสงบเรียบร้อย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการศูนย์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรอง ผอ.ศูนย์ นอกจากนี้ ยังมี ผบ.ทบ. และ ผบ.ตร. เป็นผู้ช่วย รอง ผอ.ศูนย์ และเสนาธิการทหารบก เป็นเลขานุการศูนย์ โดยมีกองบัญชาการ (กอง บก.) อยู่ที่กองทัพบก
โดยกำลังรักษาความสงบทั้ง 31 กองร้อย ประจำอยู่ในสถานที่สำคัญ อาทิ พระตำหนักจิตรลดาฯ รัฐสภา
บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แต่กำลังส่วนใหญ่อยู่ที่ "ทำเนียบรัฐบาล" เนื่องจากมีข้อมูลที่ "กลุ่มไม่หวังดี" ต้องการเคลื่อนมาชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลในฐานะเจ้าภาพอาเซียน
ทั้งนี้ กำลังที่ปฏิบัติหน้าที่มีภารกิจสำคัญ คือ ป้องกันรักษาสถานที่ราชการนี้ไว้ ห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบได้ทันที หากมีผู้ฝ่าฝืน
สำหรับ "กฎการใช้กำลัง" จะปฏิบัติก็ต่อเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนเข้ามาในบริเวณสถานที่สำคัญ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีอาวุธประจำการ เช่น โล่ กระบอง แก๊สน้ำตา เครื่องขยายเสียง โดยจะปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก และทุกขั้นตอนจะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอะไร เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงปะทะกับเจ้าหน้าที่
ขณะที่ มาตรการรักษาความปลอดภัยการจัดประชุมอาเซียนที่ อ.หัวหิน และชะอำ จะแยกส่วนปฏิบัติของกำลังทหารออกจากภารกิจใน กทม. โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย เป็นผู้รับผิดชอบหลักดูแลประชุมอาเซียน โดยจะเน้นการใช้กำลังพลหน่วยในพื้นที่เป็นหลัก
อาทิ กองพลทหารราบที่ 9 กำลังจังหวัดทหารบกเพชรบุรี กำลังจากศูนย์การทหารราบ และกำลังหน่วยรอบพื้นที่ แต่จะมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากส่วนกลาง เช่น ภารกิจดูแลผู้นำแต่ละประเทศ การต่อต้านก่อการร้าย โดยจะมีกำลังทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และกำลังจากศูนย์รักษาความปลอดภัยลงไปปฏิบัติหน้าที่