ระงับ!76โครงการแลกสูญ4แสนล.


ปัญหา มาบตาพุดกำลังกลายเป็นวิกฤติใหม่ของประเทศไทยที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีความเห็นอย่างไร หลังจากที่ได้รับคำอุทธรณ์ของอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบอำนาจจาก 8 ส่วนราชการ เพื่อขอให้พิจารณากลับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้ระงับการดำเนินโครงการ 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง จังหวัดระยอง
   
เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบว่า  “คณะตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด คณะที่ 1” จะชี้ชะตาในเรื่องนี้อย่างไรจึงทำให้บรรดาเจ้าของโครงการทั้ง 76 โครงการ ต่างตกอยู่ในอาการ อกสั่นขวัญแขวน
   
หากเป็นไปใน ทางลบนั่นหมายความว่าเงินลงทุนที่ลงไปเกือบ 400,000 ล้านบาท จะอันตรธานหายไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่นักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาใหม่ ย่อมหันหัวทิศทางการลงทุนไปยังเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนามที่ได้กลายเป็น ตาอยู่มากิน พุงปลาจนท้องกาง
   
แต่นั่น !!! ยังไม่ได้หมายรวมถึงอีกสารพัดปัญหาที่จะตามมาทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม จากแรงงานที่ตกงาน หรือความน่าเชื่อถือของประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทย ดิ่งเหวลงนรกไปเลยก็ว่าได้ หากประเทศไทยไม่เกิดการลงทุนใหม่ในอีก 2 ปี ข้างหน้า  ขณะที่ ณ เวลานี้ รัฐบาลไม่มีเงินที่จะนำมาลงทุนใหม่ด้วยตัวเอง จนต้องไปกู้ยืมมาลงทุนแทน แม้จะเป็นเงินในประเทศก็ตาม แต่หากไม่มีเอกชนเข้ามาลงทุน หนทางแห่งความพินาศ คงมีมาให้เห็น
   
ข้างฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ทำได้แต่เพียงยืนยันว่า รัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ปี 50 ตามมาตรา 67 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องดำเนินการใน 4 ประเด็น คือ 1. จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)  2. ต้องประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) 3. ต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และ 4. ต้องผ่านความเห็นชอบขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนจึงค่อยอนุมัติหรืออนุญาตให้ดำเนินโครงการนั้น ๆ ได้
       
ดังนั้นผลของความพยายามของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของภาครัฐในการหารือร่วมกับภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันหรือกกร. เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา หรือการเรียกทั้ง 8 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหาแนวทางรองรับคำสั่งของ ศาลปกครองสูงสุดในทุกทาง จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด
   
ที่สำคัญจากข้อมูลของกกร. ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณานั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทั้ง 76 โครงการ นั้นมี 18 โครงการ มูลค่ารวม 89,232 ล้านบาท จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสำคัญที่สุด เพราะยังไม่ได้จัดทำ  EIA  มี 18 โครงการ มูลค่ารวม 89,232 ล้านบาท, ขณะที่ 47 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 140,461 ล้านบาท มีโอกาสที่ศาลจะพิจารณาให้ดำเนินการต่อได้ เพราะได้จัดทำรายงาน  EIA หากพิสูจน์ได้ว่ารายงานนั้นผ่านกระบวนการที่น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยผลกระทบทางด้านสุขภาพ, ขณะที่อีก 11 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 58,405 ล้านบาท ได้รับอนุมัติการจัดทำรายงาน  EIA ก่อน การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550  ซึ่งกลุ่มนี้รัฐบาลได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองทั้งหมด และคาดว่าน่าจะได้รับการพิจารณายกเลิกคำสั่ง
   
อย่างไรก็ตามในจำนวน 76 โครงการ มีโครงการที่เป็นของกลุ่มบมจ.ปตท. มากถึง 25 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 120,000-130,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้บริหารของบมจ.ปตท. ต่างคิดหนักและอาจจำเป็นต้องยื่นทุเลาบังคับคดีเองเช่นกัน เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลางโดยตรง ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมาแบบที่คาดไม่ถึง เพราะโครงการของบมจ.ปตท. มีทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อยู่ระหว่างทดลองระบบ รวมทั้งโครงการของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยอีก 20 โครงการ
   
นอกจากนี้กกร.ยังระบุไว้ชัดเจนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย จะมีความเสี่ยงมากขึ้นทันที เพราะทั้ง 76 โครงการ มีเงินลงทุนรวมกันถึง 330,000 ล้านบาท มาก  กว่างบประมาณการลงทุนทั้งปีของรัฐบาล และเคยมีประมาณการไว้ว่า หากโครงการเหล่านี้เปิดดำเนินการ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี หากทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ย่อมทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 ต้องติดลบเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวจนติดลบที่ 3% และทำให้เศรษฐกิจในปี 2553 ขยายตัวลดลง 0.5% จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% 
   
ไม่เพียงเท่านี้การระงับ 76 โครงการ จะทำให้สูญเสียโอกาสการจ้างงานจำนวนมาก เพราะโครงการการลงทุนต่าง ๆ จะใช้แรงงานในการก่อสร้างประมาณ 40,000 คน และเมื่อเปิดดำเนินกิจการ จะมีการสร้างงานกว่า 100,000 คน รวมทั้งแรงงานในท้องถิ่น และแรงงานต่อเนื่อง รวมไปถึงการเกิดคดีความฟ้องร้องทั้งในภาคเอกชน ฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐสำคัญอย่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  
   
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กำลังฟื้นตัวขึ้น จะถดถอยลงไปทันที โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะบรรดาหอการค้าต่างประเทศ ทั้งหอการค้าญี่ปุ่น และหอการค้าสหรัฐ ได้แสดงความรู้สึกวิตกกับบรรยากาศการลงทุนของไทยอย่างมาก ทั้งที่เป็นโอกาสสำคัญที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันตกมาสู่ฝั่งตะวันออก ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปยังเพื่อนบ้าน และนักธุรกิจไทยอาจ ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น เพราะไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเงินทุนไหลออก
   
เท่านี้ไม่พอยังส่งผลให้แผนการและมาตรการบางเรื่องของรัฐบาลต้องเลื่อนออกไป เช่น แผนลดการนำเข้าแอลพีจี เมื่อโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ของกลุ่ม ปตท. ที่ตามแผนเดิมจะก่อสร้างเสร็จในเดือนพ.ค. 53  ต้องเลื่อนออกไป ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น และเพิ่มภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในเดือนก.ย. ที่ผ่านมารัฐบาลต้องชดเชยไปแล้ว 890-900 ล้านบาท  ส่วนกลุ่มโรงกลั่นเตรียมเสนอกระทรวงพลังงาน ให้เลื่อนมาตรการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 ออกไป เนื่องจากโรงกลั่น 2 แห่ง ในโครงการปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 อยู่ใน 76 โครงการถูกสั่งระงับด้วย
   
ส่วนตลาดหุ้นและตลาดทุนไทยจะถูกกระทบ เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่เกือบ 40 แห่งที่ถูกระงับ เป็นโครงการลงทุนของกลุ่ม ปตท. และกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ และยังจะกระทบต่อราคาหุ้นกู้ กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน กระทบการเติบโตและการพัฒนาตลาดทุนไทย ธุรกิจของคู่ค้า คู่สัญญา สถาบันการเงิน และบริษัทที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการไม่มีเงินชำระหนี้คืนสถาบันการเงินที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ
   
อย่างไรก็ตามไม่ว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้กลายเป็นวิกฤติของประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงได้ถูกสั่งสมมานาน ตั้งแต่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อปี 2531 ที่ได้ขยายขอบเขตการสร้างเมืองอุตสาหกรรมออกไปจากแผนการพัฒนาที่แท้จริง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของชุมชน ด้วยการหลงระเริงว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 โดยไม่มีแผนรับมือรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
   
ขณะเดียวกันปัญหาการเมืองที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาโดยตลอด 3 ปี ที่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาถึง 4 คน ทำให้การบริหารประเทศต้องสะดุดในทุกทาง ที่สำคัญยังต้องสาละวนแก้ปัญหาในรัฐบาลกันเอง จนลืมแก้ปัญหาอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงมาบตาพุดที่ถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด โดยเฉพาะส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่แท้จริง ก่อนจะมาร้อนตัวเมื่อปัญหาได้กลายเป็นชนวนจุดระเบิดลูกสำคัญของประเทศไปเสียแล้ว
   
จากนี้ไปคนไทยทั้งประเทศ คงต้องลุ้นผลการตัดสินของ ศาลปกครองสูงสุดว่าจะออกมาเป็นเช่นไร !!!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์