เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กล่าวภายหลังการประชุมป.ป.ช. ว่า ที่ประชุม มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ เข้าข่ายมีความผิดทางอาญา กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบให้รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
โดยมติครม.ดังกล่าวไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
ดังนั้นส่งสำนวนให้ประธานวุฒิสภา ถอดถอนนักการเมืองสองคน ตามที่ถูกกล่าวหา และให้นักการเมืองสองคน มีความผิดอาญา ตามมาตรา 157 โดยในส่วนของคดีอาญาจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.) พิจารณา เพื่อส่งต่อไป ยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับรัฐมนตรีในครม.ชุดของนายสมัคร และข้าราชการอื่นๆ ให้ยกเลิกข้อกล่าวหา
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ป.ป.ช.ได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา และแผนที่แนบท้าย เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ ครม.ชุดของนายสมัคร
กรณีมีมติครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 เห็นชอบให้ นายนพดล รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ไปลงนามแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา ในการสนับสนุนให้กัมพูชาเสนอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ต่อมาเมื่อปลายเดือน ก.ค.51 มีผู้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.รวม 7 คำร้อง เพื่อขอให้พิจารณาถอดถอนและให้ดำเนินคดีอาญา กับครม.ชุดนายสมัครทั้งคณะ รวมถึงให้ดำเนินคดีอาญากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายนพดล ในข้อกล่าวหา อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีกระทำการเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จากการออกมติครม.ดังกล่าว โดยการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 ก.ค.51 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย