คมชัดลึก :นายกฯ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เผยประสบผลสำเร็จประชุมจี-20 +ยูเอ็นที่สหรัฐฯ นานาชาติมั่นใจการเมือง-เศรษฐกิจไทย ไม่ห่วงเหตุการณ์รุนแรง ชี้อีก 1-2 เดือนทุนนอกไหลเข้าไทย
(26ก.ย.) เมื่อเวลา 21.00 น. นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์พิเศษสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนแนล เกี่ยวกับภารกิจการเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเด็นต่างๆ ทางการเมืองในขณะนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงสาระสำคัญในการปาฐกถาบนเวทีสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 กันยายน ว่า ขณะนี้โลกทั้งโลกเจอหลายปัญหา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายในแบบพหุภาคี ทั้งปัญหาความขัดแย้งในโลก วิกฤติสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้ย้ำจุดยืน โดยเชื่อมั่นว่าแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้
เมื่อถามถึงสิ่งที่นานาชาติแสดงความเป็นห่วงประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เขาจะแสดงความประทับใจ และเชื่อมั่นในประเทศไทยว่าจะก้าวพ้นความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา และมีความมั่นใจทางเศรษฐกิจมากขึ้น คนที่รู้จักเมืองไทยดีก็จะถามในเรื่องเฉพาะ เช่น บริษัทที่จะมาลงทุนก็จะถามปัญหาเกี่ยวกับการลงทุน ส่วนคนที่ติดตามจากข่าวก็จะถามเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า ต่างชาติมีความเข้าใจสถานการณ์ในเมืองไทยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เขาจะเข้าใจปัญหาเกิดจากอะไร เขารู้ว่ามีกลุ่มบุคคล ซึ่งมีเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งเขาก็ถามเราบริหารจัดการอย่างไร แต่ส่วนใหญ่มั่นใจ เพราะเขาทราบถึงความเข้มแข็งของสังคมไทย และมองไม่เห็นแนวทางที่ดีกว่ารัฐบาลที่ใส่ใจประชาธิปไตยทั้งในระบบรัฐสภาและการให้มีการชุมนุมได้ตามหลักกฎหมาย
เมื่อถามถึงความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยของชาวต่างชาติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาเยอะพอสมควร โดยน่าจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งเรื่องอาหาร ยานยนต์ หรือแม้กระทั่งภาคบริการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการพูดคุยกับ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า เรื่องหลักๆ คือ การประชุมอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ในการประชุมเอเปก ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนั้นก็จะปัญหาของโลกในขณะนี้ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือปัญหาภายในของเขา เช่น การปฏิรูประบบสุขภาพของสหรัฐ ที่กำลังเป็นปัญหา
เมื่อถามว่าในการประชุมดังกล่าวประธานาธิบดีสหรัฐจะแวะมาเยือนเมืองไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ แต่น่าจะเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียต่อ เพราะเขามีความผูกพันกับที่นั่น เข้าใจว่าอย่างนั้น
เมื่อถามว่า สหรัฐห่วงใยเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เขาเห็นว่าเราก้าวหน้าไปมาก ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเดินหน้าตามกรอบเวลาของมัน
"อีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องอาหารจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศเริ่มติดต่อมาที่เรา เพราะเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งจะใช้งบไทยเข้มแข็งเพื่อเพิ่มศักยภาพ เช่น ด้านแหล่งน้ำ ขณะนี้โอกาสของไทยค่อนข้างจะดี" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อให้ประเมินผลสำเร็จ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการเสริมภาพลักษณ์ในเวทีโลก เพื่อแสดงว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการแสดงบทบาทในเวทีโลกที่เราห่างเหินมาเป็นเวลานาน เรากลับมาบอกว่าเราพร้อมมาทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว
ส่วนความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งในกรณีของชาวโรฮิงญา และประชาธิปไตยในพม่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ไม่มีเลยครับ เพราะรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยผู้แทนสิทธิมนษยชนของสหรัฐก็มีความพอใจมาก และผมยังได้คุยกับเลขาธิการยูเอ็นเรื่องพม่า ซึ่งสัญญาณสหรัฐและยุโรปดีขึ้น พร้อมมีความสัมพันธ์กับพม่า แทนการคว่ำบาตร และโดดเดี่ยวเหมือนเดิม"
เมื่อถามถึงภารกิจแรกหลังกลับจากสหรัฐ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ภารกิจที่ต้องดำเนินการ คือ การนัดหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเมืองที่ให้สัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไป โดยน่าจะเริ่มพูดคุยได้ในวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคมนี้ ในการประชุมสภา
ได้พบคนไทยซึ่งมีความเป็นห่วงอันดับแรกคือพระพลานามัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนการเมืองในภาพรวมและตลอดเวลาที่อยู่สหรัฐได้ติดตามเรื่องพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับสื่อต่างประเทศที่มีการถามทั้งศก.และการเมือง ต่างประเทศเป็นมิตรและอาใจช่วยเรา หลังเดินทางกลับ วันจันทร์เปิดประชุมสหประชาชน และการนัดประชุมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับตำแหน่งผบ.ตร.นั้นไม่แน่ใจว่าจะทันวันที่ 30 กย.แต่คงไม่มีปัญหาก็คงมีการตั้งรักษาราชการ