ไหว้ส.ส.-สิทธิส่วนบุคคล

วิจารณ์กันแซด เมื่อสภาผู้แทนราษฎร โดยสำนักบริหารกลาง กลุ่มงานบริหารงานบุคคล ออกหนังสือเวียนแจ้งให้ข้าราชการในหน่วยงานสังกัดสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติตนให้เหมาะสมใน 2 ข้อ

1.ทำความเคารพส.ส. เมื่อพบเห็น 2.ให้บริการแก่ส.ส.ด้วยความเต็มใจ และเต็มความสามารถ

แน่นอนว่าข้าราชการสภาในฐานะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สะท้อนความสงสัย ต้องการคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล

เพราะการออกหนังสือเวียนบังคับไหว้เช่นนี้ ไม่เคยมีมาก่อน

ในมุมมองของนักวิชาการด้านสังคม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ต่างเห็นว่าการทำความเคารพเป็นวัฒนธรรมไทย ที่แสดงออกถึงการให้เกียรติระหว่างผู้น้อยที่มีต่อผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะไปบังคับไม่ได้

หรือหากต้องการสร้างบรรยากาศในการทำงาน ก็น่าจะใช้วิธีการบอกกล่าว พูดคุย มากกว่าจะออกเป็นคำสั่ง

จนกลายเป็นเรื่องขึ้นมา

จิตติ มงคลชัยอรัญญา

คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐสภายังมีคนบางคนที่ยึดติดระบบราชการเกินไป ถึงมีการสั่งการออกมาเป็นหนังสือเวียนเพราะกลัวจะบอกไม่ทั่วถึง ทั้งที่ทำไมต้องออกเป็นทางการ และเป็นเรื่องที่คุยกันเองได้

แต่ก็มองได้ 2 มุม คือ การไหว้เป็นเชิงวัฒนธรรมไทยที่ดี แต่คนไทยน่าจะพูดกันง่ายนิดเดียว แม้ส.ส.อาวุโสน้อยกว่าแต่สถานะสูงกว่า สังคมข้าราชการก็ยกย่องได้ น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นถึงออกมาแบบนี้

วัฒนธรรมไทยปกติก็ไปมาลาไหว้ สังคมไทยให้เกียรติกันอยู่แล้ว ถ้าเป็นส.ส.ที่วางตัวดี ข้าราชการสภาก็ยกมือไหว้ไม่ต้องออกหนังสือบังคับสั่งการ อาจมีคนไม่รู้เรื่อง หรือมีส.ส.ที่ถูกลูกน้องตำหนิมาแล้วไม่พอใจ ก็มาทำแบบนี้

ข้าราชการที่ไม่ทำความเคารพผู้บังคับบัญชา ไม่ได้มีความผิดวินัยร้ายแรงและไม่เคยเห็นว่ามีมาก่อนเหมือนตำรวจ ทหาร ที่หากไม่ทำความเคารพจะถูกสั่งลงโทษทันที แต่ข้าราชการสภาไม่ได้รุนแรง อย่างมากก็น่าจะเป็นการขอความร่วมมือ ไปบังคับไม่ได้ เรื่องแบบนี้ขึ้นกับการวางตัวของส.ส.เอง บังคับข้าราชการไม่ได้

ส.ส.ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของข้าราชการสภา ก็เหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการสาย ข. และสาย ค. ที่จะต้องมายำเกรง ยกเว้นคณบดีที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ดังนั้น การจะยกมือไหว้หรือไม่ไหว้ ก็เป็นเรื่องของการนับถือกัน

อาจารย์อาจจะมาฟ้องผมว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ยกมือไหว้ อาจจะโกรธหรือไม่พอใจ แต่ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ที่จะไม่ไหว้ ผมก็ต้องถามกลับอาจารย์ว่าแล้วอาจารย์ทำตัวอย่างไร เขาถึงไม่ยกมือไหว้

คงไม่ออกหนังสือเวียนไปสั่งใครให้ไหว้อาจารย์ อาจจะแค่กระซิบบอกกันว่าให้คำนึงวัฒนธรรมไทยบ้างนะ เท่านั้นก็จบ

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตส.ว.อุบลราชธานี

การออกคำสั่งให้ข้าราชการไหว้ส.ส.เป็นการทำลายมิติทางวัฒนธรรม กลายเป็นการใช้อำนาจไปบังคับผู้อื่น ทั้งที่วัฒนธรรมการไหว้เป็นสิ่งดี แต่วัฒนธรรมไทยก็ต้องเคารพสิทธิแต่ละคนด้วย

การจะไหว้ใครก็ต้องเคารพคนที่จะไหว้ อย่างไหว้พระที่อายุน้อยกว่าเราก็ไหว้ เพราะเราไหว้ผ้าเหลือง ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

คำสั่งของสภาที่ให้ข้าราชการไหว้ส.ส. เป็นการทำลายวัฒนธรรม เพราะต้องดูความเป็นธรรมในการสั่งด้วย แม้เป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับในการไหว้ แต่การนำอำนาจมาใช้ต้องยอมรับว่าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ

เรื่องแบบนี้ต้องอยู่ที่ว่าเขายอมรับ อยากไหว้หรือไม่ คนๆ นั้นน่านับถือ น่าพบปะพูดคุยหรือไม่ เราไปกะเกณฑ์ไม่ได้

กรณีของสภาเป็นการแสดงความเคารพ และเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แตกต่างจากการแสดงความเคารพของทหาร ตำรวจ ต่อผู้บังคับบัญชาที่ต้องการระเบียบวินัย เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง ต้องเด็ดขาด เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย การเชื่อฟังคำสั่งต้องเด็ดขาด

ผมเคยเป็นผู้แทนในสภา ผ่านการเป็นส.ว. ในสภาถูกกดดัน มีการละเมิดโดยใช้อำนาจกันมากคือ อำนาจทางการเมือง นักการเมืองมักข่มขู่เจ้าหน้าที่สภา และอำนาจระบบราชการทำให้เจ้าหน้าที่สภาไม่เป็นตัวของตัวเอง

ทั้งที่ไม่ควรให้เกิดผลกระทบกับรัฐสภาที่ถือหลักประชาธิปไตย ส.ส.ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่สภา แต่เลขาธิการสภาเป็นผู้บังคับบัญชา ส.ส. ส.ว. จะไปสั่งเจ้าหน้าที่สภาไม่ได้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง เหมือนกับผมเป็นกรรมการสิทธิฯ ก็ไปสั่งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานไม่ได้ เพราะมีเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นผู้บังคับบัญชา

เรื่องที่เกิดในสภาเป็นการใช้อำนาจเกินไปในสังคมไทยของคนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่

วิสา เบ็ญจะมโน

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีกฎหมายอะไรไปบังคับให้คนมาทำความเคารพกันได้ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แนวประพฤติปฏิบัติประเพณี หากมีการนับถือส่วนตัวก็ไหว้ทักทายกันแต่บังคับกันทำไม่ได้

ดังนั้น การที่สภายอมยกเลิกหนังสือดังกล่าวถือว่าดีแล้ว

สมชาย หอมลออ

ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

เรื่องนี้ขึ้นกับว่าใครจะเคารพใคร หรือไม่เคารพใคร เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ไม่ใช่เรื่องไปบังคับกันได้ ผมแปลกใจที่หนังสือไปเขียนบอกให้ข้าราชการเต็มใจให้บริการส.ส. เพราะหากบอกให้ทำงานเต็มความสามารถได้ แต่จะให้เต็มใจคงไปบังคับไม่ได้

เรื่องนี้ไร้สาระมาก ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร เรื่องนี้เน้นรูปแบบมากเกินไปว่าต้องแสดงความเคารพ มันคืออะไร ถ้าหมายถึงเจอหน้าแล้วต้องยกมือไหว้มันคงไม่ใช่ เพราะทุกคนต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

ส.ส.ก็ต้องเคารพเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็เคารพส.ส. เพราะเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมงานกัน แม้สถานะแตกต่างกันแต่ไปบังคับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้

การแสดงความเคารพต่อกันไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ วิธีการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้ แต่เคารพในความคิดเห็น แสดงท่าทีอื่นๆ ไม่ไปก้าวร้าวดูถูกดูหมิ่นคนอื่น

เรื่องนี้ควรเน้นเนื้อหามากกว่า เป็นเรื่องของความสมัครใจของคน บางคนไม่รู้สึกเคารพก็ไม่จำเป็นต้องไปก้าวร้าว หรือแสดงความไม่เคารพอะไร

การเรียกร้องคนอื่น เรียกร้องข้าราชการให้แสดงความเคารพมันเกินไป หากพบว่ามีแสดงอาการที่ไม่เคารพ เราก็พูดได้หากการกระทำเป็นการดูหมิ่นก้าวร้าวส.ส. แต่ขณะเดียวกันส.ส.ก็ต้องแสดงอาการเคารพต่อข้าราชการหรือคนอื่นๆ ด้วย

เรื่องนี้เน้นรูปแบบมากไป ทำให้กลายเป็นประเด็นวิวาทะขึ้นมา ทั้งที่มีเรื่องอื่นที่ควรจะมาช่วยกันทำมากกว่า


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์