เปิดงานวิจัย นักศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 21 ชำแหละ อิทธิพลของสื่อสาธารณะดิจิตอล ASTV ต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าว คนกรุงเทพ พบ ผู้รับชมที่มีการศึกษาสูง จะไตร่ตรองก่อนเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ถ้าผู้รับชมมีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มจะเชื่อตามทฤษฎีเข็มฉีดยา ชี้ ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดกับสังคมในทุกระดับ
เปิดงานวิจัย " อิทธิพลของสื่อสาธารณะ ดิจิตอล ที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร ด้านการเมือง ศึกษาเฉพาะ ASTV ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ผลงานวิจัยของ นายวิทอง ตัณฑกุลนินาท กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ๊กเซลเล้นท์ กราฟฟิค จำกัด นักศึกษา ปรอ. รุ่น 21
ล่าสุด งานวิจัย ชิ้นนี้ เป็นหนึ่งใน 4 งานวิจัยของ นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน(ปรอ.) รุ่นที่ 21 ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2551-2552 ที่ได้รับรางวัล ชมเชย
อาจารย์ที่ปรึกษา 4 คน ประกอบด้วย พ.อ. ชำนาญ ช้างสาต รศ. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน พล.ต. ณรงค์ เนตรเจริญ และ พ.อ. กฤษฎา สุทธานินทร์
กลุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ เชิงลึก 20 ราย ประกอบด้วย ตัวแทนจาก ASTV กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ตำรวจ สำนักงานกิจการภายนอกประเทศ ทหาร องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านจิตวิทยา พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ อดีตพรรคไทยรักไทย วุฒิสภา ศาลปกครอง สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน และกระทรวงต่างประเทศ
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้ ทำวิจัยผ่านกลุ่มตัวอย่างการสัมภาษณ์วิจัยเชิงปริมาณจำนวน 100 ราย ในช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา
งานวิจัย ชี้ว่า พฤติกรรม และทัศนคติ ของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทางการเมืองจาก ASTV โดยใช้ ทฤษฎีเข็มฉีดยา พบว่า หากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง เมื่อรับชมข่าวสารการเมือง ผ่าน ASTV จะมีการไตร่ตรอง ก่อนการเชื่อและตัดสินใจกระทำการใด
แต่หากกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มที่เห็นด้วยว่าการชุมนุมเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี
การศึกษาครั้งนี้ยังได้ทดสอบสมมติฐานถึงปัจจัยระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง ต่อพฤติกรรม และทัศนคติ ของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทาการเมืองจาก ASTV พบว่าระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างมีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทางการเมืองจาก ASTV ในหลายประเด็น ดังนี้
กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มที่เห็นด้วยว่าการชุมนุมเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี
กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่นิยมนำเนื้อหาของสื่อที่ได้รับนั้น ไปเผยแพร่บอกต่อให้กับคนรอบข้างรับฟัง รวมถึงชักชวนให้บุคคลรอบข้างหันมารับข่าวสารจากสื่อ ASTV มากขึ้น
นอกจากผลการวิจัยในทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารด้านการเมืองผ่านสื่อ ASTV ดังที่ได้รายงานสรุปไปในข้างต้นแล้วนั้น
ผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อดิจิทัล ทั้งทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจนั้น สามารถสรุปในแต่ละด้านได้ดังนี้
ผลกระทบด้านสังคม ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดกับสังคมในทุกระดับตั้งแต่ระดับสังคม ชุมชน และประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเยาวชนของชาติที่รับชม
งานวิจัย เสนอว่า มีความจำเป็นที่ทุกองค์ประกอบในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะบนพื้นที่สาธารณะในยุคดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว