" ... องค์คณะฯ มติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ... โดยยังฟังไม่ได้ว่า นายเนวิน จำเลยที่ 4 และ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง ... โดยมิชอบด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้ง .... " หมายเหตุ - ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำ อม.4/2551 ที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายรัฐ ( คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมกับพวก 44 คน เป็นจำเลย คดีทุจริตโครงการประมูลจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้นมูลค่า 1,440 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 กันยายน - คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คชก.
----------------------------------------
นายบุญรอด ตันประเสริฐ ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำ อม.4/2551 ที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายรัฐ ( คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คชก. จำเลยที่ 1
- นายวราเทพ รัตนากร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง จำเลยที่ 2
- นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 3
- นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 4
- นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ 5 ในฐานะกรรมการ คชก.
- คณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และ
- คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา
และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา
- บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และ
- บริษัทเอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา
เป็นจำเลยที่ 6 -44
ในความผิดฐาน
= เป็น เจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1 - 10 ปี หรือ ปรับ 2,000 – 20,000 บาท
= เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5- 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และ ปรับ 2,000 – 40,000 บาท
= พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 10 , 13 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และ
= ผู้ใดหลอกลวงแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรแจ้ง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา83 และ 86
โดยโจทก์ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายด้วยจำนวน 1,349,684,361.96 ล้านบาท โดยคดีนี้จำเลยทั้ง 44 ให้การปฎิเสธ
คำตัดสิน(ฉบับสมบูรณ์) ศาลฎีกาฯยกฟ้อง44จำเลยคดีทุจริตกล้ายางฯ มติองค์คณะฯ 8ต่อ1
องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้ววินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ข้อ 1. ปัญหาว่า คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากาษามติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน โดยละเอียดแล้วว่า จำเลยคนใดกระทำความผิดร่วมกับจำเลยคนใด และจำเลยแต่ละคนมีความผิดอย่างไร โดยระบุข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ ที่กล่าวหาว่า กระทำความผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยทั้ง 44 เข้าใจข้อหาได้ดี ทั้งอ้างบทมาตราในกฎหมาย ซึ่งบรรญัติว่า การกระทำเช่นนั้น เป็นความผิด คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.158 และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 วรรคหนึ่งแล้ว
ข้อ 2. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า ศาลฎีกาฯมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาและโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้ง 44 ได้
ข้อ 3. ปัญหาว่า นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 เป็นผู้ก่อ และร่วมกับ นายเนวิน จำเลยที่ 4 เสนอโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงกับเกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ ขัดต่อระเบียบและกฎหมายโดยมีเจตนาให้มีการใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางหรือเงิน (CESS) และเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมิชอบ ด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 กรณีของจำเลยที่ 4 และมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 กรณีของจำเลยที่ 19 ว่า กรณียังฟังไม่ได้ว่า นายเนวิน จำเลยที่ 4 และ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจจริงเพื่อให้มีการใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางหรือเงินCESS และเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมิชอบด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด เพราะได้ความว่า จำเลยที่ 4 และ 19 เสนอให้นำเงิน cess มาใช้ก่อน เพราะเวลาผ่านช่วงเวลาเสนองบประมาณแล้ว หาจะรอเสนองบประมาณก็จะทำให้โครงการล่าช้า
ขณะที่ความเป็นมาของโครงการดังกล่าว เริ่มจากนโยบายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรและการพัฒนาเกี่ยวกับระบบผลผลิตทางการเกษตร และให้ประเทศได้มีส่วนแบ่งการตลาดในค้ายางระดับโลกซึ่งยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจำเลยที่ 4 และ 19 ได้เสนอโครงการดังกล่าวโดยไม่ได้กระทำเพียงลำพัง แต่ยังมีองค์การอื่นเกี่ยวกับการทำสวนยาง ร่วมด้วย เช่น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)
ดังนั้น จำเลยที่ 4 และ 19 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ข้อ 4. ปัญหาว่า นายสมคิด นายวราเทพ และนายสรอรรถ จำเลยที่ 1-3 และ นายอดิศัย และคณะกรรมการ คชก.ที่ 5-18 ร่วมกันมีมติในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย และมาตราช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก. ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายและเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ คชก. มีมติอนุมัติให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยของกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวงเงิน 1,440,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหากล้ายางอยู่ในวัตถุประสงค์ของระเบียบว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรฯ และมติของ คชก.ที่ให้นำเงิน CESS มาชำระคืนเงิน คชก. มิได้ขัดหรือฝ่าฝืน พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 ม.18 (3) ประกอบม. 7 – 8 และ
มีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่าจำเลยที่ 1-3 และที่ 5-18 ไม่มีความผิดตามฟ้อง
ข้อ 5. ปัญหาว่า นายฉกรรจ์ และคณะกรรมการบริหารโครงการ และพิจารณาประกวดราคาจำเลยที่ 19-24 ร่วมกันกำหนดเงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามเอกสารการประกวดราคาจ้างที่ 4/2546 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2546 โดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และบริษัทเอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา จำเลยที่ 30 – 32 หรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 19-24 มีเจตนาร่วมกันกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เสนอราคาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 30-32 ตามที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ 19-24 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ข้อ 6. ปัญหาว่า คณะกรรมการพิจารณาประกวดราคา จำเลยที่ 20-22 และที่ 25-26 ร่วมกันละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติและความเกี่ยวข้องในเชิงผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ 30-32 ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานที่ได้จากไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 20-22 และ ที่ 25-26 มีเจตนาร่วมกันละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติและความเกี่ยวข้องในเชิงผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ 30-32 ดังที่โจทก์อ้าง จำเลยที่ 20-22 และ 25-26 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ข้อ 7. ปัญหาว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และบริษัทเอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา จำเลยที่ 30-32 นำหลักฐานแสดงคุณสมบัติการประกวดราคาอันเป็นเท็จมาแสดงว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาอันเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
โดยจำเลยที่ 31 ไม่ได้เป็นผู้มีความชำนาญในการผลิตยางชำถุงตามประกาศประกวดราคาได้ยื่นหลักฐานการแสดงคุณสมบัติของการประกวดราคาว่าเป็นผู้จำหน่ายพันธุ์พืชมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งตามสัญญาซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่จำเลยที่ 31 ทำกับบริษัทยิ่งวัฒนาไซโลจำกัด เป็นเพียงการฝากขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ไม่ใช่เป็นการซื้อขายกันจึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 31 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกวดราคาของกรมวิชาการเกษตร ทั้งที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตพันธุ์ยาง ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการเสนอราคา จึงเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น เพื่อให้จำเลยที่ 30 เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับกรมวิชาการเกษตร โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และจำเลยที่ 32 มีได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเพาะปลูกพันธุ์ยางและหนังสือรับรองผลงานการซื้อขายเมล็ดพันธุ์พืช ที่ออกโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.โชคจรรยา ที่จำเลยที่ 32 นำส่งต่อคณะกรรมการประกวดราคาเป็นเอกสารที่ทำขึ้นเพื่อแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 30-32 หาใช่เป็นการฉ้อโกงหรือตกลงร่วมกันเสนอราคาเพื่อให้จำเลยที่ 30 มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 ตามที่โจทก์ฟ้อง
ข้อ 8. ปัญหาว่า กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ฯ , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ ฯ และบริษัทเอกเจริญ ฯ จำเลยที่ 27-44 ร่วมกันยื่นซองเสนอราคาผลิตกล้ายางชำถุง โดยจำเลยที่ 30-32 มีความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร เชิงทุน และในเชิงถือหุ้นไขว้กันในลักษณะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและมีผลประโยชน์ร่วมกันโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมายหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 27-44 ร่วมกันยืนซองเสนอราคาโดยจำเลยที่ 30-32 มีความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร เชิงทุน และในเชิงถือหุ้นไขว้กันในลักษณะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมายตามที่โจทก์ฟ้อง
ข้อ 9. ปัญหาว่า กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ฯ , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ ฯ และบริษัทเอกเจริญ ฯจำเลยที่ 27-44 ร่วมกันกระทำการโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยจำเลยที่ 30 เจตนาปกปิดเกี่ยวกับพื้นที่สำหรับใช้เป็นแปลงเพาะต้นกล้ายาง โดยนำเอกสารที่มีข้อความเท็จมาแสดง และจำเลยที่ 31-32 นำหลักฐานแสดงคุณสมบัติของการประกวดราคาอันเป็นเท็จมาแสดงว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกวดราคา อันเป็นการหลอกลวงเพื่อให้จำเลยที่ 30 ได้เข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐฯ และความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องของโจทก์หรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า พยานหลักฐานเท่าที่ได้ไต่สวนมา ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 30 มีเจตนาปกปิดเกี่ยวกับพื้นที่สำหรับใช้เป็นแปลงเพาะต้นกล้า โดยนำเอกสารเท็จมาแสดง โดยจำเลยที่ 30-32 ตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อให้จำเลยที่ 30 มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐหลีกเลี่ยงการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด
จำเลยที่ 27-44 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ข้อ 10. ปัญหาประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้ง 44 ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด
องค์คณะมีมติเอกฉันท์ว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 44 กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยังไม่ได้เสียเงิน cess ที่จะให้นำไปชำระเป็นเงินปลดดอกเบี้ยในโครงการนี้แต่อย่างใด
จำเลยทั้ง 44 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่ สกย.ตามที่โจทก์ฟ้องพิพากษายกฟ้อง
สำหรับนายอดิศัย อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 5 ที่ก่อนหน้านี้ถูกศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาครั้งแรกนั้น ศาลฎีกา ฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าวหลังวันนี้
ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 44
----------------------------------------------------------
----------------------------------------------------------
สำหรับรายชื่อจำเลยในคดีนี้ แยกตามฐานความผิด ได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่ม 1
คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประกอบด้วย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรองและประธานคชก.
นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะกรรมการ คชก.
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก.
นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก.
นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพานิชย์
นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ
นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน
นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง
และน.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151และ 157
ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจและนายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา
กลุ่ม 2
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11
กลุ่ม 3
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายจิรากร โกศัยเสวี
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์
นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา
นายสุจินต์ แม้นเหมือน
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ
นายสมบัติ ยิ่งยืน
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา
มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา
กลุ่ม 4
นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด
นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด
นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา
บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา
มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341
กลุ่ม 5
นายวัลลภ เจียรวนนท์
นายมิน เธียรวร
นายประเสริฐ พุ่งกุมาร
นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล
นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์
นายเอี่ยม งามดำรง
นายบุญเลิศ ประภากมล กรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด
นายวรวิทย์ เจนธนากุล
นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ กรรมการบริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด
น.ส.พัชรี ชินรักษ์
นางอนงนุช ภรณวลัย
นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด
ทั้งหมดมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341
กลุ่ม 6
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341 และ
กลุ่ม 7
นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341
--------------------------------------------------------
--------------------------------------------------------
สำหรับ 9 องค์คณะผู้พิพากษา ประกอบด้วย
1.นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
2.นายชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
3.นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
4.นายสุรภพ ปัทมะสุคน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
5.นายวิชา มั่นสกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
6.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
7.นายประทีป ปิติสันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
8.นายรัตน กองแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
9.นายจรัส พวงมนี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา