หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยนายวีระ สมความคิด กับชาวบ้าน ต.ภูมิซรอล อ.กันทราลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความวิตกกังวลเรื่องการชุมนุมของกลุ่มบุคคล
ทั้งที่ จ.กรุงเทพมหานคร และที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในมุมมองที่ว่ารัฐบาลยังไม่เข้มแข็งเพียงพอในเรื่องการรักษาสิทธิและอธิปไตยในดินแดนของไทย กรณีปราสาทพระวิหารและบริเวณที่เกี่ยวข้อง ความจริงผมพยายามชี้แจงมาโดยตลอดว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ มีการดำเนินการในเชิงกฎหมาย และในเชิงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา การดำเนินการในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลก กับยูเนสโก (องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหาปะทะกันเมื่อปีแล้ว ก็เจรจาให้กลับไปยึดข้อตกลงเมื่อปี 2543 โดยจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนขึ้นมา ในระหว่างที่คณะกรรมการกำลังทำงาน ก็ได้ตกลงกันว่าจะไม่ให้เข้าไปปรับสภาพพื้นที่ใดๆ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไปชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน อาจต้องการให้ดำเนินการที่เด็ดขาด
แต่ผมได้พยายามชี้แจงแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่มีการเสียดินแดน ไม่มีการเสียอธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของสันติวิธีและข้อตกลงต่างๆ ในทางตรงกันข้ามหากมีเหตุการณ์ปะทะกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากอะไรก็แล้วแต่ มันมีโอกาสสูงที่เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ถูกยกระดับขึ้นไป จะเป็นผลเสียกับประเทศไทย เป็นผลเสียด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นผลเสียกับอาเซียนเอง
บังเอิญประชาชนที่ขึ้นไปได้เจอปัญหาว่ามีพี่น้องประชาชนอีกกลุ่มไม่เห็นด้วย ผมได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่อยู่ตรงกลางพยายามอย่าให้พี่น้องปะทะกัน เผชิญหน้ากัน
แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจะยันกับคนจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่ายได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจว่าทำให้เกิดการปะทะกันแล้วมีการบาดเจ็บ แต่ผมกับฝ่ายความมั่นคงได้เร่งทำให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะความสงบเรียบร้อย และเจรจากัน ในที่สุดได้ข้อยุติว่าในวันที่ 20 กันยายน ให้ส่งตัวแทนขึ้นไปอ่านแถลงการณ์เสร็จ ก็เป็นอันจบสิ้นกิจกรรม
ผมขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหานี้ และอยากเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งว่าการแสดงออกของแต่ละฝ่าย ของคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันนี้ สามารถทำได้ แต่ขอความกรุณาว่าเราคนไทยด้วยกันอย่าทำร้ายกันเอง และขอให้ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ เพราะรัฐบาลได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนในกรณีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่างๆ ทุกกลุ่มว่าสิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปะทะกัน และไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง
อภิสิทธิ์เหนื่อยใจ ไม่อยากเห็นคนไทยฆ่ากัน
@ มีช่องว่างอะไรในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ถึงทำให้คนไทยปะทะกันเอง
เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน ผมได้คุยกับ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการ ผบ.ตร. (รรท.ผบ.ตร.) ท่านบอกว่ามีข้อจำกัด เพราะเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย ไม่สามารถรักษาแนวเอาไว้ได้ เนื่องจากคนทั้ง 2 ฝ่ายมีจำนวนมาก ส่วนปัญหาว่าใครไปทำผิดอะไร เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ อันนี้ต้องว่ากันตรงไปตรงมา ผมเข้าใจว่ามีคนบันทึกภาพได้ตามสมควร ดังนั้น น่าจะสามารถสืบสวนสอบสวนได้ไม่ยาก
@ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการดูและพื้นที่หรือไม่
ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นมีผลกระทบ พวกเราคนไทยคงไม่อยากเห็นภาพที่คนไทยมีปัญหากันเองอย่างนี้ อีกทั้งต่างชาติจะมองเราอย่างไร ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายทบทวนว่าต่อไปจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก
@ ในขณะที่รัฐบาลไทยยืนยันเรื่องการเจรจา แต่กลับมีประชาชนกัมพูชาเข้ามาปักหลักในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรบนเขาพระวิหาร การเจรจาจะมีผลหรือไม่อย่างไร
หลังเหตุการณ์ในกัมพูชาสงบลง มีการเปิดพื้นที่ตรงนั้นเพื่อให้คนเข้าไปท่องเที่ยว และเกิดชุมชนขึ้นมา มีทั้งคนไทยและกัมพูชาไปอยู่ตรงนั้น ต่อมาเมื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาในปี 2543 ก็คุยกันว่าให้คงสภาพพื้นที่เอาไว้ อย่าไปทำอะไรจนกว่าคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนจะพิจารณาเรื่องพื้นที่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 2545-2547 คนไทยได้ออกจากพื้นที่เพราะไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ จนกระทั่งเกิดเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก มีการปะทะกัน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายส่งกองกำลังไปอยู่ตรงนั้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้ถอนกำลังออกมา เพื่อคืนสภาพให้กลับไปเหมือนปี 2543 ฝ่ายกัมพูชาพร้อมเจรจา ฝ่ายไทยเองรอกรอบการเจรจาที่ต้องผ่านสภาเท่านั้นเอง
ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหา และความจริงบริเวณชายแดนไม่ได้มีจุดนี้เพียงจุดเดียว โดยฝ่ายไทยถือสันปันน้ำ ส่วนกัมพูชาถือแผนที่ ทำให้มีหลายจุดมากที่เหลื่อมกันอย่างนี้ ทุกจุดมีกองกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายตรึงอยู่ เราเพียงแต่บอกว่าทำอย่างไรให้คณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนทำงานได้ ระหว่างนี้หากค่อยๆ ถอนกำลังออกมาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
@ การที่ไทยถือสันปันน้ำทำให้เสียเปรียบทางการกัมพูชาที่ถือแผนที่หรือไม่
ไม่หรอกครับ เพราะเราถือว่าสนธิสัญญาระหว่าง 2 ประเทศให้ยึดหลักสันปันน้ำ ในมุมมองของเราชัดเจนว่าสนธิสัญญาบอกว่ายึดสันปันน้ำ และแผนที่ที่มาทำคือ คำว่าสันปันน้ำอยู่ที่ไหน เราคิดว่าต้องยึดข้อเท็จจริง แต่กัมพูชายังโต้แย้ง จนขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ ต้องไปทำในกรอบคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนต่อไป
@ เหตุใดทางการกัมพูชายังปรับสภาพพื้นที่ต่อเนื่อง ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงหรือไม่
ทุกครั้งที่มีการละเมิดข้อตกลง จะมีการประท้วง และขณะนี้มีการส่งกำลังเข้าไป แต่เราไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะเรื่องความสัมพันธ์เท่านั้น ผมยืนยันเลยว่าเรากำลังทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ ไม่ต้องการเสียสิทธิ ไม่ต้องการเพลี่ยงพล้ำ หรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
@ คิดหรือว่าปัญหาจะจบเมื่อตัวแทนพันธมิตรได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์
ถ้าพยายามมาพูดคุยกันให้เข้าใจเรื่องการรักษาสิทธิรักษาดินแดนว่า วิธีการใดจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด ผมคิดว่าอาจจะเกิดความเข้าใจ แต่หลายเรื่องจะให้พูดในที่สาธารณะก็คงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของเราเอง ดังนั้น จึงอยากขอให้คนที่สนใจเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน บางครั้งมุมมองอาจจะแตกต่างกัน แต่ขอให้มั่นใจได้เลยว่ารัฐบาลไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝง ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไรเลย มีเจตนาเหมือนคนที่เดินทางไปเนี่ยว่าต้องการรักษาดินแดน