หมายเหตุ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงการเตรียมประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รับมือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน 2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 กันยายน มีสาระสำคัญดังนี้
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 กันยายน จะมีการเสนอให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะมอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เหมือนเดิม
ส่วนจะประกาศใช้ในพื้นที่ไหน ในระยะเวลาเท่าใด กำลังดูรายละเอียดอยู่ ซึ่งจะมีการสรุปกันอีกทีใน ครม.
โดยสาเหตุที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงก็เพื่อประโยชน์ในการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ชุมนุมเองด้วย เพราะจะทำให้การตรวจตราอาวุธต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น จึงสามารถป้องกันไม่ให้มีเหตุแทรกซ้อนขึ้นได้
@ การประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่
- คงไม่ เพราะทุกครั้งที่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ก็เป็นที่เข้าใจดีแล้วว่าเป็นข้อกฎหมายที่มีไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ปกติ ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์แล้วถึงไปประกาศ แต่เป็นการใช้มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมดูแลที่เข้มขึ้นเท่านั้นเอง ที่บอกว่าหากประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงบ่อยๆ จะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เห็นว่าไม่ได้บ่อย แต่เวลามีการประชุมสำคัญที่ต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นจึงใช้ ซึ่งภายหลัง ครม.มีมติให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯแล้ว จะเรียกประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อออกแผนปฏิบัติต่อไป
"แนวทางของรัฐบาลคือไม่ต้องการให้มีปัญหา มีการกระทบกระทั่ง มีความรุนแรง ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย มีอำนาจพิเศษตามกฎหมาย ก็จะได้รับความคุ้มครองชัดเจนขึ้นไปอีก ตราบเท่าที่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ"
@ การไม่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเป็นสุญญากาศทำหน้าที่ของตำรวจหรือไม่
- ผมสอบถามไปก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร
@ จะโฟนอินเข้ารายการวิทยุและโทรทัศน์ ขณะไปประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐ ช่วงวันที่ 20-27 กันยายนด้วยหรือไม่
- หากมีความจำเป็นต้องสื่อสารอะไร จะพยายามติดต่อกลับเข้ามา แต่คงไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นทุกวัน หรือเป็นเวลาใด
@ เหตุที่ต้องโฟนอินเพราะห่วงสถานการณ์บ้านเมืองไม่แน่นอนใช่หรือไม่
- ไม่ใช่ ผมมองว่าไม่มีอะไร ก็มีการชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน ผมเดินทางไปยูเอ็นวันที่ 20 กันยายน และคิดว่าเหตุการณ์น่าจะปกติ
@ กระแสข่าวเรื่องการปฏิวัติมีข้อเท็จจริงประการใด
- "ไม่... ผมมองไม่เห็นเหตุผล"
@ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังแนบแน่นดีหรือไม่
- ไม่มีอะไรเลย การทำงานยังเป็นไปอย่างปกติทุกอย่าง ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่ของตน
@ เหตุใดถึงมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง หรือเกิดอุบัติเหตุในวันที่ 19 กันยายน
- ยังมีความมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเห็นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติ ขณะนี้ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง มีคนอยากแสดงออก ก็ขอให้แสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย ถ้าเกินเลยไป เจ้าหน้าที่ที่รักษากฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ของเขา
@ กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศเคลื่อนพลไปหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษสี่เสาเทเวศร์
- จะมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงกำหนดแผน และอาจจะต้องพูดคุยกับทางผู้ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจ เพราะแกนนำผู้ชุมนุมเองก็แสดงความกังวล โดยระบุว่าจะมีมาตรการติดกล้อง ดังนั้นถ้าทุกคนต้องการเห็นการชุมนุม หรือการเคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมาย เกิดความสงบเรียบร้อย ก็น่าจะพูดคุยเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน
@ ตำรวจต้องพิจารณาหรือไม่ เพราะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงมีคดีติดตัว แต่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
- ถ้าเป็นเงื่อนไขที่ไปขัดกับคดีในอดีตก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไป แต่ทั้งนี้ต้องดูข้อเท็จจริง