ทีดีอาร์ไอชี้ไทยเหลื่อมล้ำรายได้สุดขั้ว คนรวยมีทรัพย์มากกว่าจน69เท่า แนะปฎิรูปภาษีดึงหมื่นล.แก้


ทีดีอาร์ไอเผยความเหลื่อมล้ำรายได้คนไทยรุนแรง รวยสุดมีทรัพย์มากกว่าจนสุด 69 เท่า การทุจริตเป็นตัวถ่วงการพัฒนา เสนอปฏิรูปภาษีนำรายได้เพิ่มหลายหมื่นล้าน ใช้ดูแลสวัสดิการคนชั้นล่าง จัดบำนาญชราภาพ

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการเรื่อง ทางรอดประเทศไทยŽ ครั้งที่ 1 เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคม เริ่มจากนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม : จากประชานิยมสู่รัฐสวัสดิการ" ว่า สาเหตุของความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยเกิดการกระจุกตัวของรายได้และทรัพย์สิน มีความสัมพันธ์ต่อการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมือง ก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ขาดเสถียรภาพ ประกอบกับเกิดความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจไทยในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีระบบประชานิยมเป็นจุดอ่อนในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม


นายนิพนธ์กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนคนยากจนลดลงจาก 52% เหลือ 10% ในปี 2551 แต่อย่างไรก็ตามพบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหา ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของคนยากจน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่รุนแรง ได้เพิ่มถึงระดับสูงสุดในปี 2535 แต่หลังจากนั้นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีลักษณะไม่แน่นอน ส่งผลให้ดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยย่ำแย่ รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่มีการกระจุกตัวกันมากกว่าด้านรายได้ สังเกตได้จากดัชนีในปี 2549 กลุ่มชนชั้นที่รวยสุดมีทรัพย์สินเป็น 69 เท่าของกลุ่มชนชั้นที่จนที่สุด


สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ นายนิพนธ์อธิบายว่า เนื่องจากประชากรมีความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ ทรัพยากร และความรู้ จึงไม่เท่าเทียม สิ่งสำคัญคือกลไกตลาดไม่สามารถทำหน้าที่ในการกระจายรายได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการเพิ่มและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ สังเกตจากประเทศกำลังพัฒนาที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐมักเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้นโยบายก่อให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (สิทธิพิเศษ หรือประโยชน์ที่ไม่ควรได้) แก่นักธุรกิจใหญ่บางราย และนักการเมือง นอกจากนี้โครงสร้างทางภาษีและการใช้จ่ายของรัฐกลับไม่มีส่วนช่วยลดการกระจุกตัวของทั้งรายได้และทรัพย์สิน ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมือง โดยการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเป็นไปเพื่อแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือผลตอบแทนส่วนเกิน


"อำนาจทางการเมืองเสมือนเกราะปกป้องธุรกิจ ทำให้มีโอกาสขยายอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการกำหนดนโยบาย หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นโทษต่อคู่แข่ง ทั้งนี้ความสามารถในการเข้าสู่อำนาจการเมืองยังขึ้นอยู่กับทรัพย์สิน เพราะการเมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่อำนาจเศรษฐกิจถือเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมเสียงในรัฐสภาŽ นายนิพนธ์กล่าว และว่า นอกจากนี้นโยบายการจัดสรรทรัพยากร การกำกับ และการแทรกแซงของภาครัฐกลับเป็นการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นฐานเสียงนักการเมือง บางส่วนตกแก่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยประเทศไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เช่น ค่าคอมมิสชั่นจากการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลข้าวส่งออก หรือแม้กระทั่งการกว้านซื้อที่ดินก่อนเกิดโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ก่อให้เกิดการถ่วงการเติบโตทางธุรกิจ เพราะการได้เปรียบของนักธุรกิจที่ได้สิทธิประโยชน์จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้น ในขณะที่คู่แข่งและโครงสร้างตลาดแบบแข่งขันถูกทำลายลง และยังจะกลายเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี ในการแบกรับต้นทุนของนโยบาย อีกทั้งรัฐยังเสียเปรียบนักธุรกิจที่อาศัยอิทธิพลทางการเมืองในการเจรจาทำสัญญาต่างๆ"


นายนิพนธ์ยังกล่าวถึงแนวคิดในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้เข้มข้นดีกว่าไปมุ่งเน้นโครงการประชานิยมจนเกินไป โดยเสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาจัดสวัสดิการแบบผสมผสานระหว่างสวัสดิการถ้วนหน้า และสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเข้าด้วยกัน ประเภทสวัสดิการที่สำคัญที่สุด ได้แก่ บำนาญชราภาพแรงงานนอกระบบ (6 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ต้องปฏิรูปภาษี ปรับโครงสร้างภาษี และเพิ่มอัตราภาษีบางประเภทเพื่อนำรายได้ที่เพิ่มปีละหลายหมื่นล้านบาทมาอุดหนุนการจัดสวัสดิการทั้งสองระบบ


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าประชาธิปไตยเกิดขึ้น และสามารถคงอยู่ได้มากกว่าในประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม เป็นระบบคนที่มีรายได้ที่อยู่กึ่งกลางเป็นคนตัดสินในการกำหนดความต้องการ ดังนั้นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีจึงต้องสร้างสถาบัน และกติกาขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งกลไกตลาดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ควรเริ่มพิจารณานำมาตรการกระจายรายได้และทรัพย์สินมาใช้ ต้องไม่เป็นการทำลายแรงจูงใจในการทำงานและการลงทุน สร้างระบบสวัสดิการเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายประชานิยมที่ขาดวินัยการคลัง


นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เพื่อให้กลไกและแนวคิดสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ควรให้มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่าให้จัดตั้งองค์กรปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งที่เป็นธรรมในสังคม และให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ดังเช่นที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจขึ้นมาแล้ว


นายเมธี ครองแก้ว กรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำให้นโยบายต่างๆ ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงเพิ่มระดับความช่วยเหลือทางสังคม โดยช่วยเหลือคนที่จำเป็นก่อน ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมๆ กัน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์