“โฆษกรัฐ” แฉแผน "ทักษิณ" ป้วนเปี้ยนชายแดนไทย เตรียมเผด็จศึก “ก่อนตุลา” วางแผนล้มประชุมอาเซียน หักหน้ารัฐตามรอยพัทยา เพิ่มกำลังเฝ้าทำเนียบ “3กองร้อย” แย้มหนทางเคลียร์คดีแม้ว ให้ยอมรับโทษก่อน แล้วจะผ่อนหนักเป็นเบา หลายประเทศก็เป็นแบบนี้
(8ก.ย.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประเมินการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและกลุ่มเสื้อแดง ว่า ต้องจับตาในช่วงเดือนก.ย.และต.ค.จะเป็นช่วงที่อ่อนไหวที่สุด จากประวัติศาสตร์แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกันในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งจะมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ เป็นช่วงที่งบประมาณเริ่มไหลลงพื้นที่จะเกิดแรงกระเพื่อมสูง รวมทั้งกลุ่มองค์กรภาคประชาชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่มคนเดือนตุลาจะมีกิจกรรมเคลื่อนไหวกันมาก ขณะที่รัฐบาลเอง เมื่อผ่านการบริหารงานหลายเดือนความแตกต่างทางความคิดก็จะเริ่มมีมากขึ้น กลุ่มเสื้อแดงก็จะใช้จังหวะนี้สร้างความรุนแรง อาจจะล้มประชุมอาเซียนเพราะคิดว่าครั้งที่แล้วทำสำเร็จครั้งนี้ก็ทำได้
“รัฐบาลได้รับข่าวว่าในวันที่ 19 ก.ย.จะมีการระดมผู้มาชุมนุมหลายหมื่นคน จากหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรจะรู้ได้ล่วงหน้าก่อน 2 สัปดาห์ แต่รัฐบาลได้วางมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเพิ่มกำลังทหารในการดูแลทำเนียบรัฐบาลจาก 1 กองร้อย เป็น 3 กองร้อย และใช้แผนปฎิบัติการที่เคยเตรียมไว้ในวันที่ 30 ส.ค.มาใช้รับมือกลุ่มผู้ชุมนุม”โฆษกรัฐบาล กล่าว
นายปณิธาน กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าใจดีว่ารัฐบาลอ่อนไหวมากในช่วงนี้ เขาจึงพยายามสร้างแรงกระเพื่อมระดับสูง เห็นได้จากการใช้สื่อสมัยใหม่อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือแทรกตัวเข้ามาในสื่อรัฐ ก็เป็นความตั้งใจที่จะจุดกระแสโจมตีรัฐบาล เพื่อเผด็จศึกในช่วงนี้ เพราะถ้าผ่านเดือนก.ย.และต.ค.ไป บรรยากาศของประเทศจะเปลี่ยนไป เพราะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นอยู่ในช่วง “ตัววี” ขาขึ้น ขณะที่ประชาชนก็เข้าสู่เทศกาลฉลอง ท่องเที่ยวในช่วงปลายปีไม่มีใครสนใจการเมือง ขณะที่กระแสยุบสภาก็ปลุกไม่ขึ้น เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่พร้อมที่จะเลือกตั้ง ประชาชนก็ไม่ต้องการเลือกตั้งใหม่
ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามจะเปิดการเจรจานั้น นายปณิธาน กล่าวว่า เป็นการเดินยุทธวิธีที่หลากหลายของพ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการจะเจรจามี 2 ข้อเท่านั้นก็คือคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท คดีของคนในครอบครัว แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะเจรจา เพราะนายกฯก็ย้ำหลายครั้งว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องกลับมารับโทษ หรือมีแนวโน้มว่าจะยอมรับกระบวนการยุติธรรมก่อน ประตูการเจรจาจึงจะถูกเปิดออก