มาร์คคุย 6เดือนขจัดเดือดร้อนชาวบ้านได้ 80-90% กอร์ปศักดิ์มั่นใจไทยเข้มแข็งไม่ซ้ำรอยโกงพอเพียง


เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานและกล่าวเปิดงานประชุมสมัชชาประชาชนประชาธิปัตย์ " วาระประชาชนภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี " มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าร่วมกว่า 500 คน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยก่อนเปิดงาน นายอภิสิทธิ์ได้รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มารอต้อนรับกว่า 10 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ทำกิน


นายอภิสิทธิ์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไปได้มากกว่า 80-90% เช่น การแก้ไขและบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน ทั้งการสร้างรายได้และศักยภาพเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง การช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เรื่องการลดค่าใช้จ่ายและลงทุนทางสังคมเชิงรุก ทั้งโครงการเรียนฟรี 15 ปี ลดและช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน และการบรรเทาการว่างงาน โครงการต้นกล้าอาชีพ


"กอร์ปศักดิ์" ยันไทยเข้มแข็งไม่ซ้ำรอย


วันเดียวกัน สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารกรุงเทพ จัดเสวนา เรื่อง "วิกฤตเศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมเสวนา


นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งในครั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือต้องรู้จังหวะว่าต้องใช้งบประมาณกระตุ้นช่วงใด ไม่เช่นนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนการประมูลต้องมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ที่สำคัญต้องไม่ซ้ำรอยโครงการชุมชนพอเพียง ที่เป็นปัญหาขณะนี้


"โฆสิต" เตือนรบ.ระวังใช้เงิน


นายโฆสิตกล่าวว่า ภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ดี รัฐบาลต้องเผชิญข้อจำกัดในการทำงาน และต้องการใช้เงินแก้ปัญหาจำนวนมาก เพราะเงินของภาคเอกชนที่เคยมีหายไปมาก แต่กรอบการทำงานของรัฐบาลที่ควรระมัดระวังคือต้องไม่ทำอะไรมากเกินความจำเป็น สิ่งที่สำคัญในการใช้เงินของรัฐบาล ต้องดูอนาคตว่าจะสามารถเร่งการเจริญเติบโตให้เพียงพอจนสามารถใช้หนี้ทดแทนการกู้ยืมในปัจจุบันได้หรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลต้องดูจังหวะการใช้งบประมาณให้เหมาะสม เพราะถ้ารัฐบาลเร่งการใช้จ่ายมากเกินไป และไม่ตรงจุด สุดท้ายอาจเกิดการแผ่วในจุดที่ยังแก้ไขไม่ชัดเจนจนแก้ไขไม่ได้ผล จะทำให้หมดกำลังช่วยเศรษฐกิจ


"การกู้ยืมเงินของรัฐบาลจะเห็นผลได้แค่ไหนต้องดูในอนาคตว่าจะสามารถทำให้เกิดการเจริญเติบโตได้จริงจนสามารถชดเชยเงินที่ยืมในตอนนี้ได้หรือไม่ โดยขนาดของเงินกู้ใหญ่มากพอแล้วแต่การใช้เงินต้องระวังและทำอย่างไรให้เกิดการเจริญเติบโตในวันข้างหน้า" นายโฆสิตกล่าว


นายบัณฑิตกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรประมาทกับตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 เพราะหากการลงทุนภาคเอกชนไม่ฟื้นตัว ก็เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ชัดเจนและต่อเนื่อง รัฐบาลควรเร่งสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุน  และ ธปท.คงต้องมีเครื่องมือดำเนินนโยบายเพิ่มเติม นอกเหนือนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว เช่น การกำกับการปล่อยสินเชื่อ และการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น


นักวิชาการชี้ศก.ฟื้นรูปตัว"W"


วันเดียวกัน ตลาดซื้อขายล่วงหน้าจัดสัมมนาเรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทย...มองทางเลือก สู่ทางรอดŽ โดยมีนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นวิทยากร


นายสมชายกล่าวว่า ขณะนี้นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เป็นการฟื้นตัวในบางส่วนเท่านั้น เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นแน่นอน เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว ประเทศไทยก็จะได้รับอานิสงส์ด้วย ขณะนี้การส่งออกค่อยๆ ดีขึ้น คาดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกจะติดลบต่ำกว่า 20% ส่งผลให้ในปีนี้เศรษฐกิจประเทศไทยจะเติบโตติดลบเฉลี่ยที่ 3% เท่านั้น และปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นบวก 2-3% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ทั้งเรื่องการเมือง และไข้หวัดใหม่ 2009 


"ขณะเดียวกันให้จับตาว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันเรื่องจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ดังนั้น มองน่าจะฟื้นตัวลักษณะของรูปตัวดับเบิลยู (W) เพราะเมื่อมีการฟื้นตัวระยะหนึ่งอาจจะตกลงไปอีก เพื่อปรับตัวเอง แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังบอกไม่ได้" นายสมชายกล่าว


แนะทำศก.ฟื้นช่วยเลี่ยงผชิญหน้า


นายสมชายกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาต่อไป แต่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าหรือไม่นั้นยังบอกไม่ได้ ขึ้นกับรัฐบาลว่าจะบริหารการเผชิญหน้าอย่างไร รัฐบาลเองก็ต้องสมานฉันท์กันเอง เชื่อว่าจะยังไม่ยุบสภา เพราะหากยุบแล้วจะแย่ด้วยกัน รัฐบาลจึงยังต้องปรองดองกันต่อไป ทางออกของการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ก็คือต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เสร็จแล้วก็ควรประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม เช่น การไม่ไล่ล่า


"การเมืองแบบนี้จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะอีกฝ่ายคงไม่เลิกราง่ายๆ ยังคงมีโฟนอินอยู่ไม่งั้นคนจะลืม ขณะนี้ต้องสู้กันไป แต่ไม่มีใครชนะ" นายสมชายกล่าว


นายสมชายกล่าวว่า ขณะเดียวกันอยากให้มีการเรื่องการเปิดเสรีการค้าที่ไทยตกลงกับประเทศต่าง ๆ เอาไว้ ว่าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า รัฐบาลกำหนดแนวทางในอนาคตของประเทศไทยหรือยัง ว่าอุตสาหกรรมใดเป็นเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมอะไรที่จะต้องย้ายฐานการผลิต


สอท.ชี้อุตฯบางตัวกำลังผลิต100%


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากการรีสต๊อคสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้า รวมทั้งการเก็งกำไรบางส่วน ขณะที่ความต้องการจริงยังมีน้อยอยู่ ดังนั้น อยากให้จับตาดูไตรมาส 4 ปีนี้ว่าออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม หากการสั่งซื้อสินค้ายังดีอยู่ในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็เชื่อว่าในกลางปีหน้าการฟื้นตัวก็ชัดเจนดีขึ้นแต่การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวในรูปแบบตัวแอล (L) และสะวิงเล็กน้อย


"ยอมรับว่าขณะนี้ความเชื่อมั่นในหลายอุตสาหกรรมดีขึ้น เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เครื่องจักรกลเกษตร โรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติค โรงเลื่อย น้ำตาล สมุนไพร" นายพยุงศักดิ์กล่าว


นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า จากการสำรวจของ ส.อ.ท.ช่วง 3 เดือนข้างหน้าค่อนข้างดี โดยเฉพาะเรื่องการผลิตที่ขณะนี้มีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60% บางอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิตไปแล้วถึง 80-100% แรงงานก็เริ่มกลับเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ส่วนผลประกอบการก็ดีขึ้นสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยมีจีนและอินเดียเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ และการที่รัฐบาลออกโครงการไทยเข้มแข็งนั้นก็ถือว่าน่าจะเพียงพอในช่วงนี้  อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของรัฐบาลและเศรษฐกิจโลก และหวังว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะโตเป็นบวกอย่างน้อย 2-3%


ธปท.ย้ำการเมืองวุ่นบั่นทอนศก.


นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ธปท.มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังมีความเปราะบางไม่มั่นคง คนยังไม่มีความเชื่อมั่น เพราะยังมีสัญญาณว่าเศรษญกิจโลกยังมีปัญหา ยังคลี่คลายไม่หมด เชื่อว่าในอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่โตเร็วเหมือนอย่างในอดีตแน่นอน เพราะประชาชนทั้งในอเมริกาและยุโรปมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เริ่มบริโภคน้อยลงและออมเงินเพื่อใช้หนี้มากขึ้น ส่งผลให้การซื้อขายบ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ชะลอตัว จะส่งผลให้การส่งออกยากขึ้น


"สิ่งที่เห็นดีๆ ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ คือการติดลบการส่งออกดีขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการใช้สินค้าคงคลังไป เมื่อสินค้าหมดก็ต้องกลับมาสั่งซื้อใหม่ ซึ่งจะซื้อไม่นาน หากเป็นเช่นนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะเอาอะไรมากระตุ้นต่อ" นายกอบศักดิ์กล่าว และว่า การมองเศรษฐกิจในอนาคตนั้นจะมอง 3 ปัจจัยคือ การเมือง นโยบายและอนาคต โดยเรื่องการเมืองเชื่อว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะยังมีอยู่อีกนานและจะเป็นปัญหาที่บั่นทอนและคุกคามเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าที่ผ่านมาไทยผ่านช่วงแย่ๆ มาแล้ว แต่หากการเมืองยังแย่อยู่เศรษฐกิจก็คงโตได้ไม่มาก


 ชี้"ไทยเข้มแข็ง" ไม่หนุนการผลิต


นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่อง ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ในส่วนของการคลังนั้นมีการคิดกันไว้หรือไม่ว่า หากรัฐบาลระดมเงินล็อตสุดท้าย 800,000 ล้านบาทแล้ว แต่เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นอย่างที่หวัง รัฐจะอัดฉีดภาคเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป หากจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นพอที่จะจับจ่ายใช้สอย เพราะขณะนี้ประชาชนเป็นหนี้กันไปหมดแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไม่สามารถพึ่งพาเรื่องนี้ได้ และสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นภาคเอกชนที่จะต้องต่อสู้เองต่อไป แต่การที่จะหวังพึ่งการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นก็คงลำบากเช่นกัน เพราะกำลังการผลิตยังไม่เต็มกำลัง


"เงินที่รัฐใส่ลงไปในโครงการไทยเข้มแข็งนั้นต้องจับตาดูว่า เมกะโปรเจ็คต์ที่รัฐจะทำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ขณะที่โครงการอื่นที่อยู่ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งก็เป็นโครงการที่เน้นการดำเนินการที่รวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการที่ไม่ใช่ส่งเสริมการผลิต หรือเป็นโครงการระยะยาว" นายกอบศักดิ์กล่าว และว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะเงินทุนมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลาก่อให้เกิดความผันผวน ประเทศไทยคิดเรื่องนี้หรือยังว่าหลังวิกฤตแล้วจะมีความยากลำบากมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องคิดแล้วว่าเมืองไทยจะอยู่อย่างไร เพราะคู่ต่อสู้จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายแล้วไทยคงต้องแข่งกับเวียดนาม ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องคิดแล้วว่าอนาคตเราจะอยู่อย่างไร


"พรทิวา" สั่งเร่งกระตุ้นส่งออก


วันเดียวกัน กรมส่งเสริมการส่งออกจัดสัมมนา เรื่อง "กลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกปี 2553"  ที่โรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ทแอนด์สปา โดยนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายให้เพิ่มมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออกเพิ่มเติม 5 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านตัวสินค้า มาตรการด้านราคา ต้นทุนสินค้าและสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการด้านการตลาด มาตรการด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย และมาตรการตามข้อเสนอของผู้ส่งออกที่มีปัญหาไม่มีคำสั่งซื้อชั่วคราว โดยกำลังเสนอการขอลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก การขออนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ส่งออก 5 พันล้านบาท


นายราเชนทร์กล่าวว่า พร้อมกันนี้ก็ใช้ 5 กลยุทธ์เพื่อผลักดันการส่งออกให้ขยายตัว 2 หลัก หรือประมาณ 12-15% ซึ่ง 7 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 23.9% แต่คาดว่าหลังจากเดือนสิงหาคมสถานการณ์การส่งออกจะฟื้นตัวดีขึ้น เฉลี่ยส่งออกทั้งปีติดลบ 15% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกปีหน้าคาดว่าปัจจัยเสี่ยงจะเป็นเรื่องน้ำมันแพง เงินบาทแข็งค่า มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าที่เพิ่มขึ้น และความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ


นายราเชนทร์กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกในปีหน้า กรมได้จัดทำ 5 กลยุทธ์ ผ่านงบประมาณ 3,064 ล้านบาท ได้แก่ 1.ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร 2.ลดต้นทุนสินค้าในระบบโลจิสติคส์ 3.เร่งรัดขยายตลาดใหม่ให้เกิน 55% และคงรักษาตลาดเดิม 4.ส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ของไทย และ 5.ให้ความสำคัญกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้ขยายตัว 20-23%


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์