"สมเกียรติ" ยื่นญัตติแก้รธน.7ก.ย. "ประสพสุข"เผย"ชัย"ยังไม่นัดคุย
เพื่อแผ่นดิน ยื่นญัตติแก้รธน.7ก.ย. ลุยเองเหตุรัฐบาลเพิกเฉยยันไม่รอการประชุมร่วม 2 สภา ชี้ส.ว.ถอนชื่อไม่ถึง 10 คนเชื่อเสียงรวมกันเกิน 1 ใน 5 ปธ.สมานฉันท์ฯไม่ขอวิจารณ์ "ประสพสุข"เผย"ชัย"ยังไม่นัดคุย ชทพ.ขีดเส้นต้องเสร็จในต.ค.
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน แกนนำในการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว. เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 7 ประเด็น ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน ว่าถึงจะมี ส.ว.บางส่วนถอนชื่อก็ไม่มีปัญหา เพราะมี ส.ส.และ ส.ว.ลงชื่อแล้วกว่า 160 คน โดยจะเข้ายื่นญัตติต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 กันยายน เวลา 10.00 น. หากนายชัยติดภารกิจก็จะเข้ายื่นกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาแทน
"สำหรับผู้ที่ถอนชื่อ ผมก็เข้าใจว่าอยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากเอามือไปซุกหีบหรอก พวกเราทุกคนบริสุทธิ์ใจ ทำไปก็เพื่อหวังจะบรรเทาปัญหาของบ้านเมือง แต่ก็จะมาถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งตรงนี้อาจทำให้หลายคนหวั่นไหว แต่ผมก็ขอขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมกันลงชื่อและขอชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่เป็นเรื่องของผมในฐานะที่เป็น ส.ส." นายสมเกียรติกล่าว และว่า หลังจากประธานรัฐสภารับเรื่องแล้วจะต้องเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว และเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลคงต้องยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกบ
ย้ำเคลื่อนไหวเพราะรบ.เพิกเฉย
นายสมเกียรติกล่าวว่า เมื่อเห็นบ้านเมืองเกิดปัญหาแต่หากคนในสังคมเพิกเฉยไม่สนใจทำอะไรแล้วปัญหาจะหมดไปได้อย่างไร ที่เสนอแก้ไขไปหลายประเด็นก็ไม่ได้หวังจะได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าทำได้เพียง 2-3 เรื่อง ก็เชื่อว่าจะบรรเทาปัญหาและเงื่อนไขให้เบาบางลงได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะประสานประธานรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมเกียรติกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องดี แต่จะทำได้จริงหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ต้องทำร่วมกันทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นเสียงสนับสนุนก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
"วันนี้บ้านเมืองต้องเจอกับวิกฤตเพราะสถาบันหลักคือ องค์กรศาล สภานิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ผู้คนออกไปเดินกลางถนน และสร้างแรงกดดันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง และสุดท้ายกลุ่มอำนาจดังกล่าวก็กลายเป็นกลุ่มที่เข้ามาควบคุมผู้ที่มีอำนาจจริงๆ เสียเอง" นายสมเกียรติกล่าว
ยันไม่รอการประชุมร่วม2สภา
ด้านนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี แกนนำรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฝั่ง ส.ว.กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า ควรรอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนว่าพวกตนที่จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม 7 ประเด็น คงไม่รอ เพราะถ้ารอก็ไม่รู้ว่าจะทำกันจริงๆ หรือเปล่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯมีข้อเสนอมา 2 เดือนแล้ว ก็นิ่งกันอยู่ พอพวกตนจะใช้สิทธิรัฐบาลก็เพิ่งออกมามีท่าทีกัน หรือบางคนก็ทยอยออกมาพูดเรื่องให้ทำประชามติก่อน
นายประสิทธิ์กล่าวถึงกรณี ส.ว.บางส่วนถอนชื่อว่า ไม่เป็นไร จะให้เห็นเหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ถอนมีไม่ถึง 10 คน และถึงอย่างไร ส.ส.รวมกับ ส.ว.ก็เกิน 1 ใน 5 หรือ 125 คนแน่นอน ยืนยันว่าหวังผลให้มีการมาคุยกัน ถ้าไม่เริ่มคุยกันในสภาจะรู้เรื่องกันหรือไม่ มาบอกว่าคนนั้นไม่เอาอย่างนี้ คนนี้ไม่เอาอย่างนั้น ก็เป็นการพูดกันไป แต่ไม่เคยคุยกันในสภาเสียที ซึ่งเมื่อคุยแล้วอาจจะได้ประเด็นน้อยหรือมากกว่าที่เสนอหรือไม่ได้เลยก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ติงส.ว.ถอนชื่ออย่าเอาดีใส่ตัว
นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ 1 ในผู้ลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เท่าที่ได้คุยกับเพื่อน ส.ว.สรรหา ทุกคนเข้าใจดีถึงญัตติดังกล่าว และรู้ดีว่าไม่ได้มีการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวม เพราะ ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้งก็ไม่ได้เป็น ส.ว.ตลอดไป จะรู้ได้อย่างไรว่าจะมีการแก้ไขเพื่อปลดล็อควาระให้ ส.ว.สรรหา เพราะประเด็นที่จะแก้ก็มาจากข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อาทิ มาตรา 190 ที่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยไม่ยอมดำเนินการอะไรเลย
"ยืนยันว่าไม่มีใครหลอกใครได้ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะพอ การจะเซ็นชื่ออะไรลงไปไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูให้รอบคอบ เพราะทุกคนก็กลัวเรื่องถูกถอดถอนเช่นกัน อย่าไปพูดเพื่อเอาตัวรอดหรือเอาดีใส่ตัว คนที่ลงชื่อแล้วขอถอนชื่อออก คงเพราะเกรงเรื่องการถอดถอน แต่ดิฉันไม่กลัว เพราะเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291" นางนฤมลกล่าว
นายจำนงค์ สวมประคำ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ยังไม่ได้ร่วมลงชื่อ เพราะยังไม่มีใครนำญัตติมาให้ร่วมเซ็น แต่ถ้ามีใครนำญัตติมาให้ก็พร้อมจะเซ็นชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามาตั้งแต่ต้น และบางมาตรามีปัญหาต้องแก้ไข โดยไม่กลัวการขู่จะยื่นถอดถอน ส.ว.ที่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"สุรเดช" บอกถึงเวลารื้อรธน.
นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพราะเห็นว่ายังใหม่เกินไป และไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แต่ครั้งนี้ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับใครหรือผลประโยชน์อะไร การต่อรองเรื่องอายุของ ส.ว.สรรหาที่จะให้อยู่ครบ 6 ปี ก็ยังไม่เห็นมีการพูดคุยในเรื่องนี้เลย ดังนั้นอย่าไปทึกทักกันเอาเอง อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ คนเป็น ส.ว.ตัดสินใจเองได้ ต้องเคารพกัน อย่างมองคนเห็นต่างเป็นคนผิด หรือโยนความผิดให้กัน ทุกคนก็มีเหตุผลที่จะสนับสนุนความคิดของตัวเอง
นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม กล่าวว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้ว เพื่อความสมานฉันท์ของคนในบ้านในเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญหลายมาตรามีปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 190 จึงควรดำเนินการตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ
ปธ.สมานฉันท์ฯไม่ขอวิจารณ์
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เรื่องที่ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น เพราะเป็นสิทธิที่ ส.ส.และ ส.ว.รวมตัวกันเสนอ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลนิ่ง จึงดูเหมือนว่าประสงค์จะซื้อเวลา เมื่อตอนนี้รัฐบาลออกมาแสดงท่าทีว่าอยากให้นำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาคุยในสภา ก็เป็นเรื่องดีแล้ว ไม่น่ามีปัญหาอะไรอีก รวมถึงต้องคุยเรื่องกรอบการสร้างความสมานฉันท์ และกรอบการปฏิรูปการเมือง ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอด้วย ถ้าทำ 2 กรอบหลังนี้ได้ก่อน ความกดดันจะลดไปเยอะตั้งแต่แรก
"ผมก็ไม่ได้ไปร่วมลงชื่อ แต่หวังเพียงว่า 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ หากได้มีการคุยตามนั้นในสภาก็ดีใจแล้ว" นายดิเรกกล่าว
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เป็นสิทธิของ ส.ส.และ ส.ว.ที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้นัดประชุมกับตน เกี่ยวกับการจะดำเนินการอย่างไรกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และโดยส่วนตัวเคยเสนอความคิดไปแล้วว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้มา 1 ปีแล้ว ก็สามารถมาพิจารณาแก้ไขไป และนี่ก็เลยมานานแล้ว และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญบางมาตรามีปัญหา เช่น มาตรา 190 ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"คิดว่า ในช่วงเดือนกันยายนนี้ คงยังไม่น่าจะมีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าระเบียบวาระ เพราะวุฒิสภายังค้างการพิจารณา ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2553 และ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท อย่างเร็วที่สุดที่ประชุมร่วมสภาจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้น่าจะเป็นช่วงต้นเดือนตุลาคม" ประธานวุฒิสภากล่าว
ชทพ.ขีดเส้นต้องเสร็จในต.ค.
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ชทพ.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯหรือแม้แต่ข้อเสนอของทาง ส.ส.และ ส.ว.ที่จะเข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น เนื่องจากเห็นว่าบ้านเมืองจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มีปัญหามากขึ้น ให้มีกติกาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษก ชทพ. กล่าวว่า แกนนำ ชทพ.ได้ประเมินแล้วเห็นด้วยกับทุกข้อเสนอโดยเฉพาะข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะให้มีการประชุมร่วมกันของ 2 สภา เพื่อกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองและรับฟังความคิดเห็นให้มีมากขึ้น แต่พรรคขอยื่นข้อเสนอขีดเส้นกรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกอย่างต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมนี้
"ท่าทีของพรรคในการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การส่งสัญญาณว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งในเร็ววันนี้ โดยพรรคยังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาประเทศชาติ" นายวัชระกล่าว
ชทพ.ขีดเส้นแก้รธน.เสร็จก่อนสิ้นต.ค. พผ.ลุยเองยื่นญัตติ 7ก.ย.ไม่รอประชุมร่วม 2สภาเมิน ส.ว.ถอนชื่อ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ชทพ.ขีดเส้นแก้รธน.เสร็จก่อนสิ้นต.ค. พผ.ลุยเองยื่นญัตติ 7ก.ย.ไม่รอประชุมร่วม 2สภาเมิน ส.ว.ถอนชื่อ