สารพัดสารเพ ปัจจัยเงื่อนไขรุมเร้าต่อเสถียรภาพรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ทั้งสงครามระหว่างสี และพงศาวดารความขัดแย้งกรมปทุมวัน ที่ไม่มีทีท่าจะจบลงได้กับตำแหน่ง "ผบ.ตร." คนใหม่
กระนั้น ปัญหาเรื่อง "สงครามสีแดง" กลับเป็นที่น่ากังวลน้อยกว่า ศึกกรมปทุมวัน ซึ่งลุกลามเป็นปัญหาภายใน กระทบตรงต่อเสถียรภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และคนใน "พรรคประชาธิปัตย์" เอง
เพราะการ "อ้าง" กันไปต่างๆ นานา แบบไร้ข้อพิสูจน์ เพียงเพื่อให้ได้สมตามเจตนารมณ์ของฝ่ายตัวเอง
การเบียดไหล่กันระหว่าง พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เข้าสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร.
จึงเป็นเดิมพันระหว่างกลุ่มอำนาจต่างกลุ่ม
เป็นเดิมพันระหว่าง "อภิสิทธิ์" ที่สนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป กับอีกฝ่าย ซึ่งผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ "เนวิน ชิดชอบ" แห่ง พรรคภูมิใจไทย "พี่น้องตระกูลวงษ์สุวรรณ"
รวมถึง "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ด้วยความที่เลือกวางตัวให้อยู่ห่างจากสงครามข่าวสาร และการให้สัมภาษณ์รายวัน ทำให้ "นิพนธ์" ถูกพวกหัวใส นำไปอ้างต่อ ว่า พูดจาอย่างนั้นอย่างนี้ตลอดเวลา
ยิ่งปั่นกระแสให้ขุ่นเข้าไปอีก เพื่อสนองเป้าหมายในการ "บีบ" ให้ทั้ง "อภิสิทธิ์" และ "นิพนธ์" ตัดสินใจตามประสงค์ของตัวเอง
แต่หาก "นิพนธ์" สูดหายใจยาวๆ แล้วออกมาให้สัมภาษณ์สักครั้ง แบบ ตัวจริง-เสียงจริง-ชัดเจน เชื่อว่า ปฏิบัติการ "กวนตะกอน" จะจบลง
ซ้ำยังเป็นการจับพวก "แซ่อ้าง" มาแผ่สองสลึง ประจานให้สังคมได้รู้กัน
สังคมจะได้เลิกสับสนระหว่าง "ข้อมูลใหม่" กับ "ข้อมูลใหม่ที่คลาดเคลื่อน" เสียที
อย่างไรก็ตาม แกนนำประชาธิปัตย์หลายคน เริ่มรู้สัญญาณอันตรายของเชื้อมะเร็งนี้ ที่ปล่อยไว้ รังแต่จะลามให้ภาพความระหองระแหงกันเอง ออกสู่สายตาภายนอก ทั้งระหว่าง "อภิสิทธิ์-นิพนธ์-สุเทพ"
โดยมี "พรรคภูมิใจไทย" ผู้รู้จังหวะจะโคน คอยกวนตะกอนได้เรื่อย
ขณะนี้แกนนำหลายคนกำลังผนึกกำลังกัน "เช็คข่าว" เป็นการ "เช็ค" ข้อมูลระดับ "อินไซด์" เพื่อสำรวจความแม่นยำ ของข้อมูลพวก "แซ่อ้าง"
เบื้องต้น หลัง "นิพนธ์" เดินทางกลับจาก "เยอรมนี" กลับพบ "ข้อมูลใหม่" คลาดเคลื่อน
ท่ามกลาง ความคาดหวังต่อรัฐบาล ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้อง การมัวเมาหมัดการเมืองจนมากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดี
สารพัดสูตร ยาผีบอก ถูกถกเถียงกันใน "พรรคประชาธิปัตย์" เพื่อขจัดปัญหากวนใจเหล่านี้ ตั้งแต่ยาแปลกๆ เช่น ให้นายกฯลาออก เพื่อให้ ครม.พ้นไปด้วยทั้งคณะ แล้วจัดทัพ ครม.ใหม่ ด้วยการเขี่ย "พรรคภูมิใจไทย" ทิ้ง แล้วเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อกำจัดสิ่งกวนใจทิ้งไป
หรือแม้แต่การ "ยุบสภา" เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และอยู่ในภาวะได้เปรียบมากที่สุด
ซึ่งประเด็น "ยุบสภา" ถูกพูดกันหนาหูมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ทำนายกันไว้ค่อนข้างตรงกันว่า ราวกลางปี 2553
ตรงกับข้อวิเคราะห์ของ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย "ชัย ชิดชอบ" ประธานสภา ที่ออกมาระบุอย่างโจ่งแจ้งว่า เกิดขึ้นแน่หลังงบฯ 2553 ผ่าน
ในเวทีสัมมนา ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) "อภิสิทธิ์" ปิดห้องกล่าวปาฐกถาพิเศษลับ เรื่อง "การเมืองไทย บนสถานการณ์ความขัดแย้ง" ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นความตั้งใจ ส่งสัญญาณถึงบุคคลสำคัญ อย่างน้อยก็มี "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" อดีตประธาน คมช. "สุริยะใส กตะศิลา" ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคต่างๆ
"อภิสิทธิ์" ยืนยันอีกครั้งว่า การ "ยุบสภา" ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว พร้อมเปิดเงื่อนไขในการตัดสินใจ "ยุบสภา" 3 ปัจจัย
ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งคิดว่ามาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปต่างๆ จะสัมฤทธิผลในช่วงปลายปี 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ช่วงดังกล่าวจะสามารถเห็นดอกผลของมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น
2.ถ้าจะยุบสภาในวันนี้ คนที่เกี่ยวข้องพอใจกติกาในการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียว 3 เบอร์ หรือแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
และ 3.ถ้ายุบสภาวันนี้ เงื่อนไขเรื่องความรุนแรงหมดไปหรือยัง เช่น พรรคการเมืองต่างๆ สามารถไปหาเสียงในทุกพื้นที่ได้หรือไม่ โดยห่วงปมมาตรา 237 ที่จะนำมาสู่การชุมนุมอีกครั้งของทั้งฝ่ายหนุนและต้าน ซึ่งน่าจะหาทางออกด้วยการทำประชามติ เปิดให้ทั้งสองฝ่ายได้ประชาสัมพันธ์แนวคิดของตัวเองเต็มที่ แต่ถ้าเงื่อนไขความขัดแย้งนี้ยังอยู่ ไม่หมดไป ยุบสภาไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
ถอดรหัสว่า การยุบสภาในสายตา "อภิสิทธิ์" ไม่ได้น่ากลัว หากดอกผลจากการทำงานของรัฐบาลผลิบาน โดยเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และไตรมาสแรกของปี 2553 กระเตื้องขึ้น
หากจะ "ยุบสภา" ในตอนนั้น ประชาชนจะจดจำการจากไปของ "พรรคประชาธิปัตย์" พร้อมกับเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น
แต่ปัจจัยที่อาจทำให้ต้องทอดเวลาออกไป คือ ความขัดแย้งในสังคมที่ยังไม่รู้ยารู้หมอ ว่าจะแก้กันอย่างไร
ยุบสภาในภาพที่ยังหล่อเหลาพอประมาณ ย่อมดีกว่าอยู่ครบวาระ แล้วฟกช้ำดำเขียวตามตัวเต็มไปหมด
แต่หากจะรั้นเกินไป เลือกตั้งใหม่ รู้คำตอบในใจกันอยู่แล้ว...