ทักษิณตื้นตัน4ล้านชื่อถวายฎีกาโฟนอินไม่ออก

คมชัดลึก : "วีระ"ประกาศลั่นกลางเวทีท้องสนามหลวงเสื้อแดงล่ารายชื่อถวายฎีกากว่า 4 ล้านคน "ทักษิณ" โฟนอินขอบคุณ ลั่นไม่ได้ตอบแทนคุณคงนอนตาไม่หลับ ขณะที่รัฐบาลออกทีวีแจง "ข้อเท็จจริง ... การถวายฎีกา"


(31ก.ค.) ที่ท้องสนามหลวง เมื่อเวลา 20.40 น. นายวีระ มุสิกะพงษ์ หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ได้ขึ้นประกาศบนเวทีปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า ตัวเลขของรายชื่อประช่าชนที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยตัวเลขล่าสุดมีประชาชนร่วมลงชื่อถวายฎีกาในครั้งนี้จำนวน 4,199,973 คน หลังจากที่นายวีระประกาศเสร็จสิ้น ผู้ที่เข่าร่วมชุมนุมต่างตะโกนโห่ร้องด้วยความดีใจ

 ต่อมาเวลา 20.37 น.พ.ต.ท.ทักษิณ  ได้โฟนอินเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมกันอยู่บริเวณท้องสนามหลวงว่า ขอบพระคุณพี่น้องที่มีน้ำใจกับเขามาตลอด เป็นความภาคภูมิใจของคนธรรมดา ที่ได้รับมานี้ ถือเป็นความเมตตาอย่างมาก  การที่กลุ่มคนเสื้อแดงทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการดับไฟไม่ใช่เป็นการสุมไฟ

 พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ถ้าตนไม่ได้แทนคุณถึงตายก็นอนตาไม่หลับแน่ ๆ ถึงแม้วันนี้จะแก่ไปเยอะ แต่ก็ยังกลับไปทำงาน   เชื่อว่าพลังประชาชนจะส่งผลให้ได้กลับไปทำงานให้บ้านเมือง และมั่นใจว่า จะสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี  มั่นใจว่า จะสามารถดึงเงินจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้ ซึ่งตนไม่ชอบไปกู้แต่ชอบการลงทุนมากกว่า

 ขณะเดียวกันหลังจากพ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินเสร็จได้โพสต์ในเว็บไซต์ทวิตเตอร์บอกว่า รู้สึกตื้นตันใจกับตัวเลข 4.1 ล้านชื่อชื่อที่ถวายฎีกา ทำให้เมื่อสักครู่พูดที่สนามหลวงไม่ค่อยออก

 อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 21.00 น. สถานีข่าวสารเพื่อประชาชนหรือสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที  มีการนำเสนอรายการ "ข้อเท็จจริง ... การถวายฎีกา" โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจง

 นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า  นายกฯได้พยายามชี้แจงเรื่องนี้มาพอสมควร แต่ในฐานะรัฐบาลต้องระมัดระวังหากทำอะไรไปอาจกลายเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งการล่ารายชื่อยื่นฎีกานั้น ความจริงเรื่องนี้มีการพูดกันหลายรอบ แต่ประเด็นที่สำคัญต้องเอาให้ชัดว่าผู้ดำเนินการต้องการเอาอะไรกันแน่ แต่อยากทำความเข้าใจว่า เรื่องของเนื้อหาที่เขียนในหนังสือเขียนอย่างไร ถ้าเนื้อหาไม่ใช่การร้องทุกข์เป็นการขอลดหย่อนโทษก็ไม่ใช่อีก ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระทำความผิด ถ้า 3 ศาลว่าอย่างไรก็ต้องจบ ประเด็นคือถ้ามาบอกว่าเรื่องนี้จะให้บอกว่าผิดหรือไม่ผิด ไม่ได้ เพราะจบแล้ว และหลักกฎหมายสากลเมื่อศาลสุดท้ายบอกว่าผิดก็จบ และหากคนที่ต้องพิพากษามีมวลชนเยอะ ศาลตัดสินเอาไปเข้าคุก ปรากฏว่ามีการรวบรวมมวลชนมาและปล่อยตัวไประบบก็พัง  และที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำไปใช้เป็นเครือข่ายเครื่องมือ แตกต่างทางความคิดได้แต่เราไม่เคยแยกกัน

 นายจรัส กล่าวว่า ตนห่วงเรื่องความคาดหวังประชาชนกรณีคนที่มาสนับสนุน คนที่คัดค้าน เห็นว่าเป็นเรื่องที่ชอบ ไม่ชอบด้วยหลักการหรือไม่ สิ่งที่แสดงออกถือว่าอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องความีเหตุ มีผล และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับทางออกที่อยู่ภายใต้กฎหมายแต่ไม่ขัดแย้งนั้น เรื่องการยื่นฎีกาหรือขออภัยโทษ จะให้มองว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ซึ่งมีนักวิชาการของจุฬาฯได้ทำวิจัยและหาทางออกเรื่องนี้ เมื่อมองไปที่ความคาดหวังต้องทำความเข้าใจว่าการตัดสิน พิพากษาเพื่อลงโทษคนตามอธิปไตย จะใช้โดยศาล และหลายประเทศเขียนไว้เป็น รธน.ว่าอภัยโทษได้ โดยพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้น ซึ่งในประเทศสเปน ที่มีพระมหากษัตริย์เขียนทำนองว่า ไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวที่เป็นความผิดของนักการเมือง คอรัปชั่น กฎหมายจะห้ามไว้เลย แม้แต่ประเทศอื่นๆ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพราะพระมหากษัตริย์กับการเมืองจะแยกออกจากกัน

 หากสามารถอภัยโทษให้นักการเมืองได้ การเมืองจะสามารถบีบองค์ประมุขให้สามารถทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้ หรือตัดสินในทางที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ทำให้การใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศไม่เป็นธรรมทันที ดังนั้นหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่รับเรื่องการขออภัยโทษให้กับนักการเมือง และบางประเทศให้ความสำคัญเรื่องคอรัปชั่นมาก ยิ่งเป็นเรื่องคอรัปชั่นนักการเมืองยิ่งเป็นไปไม่ได้ และกรณีนี้ไม่ใช่นักการเมืองธรรมดาแต่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนใช้อิทธิพลกัดดันเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ดังนั้นฝ่ายที่พิจารณาหรือฝ่ายการเมืองต้องพิจารณาให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา ถ้าเราทำอย่างนี้แล้วเราจะเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ต้องขีดเส้นใต้การใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ เราจะไม่ใช่เพื่อคนหนึ่งคนใด จะใช้กับทุกคน

 ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า รมต.ให้นโยบายแล้วว่าอะไรคือความถูกต้อง อะไรเป็นไปได้ ไม่ได้ การที่มีคนมารวมอยู่จำนวนมากอาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ข้าราชการต้องยึดถือกฎหมายนิติรัฐเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การถวายฎีกาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การขออภัยโทษก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะนี้มีการนำสองเรื่องมาทำให้สับสน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์