มาร์คเชื่อมั่นศก.ไม่ตกอีกแล้ว ปลื้มลงทุน-ส่งออก-บริโภคส่งสัญญาณดีขึ้น

"อภิสิทธิ์"เชื่อมั่นศก.ไม่ตกต่ำกว่านี้แล้ว ชี้เริ่มทรงตัว ตัวเลขเปรียบเทียบเดือนต่อเดือนเริ่มเป็นบวก ดัชนีชี้วัดการบริโภค ลงทุน ส่งออก ส่งสัญญาณดีขึ้น เล็งโครงการบ้านมั่นคง ให้ชุมชนเช่า 30 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์"เมื่อเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม

มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเศรษฐกิจกับหลายฝ่าย คิดว่าเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดี นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้มแข็งเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในส่วนของไทยเมื่อไล่ดูตัวเลขรายเดือน สิ่งที่น่าดีใจ หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบเดือนต่อเดือนมีลักษณะติดลบมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดวิกฤตเมื่อปลายปี 2551 แต่มาในเดือนมิถุนายน ตัวเลขต่างๆ เปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมเริ่มเป็นบวก ทั้งดัชนีการบริโภค ดัชนีด้านการลงทุน การส่งออก ถ้าเทียบเดือนต่อเดือน ถือว่ากลับมาเป็นบวก ขณะที่การสำรวจความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภคและของธุรกิจมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนยิ่งขึ้น โดยดูจากตัวเลขการเติบโตต่างๆ การใช้กำลังการผลิต ตรงนี้เป็นผลดีกับเรื่องการสร้างงานด้วยเพราะก่อนหน้านี้วิตกกังวลกันมากว่าตัวเลขการจ้างงาน หรือปัญหาการว่างงาน จะเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก แต่ในขณะนี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไม่น่าจะตกต่ำไปมากกว่านี้ และเริ่มที่จะทรงตัวหรือเริ่มขยับตัวขึ้น

 
"ยืนยันว่าสิ่งที่ผมได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจที่จะติดลบใน 3 ไตรมาสแรก น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 ขณะนี้การประมาณการของหน่วยงานต่างๆ ก็ยังเป็นไปตามแนวทางนี้ จริงอยู่ที่ในช่วงกลางสัปดาห์ ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปีลง แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้คุยกับผมว่า ปัจจัยที่ปรับลงเพราะในไตรมาสแรก เศรษฐกิจติดลบมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยคาดการณ์ไว้ แต่ถ้าดูตัวเลขในแง่ของเดือนมิถุนายนแล้ว ก็ยังมีความมั่นใจว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะค่อยๆ ลดลงโดยลำดับ และจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4"นายกฯกล่าว
 

นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการเดียวกัน โดยเป็นการบันทึกเทประหว่างลงพื้นที่ชุมชนย่านบางบัว ซึ่งมีปัญหาความแออัดและการถูกไล่ที่ ยาเสพติด น้ำเสีย เพื่อติดตามโครงการบ้านมั่นคง

ซึ่งใช้งบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งว่า หลักคิดของรัฐบาลในเรื่องของที่อยู่อาศัยกับที่ทำกินในชนบทหรือในเมืองจะคล้ายกัน คือปัญหาในอดีตแก้ไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่องกฎหมายบางอย่าง ในเรื่องการเป็นเจ้าของ ทำอย่างไรพอที่จะไปเป็นเจ้าของบางครั้งมีการบุกรุกมาเป็นเจ้าของและขายและไปบุกรุกต่อ ฉะนั้น หลักที่รัฐบาลพยายามทำตอนนี้คือ แทนที่จะคิดอยู่ในกรอบเดิมๆว่าตกลงว่าจะเป็นของใคร เป็นของชาวบ้านหรือของรัฐ

 
"ในต่างจังหวัด ชาวบ้านเองมีเครือข่ายเรื่องที่ดิน ในกรุงเทพฯ ก็มีหลายชุมชนที่ทำเป็นสหกรณ์และรวมตัวกัน หน่วยงานรัฐจะเข้าไปรู้ว่าสภาพข้อเท็จจริงใครเป็นใคร ใครมาอยู่ 70-80 ปี ใครเพิ่งเข้ามา หรือใครแปลกปลอมเข้ามา พอเรียบร้อยแทนที่รัฐจะให้กรรมสิทธิ์เป็นคนๆ เราก็ให้มาที่ตัวชุมชน อย่างกรณีของบ้านมั่นคงเราจะทำเรื่องให้ชาวบ้านเช่าโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็เอาเงินมาและมาปล่อยเป็นสินเชื่อ ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 4 และให้สหกรณ์ของชาวบ้านเข้ามาจัดการ เช่าสัญญา 30 ปี อันนี้จะทำให้เกิดความมั่นคง มีความเป็นระบบ"นายกฯกล่าว
 
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในอดีตบ้านเอื้ออาทรปัญหาหลักนอกจากเรื่องรูปแบบแล้ว ที่ได้รับรายงานมาคือ

หลายพื้นที่ต้องเดินทางไปไกลและที่บอกว่าจองกันไว้ เอาเข้าจริงจองไม่จริง เข้าไปอยู่ไม่จริง ซึ่งกำลังสะสางแก้ปัญหาให้การเคหะแห่งชาติอยู่ แต่บ้านมั่นคงเป็นเรื่องที่ที่มีอยู่แล้ว ชาวบ้านอยู่ๆแล้ว แต่เข้ามาจัดระบบ จัดระเบียบ จัดกติกา หาสินเชื่อ หาทุน โดยให้ชาวบ้านเป็นคนทำ นอกจากเรื่องสวัสดิการจะเป็นเรื่องถัดไปที่รัฐบาลกำลังจะเร่งไปดู โดยจะสนับสนุนเรื่องสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านทำกันเองอยู่แล้ว โดยรัฐบาลจะสมทบด้วย เพื่อเป็นการจูงใจให้คนเริ่มมีการออมมีสวัสดิการและไปสู่ระบบ ต่อไปอยากให้เรียกว่าบำนาญประชาชน

 
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 กรกฎาคม จะเดินทางไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง

เกี่ยวกับการจัดทำมาตรการลงทุนภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากภายใต้การลงทุนตามแผนนี้ มีการนำเม็ดเงินลงทุนจากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 4 แสนล้านบาท มาใช้ด้วย ซึ่งที่มาของการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้มาจากความต้องการให้เงินที่รวดเร็ว โครงการที่เข้าข่ายใช้เงินก็จะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนว่า ภายในวันที่ 1 ตุลาคม หากโครงการใดยังไม่ได้เซ็นสัญญาจะถูกตัดสิทธิทันที 

 
"สิ่งที่จะต้องเข้าไปดูก็คือ ราคาโครงการต่าง ๆ รวมถึงวิธีการประมูลงานโครงการ ที่ต้องมีความรวดเร็ว การดำเนินงานประมูลในลักษณะอี-ออคชั่น จะสามารถปรับปรุงอะไรให้มีความรวดเร็วได้หรือไม่ หากจะเปลี่ยนมาใช้การประมูลแบบเดิม จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปดู เพื่อที่จะได้ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต่างนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด"นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์