เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จากการพูดคุยและดูข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์
เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้มีกลไกของรัฐสภาเกิดขึ้น เพื่อให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไปสู่การวิเคราะห์ และดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดในที่ประชุมการรับฟังข้อเสนอแนะของกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่าทางฝ่ายรัฐบาลจะนำข้อเสนอไปพูดคุยกับคณะรัฐมนตรี
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คงต้องหารือกับ ส.ส.โดยเฉพาะในรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงฝ่ายค้านด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร
ฉะนั้นในอนาคตจะเกิดกลไกในรูปของคณะทำงานเพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาสู่การศึกษาและอาจจะรับฟังความเห็นของประชาชนเพิ่มเติม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ปรารภในที่ประชุมตรงกันกับที่ฝ่ายกรรมการสมานฉันท์รายงานว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยเห็นได้ชัดก่อนที่จะเดินเข้าห้องมารับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ มีกลุ่ม 40 สว. มายื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วย ในเวลาที่บางฝ่ายแสดงการสนับสนุนชัดเจนและเปิดเผย
“ดังนั้นกลไกที่จะเกิดขึ้นในรัฐสภาก็ดี การหารือร่วมกันระหว่าง ครม. หรือ ส.ส.ในสภา เป็นกลไกที่มีความจำเป็น นายกรัฐมนตรี มีแนวว่าน่าจะต้องถึงขั้นรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย ส่วนจะถึงขั้นทำประชามติหรือไม่นั้นน่าจะให้กลไกชุดนี้มีโอกาสที่จะพูดคุยกันก่อน และในส่วนของ ครม.น่าจะหยิบเรื่องนี้มาคุยกันในวันอังคารที่ 21 ก.ค.นี้ ว่าจะเอาอย่างไร” นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องให้แต่ละพรรคการเมืองนำข้อเสนอไปศึกษากันเองก่อน ที่จะนัดแกนนำพรรคร่วมมาหารืออีกครั้ง
ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯจะนัดคุยกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสภาและรัฐบาลจะต้องทำพร้อมๆ กัน โดยในส่วนของรัฐบาลอยู่ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ จะให้กลไกสภาฯเป็นตัวหลัก รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า จากข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่เสนอมา 6 ข้อ ถือว่าละเอียดอ่อนพอสมควร
หากคิดในมุมฝ่ายการเมืองจะเห็นว่าทำให้งานของฝ่ายการเมืองยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น เช่น ส.ส.ดำรงตำแหน่งได้ หรือ กรณีมุมของพรรคการเมืองอาจจะคิดว่าการไปแก้เรื่องยุบพรรคให้ผิดเฉพาะตัวอาจจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นหรือการแก้มาตรา 190 มองฝ่ายการเมืองอาจจะสะดวกกับการทำงานเหล่านี้เป็นต้น แต่หากมองจากมุมของประชาชนอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนไม่ได้อะไร เป็นเรื่องการแก้ไขเฉพาะนักการเมือง แต่คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีข้อเสนอเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีข้อเสนออื่น เช่น ข้อเสนอนำไปสู่ความสมานฉันท์ เรื่องลดความขัดแย้ง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องสมัชชาทางอากาศ ซึ่งช่อง 11 เคยสนับสนุนไปแล้ว ข้อเสนอเรื่องการทำสมัชชา 4 ภูมิภาค เพื่อนำคนที่มีความเห็นต่างมาพูดคุยในเวทีเดียวกัน
เรื่องการให้แต่ละฝ่ายลดทิฐิความขัดแย้งตอบโต้กันทางการเมือง แม้กระทั่งข้อเสนอไปถึงสื่อมวลชนที่ให้เผยแพร่พื้นที่ข่าวที่ดีมากขึ้น คิดว่าข้อเสนอทั้งหมดที่มีการเสนอมามองได้หลายมุม บางมุมสามารถปฏิบัติได้เลย ส่วนของรัฐธรรมนูญยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก และเชื่อว่าในสังคมมีความเห็นที่ก้ำกึ่งกัน จึงต้องเป็นบทบาทของรัฐสภาที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร หากตัดสินใจทำประชามติ ไม่มีทางปฏิเสธ และเชื่อว่ามาถึงจุดนี้ฝ่ายค้านไม่มีทางเลือกต้องเดินต่อไป