คมชัดลึก :สวนดุสิตโพลพบ ประชาชนเชื่อกระบวนการยุติธรรมของไทยมี 2 มาตรฐาน และไม่เชื่อมั่นว่า การดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ - นปช. เป็นธรรมและโปร่งใส ชี้การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,104 คน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 6 - 9 กรกฎาคม 2552 พบว่า ประชาชนนึกถึงศาล เป็นอันดับแรก เมื่อถามถึงกระบวนการยุติธรรม รองลงมา คือ กระทรวงยุติธรรม ตำรวจ อัยการ และกรมราชทัณฑ์ เมื่อสอบถามถึง ความเชื่อถือ/เชื่อมั่นของประชาชน ต่อหน่วยงานยุติธรรม พบว่า ประชาชนร้อยละ 39.68 เชื่อถือศาล ขณะที่ ร้อยละ 26.63 เชื่อถืออัยการ ร้อยละ 18.81 เชื่อถือกรมราชทัณฑ์ และร้อยละ 14.88 เชื่อถือตำรวจ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินคดี กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 41.86 ไม่เชื่อมั่นว่าจะมีการตัดสินด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในคณะทำงานที่เข้ามาร่วมพิจารณาตัดสินคดี, อาจถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล ฯลฯ ขณะที่ ร้อยละ 30.23 ไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่า ขึ้นอยู่กับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้มาและข้อกล่าวหาในการดำเนินการคดี มีเพียง ร้อยละ 27.91 เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และถูกจับตามองอย่างมาก , การตัดสินต่าง ๆ เป็นไปตามขั้นตอน, กระบวนการยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ฯลฯ ส่วนความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีกับแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) จะมีการตัดสินด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสหรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 36.88 ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติและใช้ 2 มาตรฐานมาตัดสิน ขณะที่ร้อยละ 32.57 ไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่า ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของข้อกล่าวหา รวมถึงหลักฐานทางพยานและวัตถุ ฯลฯ และร้อยละ 30.55 เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการยุติธรรมมีกฎหมาย ระเบียบคำสั่งข้อบังคับในการปฏิบัติที่ชัดเจน ,การพิจารณาคดีนี้เป็นบทพิสูจน์การทำงานของศาลได้เป็นอย่างดี ฯลฯ สำหรับความคิดเห็นต่อกรณีที่มีการกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมี 2 มาตรฐาน ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 58.69 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนอาจมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ,ควรใช้การตัดสินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน , ควรว่าไปตามข้อเท็จจริง ผิดคือผิด ถูกคือถูก ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 26.09 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ควรมั่นใจและเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม , ควรรับฟังเหตุผล และคำชี้แจงก่อนด่วนสรุป จะดีกว่า ฯลฯ และร้อยละ 15.22 ไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร , ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นการตัดสินโดยนำวิธีนี้มาใช้มาก่อน ฯลฯ เมื่อถามว่า รัฐบาลควรเข้ามาดูแลคดีของทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 54.55 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า แสดงถึงความไม่โปร่งใส , ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินคดีเองอย่างเป็นอิสระ , การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง , อาจส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 30.41 เห็นด้วย โดยให้เผตุลว่า จะได้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินคดี , เป็นการตรวจสอบการทำงานอีกทางหนึ่ง , รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ ของบ้านเมืองอยู่แล้ว ฯลฯ และร้อยละ 15.04 ไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯอภิสิทธิ์ว่าจะทำอย่างไร , ควรรอฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้างด้วย ฯลฯ นอกจากนี้ ประชาชนยังมีข้อเสนอแนะที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยดีขึ้น ได้แก่ สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมให้มีความตระหนักและเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ สร้างกลไกลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง บังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา และปรับปรุงรายได้ สวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรมให้ดีขึ้น