คมชัดลึก :รมว.คลัง แจงความจำเป็นที่ต้องออกพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ด้านวิปรัฐ-ฝ่ายค้าน ซักซ้อมความเข้าใจพร้อมตกลงแยกพิจารณา“พ.ร.ก.-ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้าน” ด้าน“ชินวรณ์” ย้ำ ห้ามนอกประเด็น เน้น ให้อภิปรายและลงมติพ.ร.ก.ให้จบในวันเดียว
(15มิ.ย.) เวลา 10.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) พิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 เริ่มด้วยการชี้แจงความจำเป็นการออกร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวของนายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายกรณ์ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย โดยทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยหดตัวลงรวดเร็ว ประกอบกับ ผลกระทบจากวิกฤตทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำรุนแรง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี หดตัวลง 6.2 % ในไตรมาส 4 ปี 2551 และ 7.1 % ในไตรมาสแรกของปีนี้
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ลดลง จากการคาดการณ์ว่า สิ้นปีงบประมาณ จะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2 แสน8 หมื่นล้านบาท
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลงมาก เพราะนักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางมาประเทศไทย หากไม่ดำเนินมาตรการใดอย่างทันท่วงที จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน นายกรณ์ กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีปัจจัยในประเทศอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง 4-5 % จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินมาตรการป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามเป็นลูกโซ่ ด้วยการจัดทำโครงการ เพื่อให้เงินกระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ให้ จีดีพี เข้าสู่ภาวะปกติ จึงกำหนดมาตรการไทยเข้มแข็ง ปี 2552-2555 เน้นจัดการลงทุนโครงการสำคัญที่จำเป็นและโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาประชากร ก่อให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ กว่า 6,000 โครงการ มูลค่า ล้าน 4 แสน 3 หมื่นล้านบาท ถ้าบรรลุตามวัตถุประสงค์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 1.5 % ต่อปี และเกิดการจ้างงานปีละ 4-5 แสนคน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดตัวเลขงบประมาณ ปี 2553 โดยขาดดุลลงอีก 2 แสนล้านบาท เหลือ ล้าน 7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อำนาจการกู้เงินของรัฐบาลมีข้อจำกัดบางประการ ในส่วนเพดานการกู้เงิน
ซึ่งต้องไม่เกิน 20 % ของงบประมาณ ขณะที่รัฐบาลต้องหาเงินลงทุนอีก 6-7 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงความเร่งด่วน ฉุกเฉิน และต่อเนื่อง จึงตราเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เป็นเงินบาทกู้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2553 ที่ต้องเสนอสภาฯ เพื่อทราบก่อนดำเนินการ และจะออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน อีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีเงินทุนเพียงพอแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ฐานะการคลังมีประสิทธิภาพในระยะยาว จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากภาวะถดถอย กลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ปี 2553 และกลับสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ปี 2554 โดยยืนยัน รัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายด้วยความโปร่งใส