มติชน
บทนำมติชน
หลังจากใช้เวลาไปหลายชั่วโมงในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สุดท้ายก็ได้รายชื่อ 22 คน เป็นคณะกรรมการตรวจสอบประวัติและความประพฤติผู้ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 10 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้สรรหาแล้วส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณาเพื่อนำไปสู่การคัดเลือกไว้ครึ่งหนึ่ง นั่นคือจาก 10 คน เหลือ 5 คน สำหรับการกำหนดวันให้คณะกรรมาธิการไปตรวจสอบประวัติที่ประชุมวุฒิสภาลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้ถือเอา วัน
ทั้งการอภิปรายของ ส.ว.หลายต่อหลายคนและมาได้ข้อยุติเอาที่ วันนั้น ได้อ้างถึงความละเอียดรอบคอบในการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จะต้องตรวจสอบทรัพย์สินและความเป็นกลางของผู้ได้รับการสรรหา 10 คน จะทำแบบลวกๆ เร่งรีบไม่ได้เพราะอาจเกิดความบกพร่องผิดพลาดและสุดท้ายก็ได้คนที่ไม่เหมาะสมไปเป็น กกต.
ฟังดูก็น่าจะมีเหตุมีผลและมีความชอบธรรม แต่รักษาการ ส.ว.ที่มาร่วมประชุมกัน 157 กว่าคน จะต้องช่วยกันตอบว่าแล้วอีก 30 คน ซึ่งยังกินเงินเดือนอยู่ไปอยู่ที่ไหน เหตุใดจึงไม่มาประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญนี้ อย่างนี้ถือว่าไม่รับผิดชอบได้หรือไม่ และควรจะกระทำอย่างไรกับบรรดารักษาการ ส.ว.เหล่านั้น
ประการต่อมา รักษาการ ส.ว. 187 คน ที่เหลืออยู่ย่อมประจักษ์แก่ใจตัวเองดีว่า ขณะนี้ประเทศรอการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องการให้มีขึ้นโดยไม่ชักช้าจนเกินไป หากถือเอาพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็จะมีผลในวันที่ 24 สิงหาคม และเลือกตั้งวันที่ 15 ตุลาคม หรือหากจำเป็นต้องเลื่อนออกไปด้วยความจำเป็นจริงๆ ก็ควรให้ กกต. 5 คน เป็นฝ่ายกำหนดเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
เมื่อประจักษ์เช่นนี้แล้ว สังคมจะไม่มีเงื่อนไขใดหรือข้อแม้ ทั้งไม่วิตกกังวลใดๆ หากรักษาการ ส.ว.มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ นั่นคือ มีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อพรรคการเมืองใด หรือที่เรียกว่ามีความเป็นไท ประพฤติปฏิบัติให้สมกับการเป็นผู้มีวุฒิภาวะสูง ไม่กระทำอะไรแบบเด็กๆ ที่ขาดสำนึก รับผิดชอบ แต่โดยข้อเท็จจริงวุฒิสภาชุดนี้เคยได้รับฉายาว่าเป็น "สภาทาส" ฉายานี้ยังคงหลอนหลอกชาวบ้านอยู่จนถึงวันนี้ ดังนั้น การทอดเวลาออกไปค่อนข้างจะนานนั้นจะมีหลักประกันอะไรว่าการลงมติของรักษาการ ส.ว.จะไม่มีการบล็อคโหวต หรือบล็อคไม่โหวตกับคนบางคนที่ได้รับการสรรหา
ถ้ารักษาการ ส.ว. 187 คน ที่เหลืออยู่มีวุฒิภาวะอันสมควรได้รับความไว้วางใจ การเลือกบุคคลเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จาก 18 คน ให้เหลือ 9 คน ก็ควรจะดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเฟ้นเอาผู้ที่ดีจริงๆ เข้ามาทำหน้าที่สู้รบปรบมือกับปัญหาการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่หมักหมมเรื้อรังมาช้านาน จนกลายเป็น "มะเร็งร้าย" ของสังคมให้ประสบผลสำเร็จ อย่าได้ทำให้สังคมต้องวิพากษ์วิจารณ์กันอีกว่าวุฒิสภาสร้างผลงานชิ้นโบว์ดำก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง ไม่เช่นนั้น วุฒิสภาก็จะหมดความเชื่อถือจากสังคม เป็นความอัปยศที่ฝากไว้เป็นชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นการสรรหาก็เป็นได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรที่รักษาการ ส.ว.ส่วนใหญ่ซึ่งมีคนมาสั่งได้ให้เลือกใครหรือไม่เลือกใครจะใช้เวลาไปอีกหลายวันสำหรับการตรวจสอบประวัติฯผู้ได้รับการสรรหาเป็น กกต.ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว อีกประการหนึ่ง กกต.ชุดใหม่ก็มีเวลาเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 2 ปี เท่านั้น ไม่ใช่ 7 ปี ตามเทอมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
มีสำนวนไทยบอกว่า "ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ" นั่นหมายถึง การไม่รีบร้อนอะไรลงไปเพราะอาจเกิดผิดพลาดขึ้นได้ สู้ใช้เวลานานๆ จะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่รักษาการ ส.ว.ที่จะยึดสำนวนนี้มาใช้ในการกำหนดวันตรวจสอบประวัติฯผู้ได้รับการสรรหาเป็น กกต.จะต้องรับรู้ว่าบ้านเมืองตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต ขาดสภาผู้แทนราษฎรมาหลายเดือนแล้ว รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการ สำหรับ ส.ว.รักษาการชุดนี้ก็รับเงินเดือนและค่าตอบแทนโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติอะไรให้คุ้มกับเงินภาษีอากรของประชาชนที่เสียให้ ส.ว.ชุดใหม่ซึ่งเลือกตั้งกันไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2549 ก็ยังประกาศรับรองโดย กกต. (ชุดเก่า) ไม่ครบ 200 คน ก็กินเงินเดือนไปพร้อมๆ กันโดยไม่ได้ปฏิบัติงาน กกต.ชุดใหม่จึงควรจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อมาสะสางงานต่างๆ ดังนั้น รักษาการ ส.ว.จึงไม่ควรปิดบังซ่อนเร้นจิตใจส่วนลึกที่ต้องการให้ตัวเองอยู่รักษาการเพื่อกินเงินเดือนไปเปล่าๆ แต่ปากก็อ้างว่าต้องการความรอบคอบ